รีเซต

นักวิจัยพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหายใจผ่านลำไส้ อาจปูทางสู่การรักษาภาวะขาดออกซิเจนในมนุษย์

นักวิจัยพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหายใจผ่านลำไส้ อาจปูทางสู่การรักษาภาวะขาดออกซิเจนในมนุษย์
TNN ช่อง16
23 พฤษภาคม 2568 ( 13:46 )
11

การศึกษาล่าสุดเผยให้เห็นว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดสามารถดูดซับออกซิเจนผ่านทางลำไส้ ซึ่งอาจนำไปสู่แนวทางใหม่ในการรักษาภาวะขาดออกซิเจนในมนุษย์ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถใช้เครื่องช่วยหายใจตามปกติได้

การวิจัยเกิดขึ้นจากดร.ทาคาโนริ ทาเคเบะ ต้องการรักษาผู้ป่วย และบิดาป่วยเป็นโรคปอด โดยก่อนการทดลองนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกทราบมาก่อนหน้านี้แล้วว่าสัตว์จำพวก ปลาดุก แตงกวาทะเล หรือแมงมุม สามารถหายใจผ่านลำไส้ หรือทวารหนักได้ในสภาพพื้นที่ออกซิเจนน้อย ดร.ทาคาโนริ ทาเคเบะ จึงเกิดคำถามว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนำทำแบบนั้นได้หรือไม่ ?

ทีมนักวิจัยนำโดย ดร.ทาคาโนริ ทาเคเบะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารจากโรงพยาบาลเด็กซินซินแนติ ได้ทดลองส่งออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายของหนูและหมูผ่านทางทวารหนัก เพื่อศึกษาว่าสามารถช่วยให้สัตว์เหล่านี้ฟื้นจากภาวะขาดออกซิเจนได้หรือไม่

การทดลองผ่านทวารหนักของหนูและหมู


ในการทดลองกับหนู นักวิจัยได้แบ่งออกเป็นกลุ่ม โดยบางกลุ่มได้รับการขัดลำไส้เพื่อทำให้เยื่อบุผิวบางลง เพิ่มการดูดซึมออกซิเจน จากนั้นพวกเขาฉีดออกซิเจนบริสุทธิ์เข้าไปในทวารหนักของหนู ผลการทดลองพบว่า หนูกลุ่มที่ได้รับการขัดลำไส้และฉีดออกซิเจนสามารถรอดชีวิตได้ในอัตรา 75% ตลอดระยะเวลา 1 ชั่วโมงของการทดลอง ในขณะที่หนูที่ไม่ได้รับออกซิเจนหรือไม่ได้รับการขัดลำไส้มีอัตราการอยู่รอดต่ำกว่ามาก

เพื่อหลีกเลี่ยงขั้นตอนการขัดลำไส้ที่ซับซ้อนและอาจเป็นอันตราย ทีมวิจัยจึงเปลี่ยนมาใช้ของเหลวที่เรียกว่าเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน ซึ่งสามารถเก็บออกซิเจนในปริมาณมากและยังช่วยทำความสะอาดลำไส้ได้ในตัว เมื่อนำของเหลวดังกล่าวมาใช้กับหนูและหมูที่อยู่ในภาวะขาดออกซิเจน พบว่าระดับออกซิเจนในเลือดของสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในหมู ระดับออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ทำให้อาการขาดออกซิเจนบรรเทาลง ผิวหนังและปลายแขนขากลับคืนสู่สีปกติและอบอุ่นภายในไม่กี่นาที

แนวทางในการรักษาโรคของมนุษย์


ดร.ทาเคเบะระบุว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถดูดซับออกซิเจนผ่านลำไส้ได้ และเขาเชื่อว่าแนวทางนี้อาจสามารถนำไปใช้ช่วยชีวิตมนุษย์ได้ในอนาคต โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต เช่น การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งอาจขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจแบบมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายรายที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้ยังมีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิธีการใหม่ดังกล่าว

ดร.มาร์คัส บอสมันน์ แพทย์โรคปอดจากมหาวิทยาลัยบอสตันแสดงความเห็นว่า "วิธีนี้ควรถูกนำมาเปรียบเทียบกับการรักษาทางเดินหายใจแบบดั้งเดิม เพื่อดูว่าสามารถทดแทนกันได้จริงหรือไม่"

ขณะที่ ดร.ฌอน โคลแกน จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ ระบุว่า "แม้แนวคิดนี้จะฟังดูแปลกประหลาด แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลแล้วก็ถือว่าน่าสนใจ และเห็นว่าจำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติม"

ดร.เคเล็บ เคลลี จากมหาวิทยาลัย Yale School of Medicine ผู้ตรวจสอบบทความวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า "แม้ว่าจะดูมีศักยภาพ แต่การใช้วิธีดังกล่าวในมนุษย์จะต้องผ่านการทดลองอย่างรอบคอบเพื่อพิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิภาพก่อนใช้งานจริง"

แม้ว่าวิธีการระบายอากาศผ่านทวารหนักจะยังอยู่ในขั้นการทดลองกับสัตว์ แต่การค้นพบว่าลำไส้ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถดูดซับออกซิเจนได้ อาจเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวิธีรักษาผู้ป่วยภาวะขาดออกซิเจนในอนาคต โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ ทั้งนี้ยังต้องอาศัยการวิจัยเพิ่มเติมก่อนที่จะสามารถนำไปใช้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

งานวิจัยเรื่องการระบายอากาศผ่านทางลำไส้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Med เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2021 โดยมีชื่อบทความว่า “Mammalian enteral ventilation ameliorates respiratory failure”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง