รีเซต

พบสารแห่งมีชีวิตที่ขอบนอกกาแล็กซี หรือนี่คือสัญญาณว่ามีสิ่งชีวิตนอกโลก ?

พบสารแห่งมีชีวิตที่ขอบนอกกาแล็กซี หรือนี่คือสัญญาณว่ามีสิ่งชีวิตนอกโลก ?
TNN ช่อง16
9 ธันวาคม 2566 ( 12:50 )
110
พบสารแห่งมีชีวิตที่ขอบนอกกาแล็กซี หรือนี่คือสัญญาณว่ามีสิ่งชีวิตนอกโลก ?

สิ่งมีชีวิตบนโลกต้องการแร่ธาตุ 6 ชนิด ได้แก่ ไนโตรเจน คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ฟอสฟอรัส และซัลเฟอร์ โดยแร่ธาตุเหล่านี้สามารถพบได้ในจักรวาล แต่มาจากการเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ซึ่งสร้างสารเหล่านี้ไม่มากนัก แต่ว่านักวิจัยด้านดาราศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา กลับพบว่ามีฟอสฟอรัส ในบริเวณขอบกาแล็กซีทางช้างเผือก บริเวณที่ไม่ควรมีฟอสฟอรัสอยู่


การค้นพบสารแห่งชีวิตที่ขอบนอกกาแล็กซี

เหตุการณ์ดังกล่าวค้นพบโดยทีมนักศึกษาปริญญาเอกที่ร่วมกันทำงานวิจัยโดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 12 เมตร และกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 30 เมตร ใกล้กรานาดา (Granada) ในประเทศสเปน ทำการวิเคราะห์ภาพถ่ายและพบเจอสารที่ชื่อว่า เอ็กซีฟอสฟอรัส (excephosphorus) สารประกอบฟอสฟอรัสประเภทหนึ่ง ในส่วนที่เรียกว่าขอบนอกของกาแล็กซีทางช้างเผือก (outskirts of the Milky Way galaxy) 


ลูซี่ ซิวริส (Lucy Ziurys) ศาสตราจารย์ด้านชีวเคมี (Biochemistry) และดาราศาสตร์ (Astronomy) จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) เล่าว่าปกติสารฟอสฟอรัสจะเกิดขึ้นจากกระบวนการฟิวชัน (Fusion - หลอมรวม) ภายในดาวขนาดยักษ์ หรือการระเบิดของดาวฤกษ์มวลมหาศาลที่มากกว่าดวงอาทิตย์อย่างน้อย 20 เท่า เมื่อสิ้นอายุขัย ซึ่งเรียกว่าซูเปอร์โนวา (Supernova) 


ที่มาสารแห่งชีวิตที่ขอบนอกกาแล็กซี

การสร้างสารฟอสฟอรัสในส่วนขอบนอกของทางช้างเผือกจึงไม่ควรเกิดขึ้น เพราะเป็นบริเวณที่ไม่มีเงื่อนไขทั้งสองอย่าง ดังนั้น ทางทีมนักวิจัยจึงตั้งทฤษฎีว่า การค้นพบในครั้งนี้อาจเกิดจากสะสมอนุภาคที่เรียกว่านิวตรอน (Neutron) ระหว่างการระเบิดของดาวขนาดเล็กและขนาดกลางที่สิ้นอายุขัย ทำให้นิวตรอนเหล่านี้ไปรวมกับไฮโดรเจน และฮีเลียมที่กำลังเผาไหม้ ก่อนไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของสารซิลิกอน (สารในเม็ดทราย) จนกลายเป็นฟอสฟอรัส


แต่ไม่ว่าฟอสฟอรัสจะเกิดจากอะไร แต่การค้นพบฟอสฟอรัสในปริมาณที่มีนัยสำคัญต่อการศึกษาในบริเวณที่ไม่ควรมีอยู่ ทำให้เกิดความรู้ใหม่เกี่ยวกับอวกาศ ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาสิ่งมีชีวิตนอกโลก เพราะฟอสฟอรัสเป็นหนึ่งใน 6 ธาตุ ที่สำคัญกับการสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมา และเพิ่มความคืบหน้าในการค้นหาดาวเคราะห์ที่มีสภาพเหมาะสมหรือใกล้เคียงกับโลกเพื่อการดำรงชีวิตอีกด้วย


โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการชื่อดังอย่างเนเชอร์ (Nature) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทีมนักศึกษาปริญญาเอกเชื่อว่างานในครั้งนี้จะทำให้การค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกได้รับการพิจารณาอีกครั้ง หลังจากที่ที่เดิมเชื่อว่าฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่ขาดแคลนในกาแล็กซีจนหัวข้อวิจัยด้านนี้ไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร


ที่มาข้อมูล University of Arizona

ที่มารูปภาพ Wikimedia Commons


ข่าวที่เกี่ยวข้อง