รีเซต

2 นักวิทย์ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด mRNA ชนะรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์

2 นักวิทย์ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด mRNA ชนะรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์
TNN ช่อง16
3 ตุลาคม 2566 ( 15:36 )
39

ประกาศแล้วรางวัลโนเบล 2023 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับงานวิจัยหรือผู้ที่มีความอัจฉริยะที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ ปีนี้ผู้ชนะในสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ มอบให้กับนักวิทยาศาสตร์ 2 คนที่พัฒนาเทคโนโลยีที่นำไปสู่การผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโควิดแบบ mRNA (Messenger Ribonucleic Acid) คือศาสตราจารย์คาทาลิน คาริโกะ (Katalin Kariko) และศาสตราจารย์ดรูว์ ไวส์แมน (Drew Weissman)


ทั้ง 2 พบกันตั้งแต่ช่วงปี 1990 ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย และร่วมมือกันนานหลายทศวรรษเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี mRNA พวกเขาตีพิมพ์บทความเพื่ออธิบายงานในปี 2005 ในช่วงก่อนโรคโควิดจะแพร่ระบาด เทคโนโลยีนี้อยู่ในช่วงทดลอง แต่ปัจจุบันมันได้กลายเป็นวัคซีนที่มอบให้กับผู้คนนับล้าน เพื่อป้องกันพวกเขาจากโควิด 19 และในขณะนี้ก็ยังวิจัยต่อเนื่องเพื่อให้สามารถรักษาโรคอื่น ๆ ได้ด้วย หนึ่งในนั้นคือโรคมะเร็ง โดยวัคซีนได้ฝึกระบบภูมิคุ้มกันให้รับรู้และต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามารุกล้ำร่างกายอย่างไวรัสหรือแบคทีเรีย ในช่วงที่เกิดโควิด วัคซีนชื่อดังที่เราคุ้นหูและได้รับอย่างโมเดอร์นา (Moderna) และไฟเซอร์ (Pfizer) ต่างใช้เทคโนโลยี mRNA นี้ในการผลิตวัคซีน


คณะกรรมการรางวัลโนเบล ได้ประกาศถึงเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ควรได้รับรางวัลว่า “ในช่วงที่เกิดภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ครั้งใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน ผู้ได้รับรางวัลมีส่วนช่วยพัฒนาวัคซีนในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน”


ภาพจาก Reuters


แต่ก่อนที่จะพัฒนาเทคโนโลยี mRNA ประสบความสำเร็จเช่นในปัจจุบัน ศาสตราจารย์ไวส์แมนและคาริโกะ ต่างก็เคยผ่านการปรามาสจากผู้อื่นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีทางประสบความสำเร็จ ศาสตราจารย์ไวส์แมนเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ว่า “ผมไปนำเสนองานที่ผมกำลังวิจัยอยู่ และผู้คนต่างมองมาที่ผมและบอกว่า เฮ้ นี่มันเป็นเรื่องที่ดีมากเลยนะ แต่ทำไมคุณไม่ไปทำสิ่งที่มันน่าจะประสบความสำเร็จจริง ๆ ล่ะ mRNA น่ะ ไม่มีทางเวิร์กหรอกนะ แต่ผมกับเคธี่ก็ยังวิจัยกันต่อไป”


วัคซีนโควิดแบบ mRNA มีคำแนะนำทางพันธุกรรม (Genetic instructions) ที่จะสร้างโปรตีนจากโคโรนาไวรัส เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย เซลล์ของเราจะใช้คำแนะนำทางพันธุกรรมในการเริ่มผลิตโปรตีนของไวรัส ระบบภูมิคุ้มกันก็จะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอม มันจึงโจมตีและเรียนรู้วิธีต่อสู้กับไวรัส ดังนั้นหากในอนาคต ร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเหล่านี้อีก มันก็จะจำได้และมีวิธีการต่อสู้กับไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพ 


ทั้งนี้แนวคิดที่อยู่เบื้องหลัง mRNA คือมนุษย์เราสามารถสร้างวัคซีนต่อต้านโรคทุกอย่างได้ หากทราบคำแนะนำทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้เทคโนโลยีนี้สามารถพัฒนาวัคซีนได้เร็วและยืดหยุ่นกว่าแนวทางการพัฒนาวัคซีนแบบเดิม ๆ หลักการนี้เกี่ยวข้องกับชีววิทยาปกติของมนุษย์ คือบทบาทของ RNA ในร่างกายเราคือการแปลงคำแนะนำทางพันธุกรรมจาก DNA ไปเป็นโปรตีนที่ร่างกายของเราสร้างขึ้น 


ทั้งนี้มีความท้าทายในช่วงแรกเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีน mRNA เช่น ในการทดลองกับสัตว์นั้นเกิดการอักเสบ อย่างไรก็ตามนักวิจัยก็ได้ปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อผลิตโปรตีนตามที่ต้องการโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย อันเป็นการปูทางไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีวัคซีนสำหรับใช้ในมนุษย์ต่อไป


ที่มาข้อมูล BBCNPR

ที่มารูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง