รีเซต

09.00 INDEX การเผชิญ มวลชน ยุคดิจิทัล ของทหาร ยุค 'สงครามเย็น'

09.00 INDEX การเผชิญ มวลชน ยุคดิจิทัล ของทหาร ยุค 'สงครามเย็น'
มติชน
20 ตุลาคม 2563 ( 07:42 )
84

พลันที่ประสบเข้ากับ การปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” ในเดือนกรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตามมาด้วยการปรากฏขึ้นของ ”นักเรียนเลว” ในเดือนสิงหาคม ณ กระทรวงศึกษาธิการ

แทนที่จะสัมผัสได้ใน “ความแปลกใหม่” แทนที่จะรับรู้กับ “นวัตกรรม” ของการชุมนุมในยุคแห่ง “ดิจิทัล”

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ล้วนดำรงอยู่ใน “โลกเก่า” โลกแห่งยุค “สงครามเย็น”

ขณะเดียวกัน ไม่ว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล แห่งพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่านายวราวุธ ศิลปอาชา แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา

ล้วนดำรงอยู่ในปลักตมแห่งการเมือง “เก่า” การเมืองแห่งเสื้อสี การแย่งชิงอำนาจจากยุคก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อันเต็มด้วยการฉกฉวยโอกาสและความได้เปรียบทางการเมือง

สายตาที่มองต่อ ”เยาวชนปลดแอก” จึงไม่เปลี่ยน มองไม่เห็นรูป โฉมใหม่แห่งการปรากฏขึ้นของ ”นักเรียนเลว”

 

กระบวนการในการบริหารจัดการกับปัญหานับแต่การปรากฏขึ้นของการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนกรกฎาคม จึงเป็นกระบวนการบริหารจัดการต่อม็อบในยุคแห่งสงครามเย็น

พยายามมองไปยังคนที่อยู่ “เบื้องหลัง” พยายามที่จะเสาะหาสิ่งที่เรียกว่า “ท่อน้ำเลี้ยง”

ความเคยชินเก่าจึงมองเห็นแต่เส้นสายของนายทักษิณ ชินวัตร ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประสานเข้ากับเส้นสายของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล

มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในทาง “ความคิด” ของคนรุ่นใหม่ การตอบโต้ต่อการเคลื่อนไหวจึงดำเนินไปในลักษณะเตะถ่วง ซื้อเวลา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์วันที่ 24 กันยายน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และลงมือสลายม็อบอย่างรุนแรงในวันที่ 16 ตุลาคม

 

แม้เผชิญกับกระแสต้านด้วยความเกรี้ยวกราดจาก ”ผู้ชุมนุม” ไม่ว่าจะเป็นที่ห้าแยกลาดพร้าว หรือวงเวียนใหญ่  ก็ยังไม่รู้ตัว

ต่อเมื่อเผชิญกับสถานการณ์แยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ การขับเคลื่อนที่บางนา-ตราดนั่นแหละจึงเริ่มตื่นตระหนก

เป็นความตื่นตระหนกในท่วงทำนอง ”เชื่องช้า” อย่างยิ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง