รีเซต

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 : อินเดียคาดหวังอะไรจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 : อินเดียคาดหวังอะไรจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป
ข่าวสด
21 ตุลาคม 2563 ( 04:20 )
98

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความสัมพันธ์ส่วนตัวสนิทสนมกันดี แต่ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียจะเลือกทรัมป์หรือเปล่าในการเลือกตั้งครั้งนี้

หากย้อนดูประวัติศาสตร์แล้ว กลุ่มคนเชื้อชาตินี้ในสหรัฐฯ มักจะเทใจให้พรรคเดโมแครตมากกว่า

คำถามสำหรับผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเชื้อสายอินเดียในสหรัฐฯ และชาวอินเดียเองคือ ทรัมป์ หรือโจ ไบเดน จะทำอะไรให้ประเทศพวกเขาได้บ้างหากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

ความขัดแย้งในภูมิภาคลาดักห์

BBC

ตั้งแต่ช่วงเม.ย.-พ.ค. เป็นต้นมา อินเดียและจีนต่างส่งกำลังทหารไปบริเวณพื้นที่พิพาทของสองชาติบนเทือกเขาหิมาลัยฝ่ายละราว 5 หมื่นนายแล้ว จนมีการปะทะกันถึงชีวิตในเดือน มิ.ย.

สหรัฐฯ แสดงออกอย่างเปิดเผยมาตลอดว่าต้องการจะช่วยอินเดียในเรื่องนี้ และนักการทูตอินเดียบางคนก็เห็นด้วยว่าพวกเขาต้องการสหรัฐฯ ในการกดดันให้จีนย้ายออกจากบริเวณที่ถูกกล่าวหาว่าไปรุกล้ำ

เมื่อต้นเดือน ต.ค. อินเดีย สหรัฐฯ พร้อมทั้งญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ก่อตั้งกลุ่มที่เรียกว่า "ควอด" (Quad) เพื่อหารือกันเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีนที่ขยายอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ

บางฝ่ายคาดกันว่า สหรัฐฯ พยายามจะปรับกลุ่มประเทศนี้ให้กลายเป็นเหมือนองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต

Getty Images
The US, Australia, India and Japan form a group known as "The Quad"

ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ

นี่เป็นช่วงที่ความสัมพันธ์สองประเทศใกล้ชิดที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา จากที่ตอนสงครามเย็นและที่สหภาพโซเวียตบุกอัฟกานิสถาน อินเดียวางตัวไม่เป็นพันธมิตรฝ่ายใด ประธานาธิบดีบิล คลินตัน เดินทางไปเยือนอินเดียเมื่อปี 2000 ซึ่งถึงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 25 ปี ก่อนที่ทั้งสองประเทศจะมีความสัมพันธ์ในเชิงยุทธศาสตร์เมื่ออินเดียลงนามในข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ไปเยือน

ต่อมา ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ไปเยือนอินเดียสองครั้งด้วยกัน ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์ จะไปเยือนอีกทีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ไม่เต็มใจ

อย่างไรก็ดี อินเดียก็ดูยังไม่ค่อยเต็มใจจะรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เท่าไรนัก

ดร.นิตาชา คอล จากมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ ในลอนดอน บอกว่า แถลงการณ์ที่เป็นคำพูดจากรัฐบาลของทรัมป์ถือว่าไม่มีน้ำหนักมากนักเมื่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ สวนทางกับแนวคิด "อเมริกาต้องมาก่อน" ของทรัมป์

ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ ตั้งใจจะช่วยอินเดียจริง ๆ ดร.คอล บอกว่าก็เจาะจงยากว่าสหรัฐฯ จะช่วยอย่างไรเรื่องความขัดแย้งในภูมิภาคลาดักห์

"สหรัฐฯ อาจจะช่วยได้มากที่สุดก็เรื่องข่าวกรองทางทหาร (ซึ่งจะเป็นไปอย่างจำกัด) อุปกรณ์เครื่องมือ และการฝึกทหาร แต่ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็ส่งสารเชิงสัญลักษณ์ไปยังจีนให้ลดความตึงเครียด" ดร.คอล กล่าว

EPA/LUONG THAI/REUTERS/Adnan Abidi/Jonathan Ernst

และแม้ว่าสหรัฐฯ อยากจะช่วยจริง ชาวอินเดียก็ไม่ได้มองสหรัฐฯ ในภาพลักษณ์ที่ดีนัก เพราะว่าสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรปากีสถานมาหลายทศวรรษ และบางฝ่ายในอินเดียก็มองว่านี่ทำให้สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือไม่ได้

ไม่ต่าง

ที่ผ่านมา อินเดียระมัดระวังมากที่จะไม่ตอบรับหรือปฏิเสธความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และนักการทูตหลายคนก็เชื่อว่าผลการเลือกตั้งวันที่ 3 พ.ย. จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ทรัมป์และไบเดนเห็นต่างกันเกือบทุกเรื่องยกเว้นเรื่องอินเดีย

ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าหลังการเลือกตั้ง สหรัฐฯ ก็จะยังคงสนับสนุนอินเดียต่อไปในความขัดแย้งกับจีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง