เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 : ใครชนะในศึกดีเบตยกแรก
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 : ใครชนะในศึกดีเบตยกแรก - BBCไทย
หากการโต้วาทีการเมืองไม่ต่างจากการแข่งปาอาหารเข้าใส่กันแล้วละก็ ผู้ชนะก็ควรจะเป็นฝ่ายที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนน้อยที่สุด
และในการโต้วาทีครั้งแรกของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 เมื่อคืนวันอังคารที่ 29 ก.ย. นายโจ ไบเดน ดูจะเป็นบุคคลคนนั้น หากเพียงว่าเป้าหมายหลักของเขาคือการพิสูจน์ให้ชาวอเมริกันเห็นว่าเขาสามารถเผชิญแรงกดดัน ไม่เพลี่ยงพล้ำเพียงเพราะอายุขัยที่สูงกว่า นายไบเดน ต้องแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถสงบนิ่งอยู่ได้
นายไบเดนเกือบจะทำได้ตามนั้น แม้อย่างน้อยที่สุดส่วนหนึ่งเป็นเพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแสดงท่าทีข่มขู่และขัดจังหวะการโต้วาทีอยู่ตลอดเวลา แทบจะไม่เปิดโอกาสให้อดีตประธานาธิบดีไบเดน ได้พูดอะไรที่สร้างความเสียหายให้กับนายทรัมป์ได้เลย
- เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 : สำรวจคะแนนนิยม ทรัมป์-ไบเดน ใครมาแรง
- โจ ไบเดน อดีตรอง ปธน. สมัยโอบามา จะเอาชนะทรัมป์ และเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนต่อไปได้ไหม
- 'ซูเปอร์ ทิวส์เดย์' สำคัญอย่างไร
สำหรับนายทรัมป์เขาต้องการใช้เวทีนี้ดึงคะแนนความนิยมที่ร่วงหล่นอย่างต่อเนื่องจากปัญหาสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ ที่รุมเร้าสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนเวทีโต้วาทียกแรกนี้ ยังไม่อาจปรับเปลี่ยนพลวัตของศึกเลือกตั้งหนนี้ หรือเปลี่ยนใจผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนที่ 1 ใน 10 ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร
หุบปากได้ไหม?
เป็นที่ชัดเจนว่าการ "โต้วาที" ครั้งนี้จะดำเนินไปอย่างไร เป้าหมายของนายทรัมป์คือเขย่านายไบเดนให้สั่นคลอน และเขาวางแผนมาคอยขัดจังหวะนายไบเดนอยู่ตลอดเวลา สถานีโทรทัศน์ซีบีเอส นับได้ว่านายไบเดนถูกขัดจังหวะ 73 ครั้ง
และนั่นก็ทำให้เกิดการโต้เถียงกันไปมาจนวุ่นวาย รวมทั้งการที่นายทรัมป์ตั้งคำถามเรื่องเชาว์ปัญญาของนายไบเดน ส่วนนายไบเดนเองก็เรียกนายทรัมป์ว่าเป็นตัวตลก บอกให้เงียบเสีย และตั้งคำถามอย่างเกรี้ยวกราดว่า "นายจะหุบปากได้ไหม?"
หลายหนหลายครั้งที่นายทรัมป์เองจิกกัดนายไบเดน ที่ได้แต่หัวเราะและส่ายหัว
เมื่อถึงคราวที่คริส วอลเลซ ผู้ดำเนินรายการ แจ้งหัวข้อที่จะพูดต่อไปว่าเป็นเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และผู้โต้วาทีมีเวลาคนละสองนาทีครึ่งที่จะตอบคำถามเรื่องนี้ นายไบเดน ก็โพล่งขึ้นมาทันทีว่า "โชคดีก็แล้วกัน"
ไบเดนตั้งใจเล่นกับกล้อง
แน่นอนว่าเรื่องโรคโควิด-19 จะเป็นประเด็นท้าทายสำหรับนายทรัมป์ และถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในช่วงต้น ๆ ของการโต้วาที ที่เขาต้องแก้ต่างเรื่องที่ปล่อยให้คนอเมริกันกว่า 2 แสนคนต้องเสียชีวิต นายทรัมป์บอกว่าสิ่งที่เขาทำช่วยป้องกันไม่ให้คนต้องล้มตายมากไปกว่านี้ และชี้ด้วยว่าหากเป็นนายไบเดนละก็ สถานการณ์คงจะย่ำแย่กว่านี้
นายไบเดนโต้กลับด้วยการพูดตรงกับกล้องถามผู้ชมทางบ้านว่าเชื่อในสิ่งที่นายทรัมป์พูดหรือ (โพลล์หลายสำนักชี้ว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่พอใจกับการจัดการเรื่องนี้ของนายทรัมป์)
"ผู้คนล้มตายกันไปจำนวนมาก และยังมีอีกมากที่จะต้องตาย เว้นเสียแต่ว่าเขาจะทำอะไรที่ฉลาดกว่านี้ รวดเร็วกว่านี้" นายไบเดน ระบุ
เชื้อชาติ ลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ และชานเมืองอเมริกัน
การโต้วาทีที่หยิบเอาประเด็นเรื่องเชื้อชาติและความรุนแรงที่เกิดขึ้นมารวมอยู่ด้วยกันนี้ นำไปสู่การตอบโต้กันไปมาอย่างเผ็ดร้อน และชัดเจนว่านายไบเดนสะดวกใจที่จะพูดถึงเรื่องนี้มากกว่านายทรัมป์
นายไบเดน กล่าวหานายทรัมป์ว่าปลุกปลั่นให้เกิดความแตกแยกทางเชื้อชาติ ขณะที่นายทรัมป์อัดกลับเรื่องที่นายไบเดนเคยสนับสนุนร่างกฎหมายปราบปรามการก่ออาชญากรรมในปี 1993 ซึ่งนำไปสู่การจับกุมคุมขังคนผิวดำมากขึ้น
ส่วนนายทรัมป์นั้น เมื่อถูกขอให้ประณามการก่อความรุนแรงของกลุ่มที่นิยมลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ และผู้ที่ใช้กำลัง เขาบอกว่าจะประณามแต่สุดท้ายก็ไม่ได้เอ่ยออกมา
ขณะที่ประเด็นเรื่องการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ จากน้ำมือของตำรวจผิวขาวสังหาร จนทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่นั้นกลับกลายเป็นประเด็นที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคน พูดถึงเพียงเล็กน้อย
ทรัมป์อ้างทำงานสำเร็จ
สิ่งหนึ่งที่ทีมงานรณรงคหาเสียงเลือกตั้งของนายทรัมป์ต้องการสื่อผ่านการโต้วาทีหนนี้ก็คือการชี้ว่านายไบเดนเคยมีเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่จะแก้ปัญหาของประเทศชาติ แต่ปัญหาเหล่านั้นยังค้างคาอยู่
"ในเวลา 47 เดือน ผมทำงานมากกว่าที่คุณทำมาตลอด 47 ปี" นายทรัมป์ กล่าว
"ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีคนนี้ เราย่ำแย่ลง อ่อนแอลง ยากจนลง แตกแยกและมีความรุนแรงเกิดมากขึ้น" นายไบเดน กล่าว
ไบเดนไม่ซัดทรัมป์เรื่องเลี่ยงภาษี
ยังมีอีกหลายประเด็นที่นายทรัมป์และนายไบเดน ตอบโต้กันไปมา แต่นายไบเดนเสียโอกาสที่จะกล่าวโจมตีนายทรัมป์เรื่องการเลี่ยงภาษีที่ นสพ.นิวยอร์กไทมส์ เพิ่งเปิดโปงก่อนหน้าการโต้วาทีเพียงวันเดียว
เมื่อประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาพูดถึงนายทรัมป์เพียงกล่าวซ้ำสิ่งที่เคยพูดไว้เมื่อปี 2016 ว่าเขามีความเข้าใจเรื่องรหัสภาษีดีกว่า และการที่เขาเลี่ยงไม่ต้องชำระภาษีจำนวนมากนั้นก็เพราะใช้ประโยชน์จากช่องทางกฎหมาย
นายไบเดน ไม่ได้ใช้โอกาสนี้โจมตีนายทรัมป์ แต่กลับพยายามเปลี่ยนประเด็นไปเป็นการประณามเรื่องที่พรรครีพับลิกันปรับกฎหมายปฏิรูประบบภาษีใหม่
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นบนเวทีโต้วาทีเมื่อคืนนี้ แทบจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนใจผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง
ซึ่งนั่นอาจจะเป็นข่าวร้ายสำหรับนายทรัมป์ แต่หากว่าเป้าหมายของเขาคือ ทำให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นการห้ำหั่นกันอย่างอัปลักษณ์ ปล่อยให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งได้แต่สงสัยว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีความชัดเจนและทางออกอย่างไร ก็ถือว่านายทรัมป์ทำได้สำเร็จในการโต้วาทียกแรกนี้