รีเซต

'หยวนต้า' ชี้สินค้าเกษตรยังเด่น ชู 5 หุ้นรับอานิสงส์ส่งออกไทย

'หยวนต้า' ชี้สินค้าเกษตรยังเด่น ชู 5 หุ้นรับอานิสงส์ส่งออกไทย
ทันหุ้น
30 พฤษภาคม 2565 ( 12:10 )
151
'หยวนต้า' ชี้สินค้าเกษตรยังเด่น ชู 5 หุ้นรับอานิสงส์ส่งออกไทย

#ทันหุ้น - บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุยอดส่งออกไทยเดือน เม.ย. 2565 ขยายตัว 9.90% YoY แย่กว่าตลาดคาดที่ +14.60%YoY หากหักส่งออกน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว +6.90 %YoY เมื่อเทียบกับภูมิภาค หลายประเทศชะลอตัวเช่นกัน เพราะผลจากการ Lockdown ของจีน สินค้าที่ปรับตัวขึ้นเด่น คือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, น้ำตาลทราย, อาหารสัตว์เลี้ยง, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน, เหล็ก, แผงวงจรไฟฟ้า 

 

ด้านการนำเข้าขยายตัว 21.50%YoY ปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทั้งนี้เดือน เม.ย. ไทยขาดดุลการค้า US$1,908.4 ล้าน ส่งผลให้ YTD ขาดดุลการค้าสูงถึง US$2,852.4 ล้าน เป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทในระยะสั้น จากสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เป็นหนึ่งในปัจจัยเร่งให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร และผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้พุ่งสูงขึ้น กอปรกับบางประเทศจำกัดการส่งออกสินค้า ทำให้ฝ่ายวิจัยมองว่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยยังอยู่ในโมเมนตัมที่ดีอีกระยะ ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นที่เกี่ยวข้อง เช่น CFRESH, TU, ASIAN, KSL, TIPCO

 

ส่งออกเดือน เม.ย. 2565 ต่ำกว่าตลาดคาด

ยอดส่งออกไทยเดือน เม.ย. 2565 ขยายตัว 9.90% YoY (มูลค่า23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) แย่กว่าตลาดคาดที่ +14.60% YoY หากหักการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว +6.90 %YoY อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีของเดือนเม.ย. ที่ 18,976 ล้านเหรียญ ส่งผลให้การส่งออก YTD ขยายตัว 6.90% YoY 

 

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับการส่งออกในภูมิภาค จะเห็นว่าหลายประเทศอยู่ในทิศทางชะลอตัวลง จากการ Lockdown เมืองสำคัญของจีนที่กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตในวงกว้างสินค้าเกษตร และ อุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 10.80 % YoY ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 จาก 1) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง +49.50% YoY เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีความมั่นใจในคุณภาพของมันสำปะหลังไทย ซึ่งขยายตัวได้ดีในตลาดจีน, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ 2) น้ำตาลทราย +87.90% YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เติบโตได้ดีในอินโดนีเซีย,กัมพูชา, ลาว 3) อาหารสัตว์เลี้ยง +24.70% YoY เติบโตตามแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงทั่วโลกที่มีทิศทางยังขยายตัวดีต่อเนื่อง และสินค้าไทยสามารถทำตลาดในต่างประเทศได้มากขึ้น 4) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป +8.9%YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตลาดหลักที่ขยายตัวได้ดี คือ สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย 

 

สินค้าอุตสาหกรรม +8.30% YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยได้แรงหนุนจาก 1) สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน +19.90%YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่15 ปรับตัวขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น 2) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ +25.60% YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และเวียดนาม 3) แผงวงจรไฟฟ้า+15.30% YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ขยายตัวได้ดีในตลาดฮ่องกง, สิงคโปร์, สหรัฐฯ, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และไต้หวัน 

 

ด้านการนำเข้า ขยายตัว 21.50% YoY มากกว่าตลาดคาดที่ +16.40% YoY เป็นผลของ 1) ราคาพลังงาน และปุ๋ยโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบมายังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 2) จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาผลิตและส่งออก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 3 ) การนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปบางรายการเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เดือน เม.ย. 2565 ไทยขาดดุลการค้า US$1,908.4ล้าน และ YTD ขาดดุลการค้าอยู่ที่ US$2,852.4 ล้าน ถือเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทในระยะสั้น 

 

โดยแนวโน้มดุลการค้าหลังจากนี้จะเป็นบวกได้ ขึ้นอยู่กับ 1) ราคาพลังงานในตลาดโลกต้องชะลอตัวลง 2) ยอดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลับมาฟื้นตัวหลังจีนคลาย Lockdown ภาพรวมการส่งออกชะลอตัว แต่สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมยังเป็นขาขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยเร่งให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร และผลักดันราคาสินค้าให้พุ่งสูงขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นบางประเทศออกมาจำกัดการส่งออกสินค้าสินค้า เช่น น้ำตาล น้ำมันปาล์ม ขณะที่ การปรับตัวสูงขึ้นของ ราคาอาหาร ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนมารับประทานอาหารกระป๋อง และอาหารแช่เย็นแช่แข็งแทน 

 

ฝ่ายวิจัยมองว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงอยู่อีก 1-2 ไตรมาส ถือเป็น sentiment เชิงบวกต่อหุ้นส่งออกอาหาร เช่น CFRESH, TU, ASIAN, KSL, TIPCO เป็นต้น

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง