ส่งออกไทย มิถุนายน 2568 โต 15.5% ต่ำกว่าคาด แนวโน้มครึ่งปีหลังชะลอตัว เหตุภาษีทรัมป์-บาทแข็งกดดัน

นายพูนพงศ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมิถุานายน 2568 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 28,649 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.5% จากตลาดคาดราว 18-19% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 27,588 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.1% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1,061 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทย ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และขยายตัวในระดับ 2 digit ต่อเนื่องกัน 6 เดือน ตั้งแต่ มกราคม 2568
ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2568) การส่งออก มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 166,851 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 166,914 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.6% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า รวม 62.2 ล้านดอลลาร์
ปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกในเดือนมิถุนายนนี้ คือ การเร่งส่งออก เนื่องจากประเทศคู่ค้าเร่งสต็อกสินค้าก่อนที่มาตรการปรับขึ้นภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ, แรงส่งต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญ เช่น ผลไม้, มันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย
อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการ สนค. ยอมรับว่า การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มชะลอตัวลงแน่นอน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่า แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยทั้งปีนี้ จะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะขยายตัวได้ 2-3% ทั้งนี้ หากจะทำให้การส่งออกของไทย เป็นไปตามเป้าหมายการเติบโตที่ตั้งไว้ 2-3% นั้น ในช่วง 6 เดือนที่เหลือ จะต้องมีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 23,300 – 23,800 ล้านดอลลาร์
สำหรับการส่งออกรายกลุ่มสินค้า ขยายตัวดีในทุกกลุ่ม ดังนี้
สินค้าเกษตร :
มูลค่า 2,788.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.7% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง, ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร :
มูลค่า 2,203 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.4% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, น้ำตาลทราย, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ, ผลไม้กระป๋อง และแปรรูป
สินค้าอุตสาหกรรม :
มูลค่า 22,871 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 โดยสินค้าที่ที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบอื่น ๆ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ, อัญมณี และเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป)
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ในเดือนมิถุนายนนี้ การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวดี โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน ที่ได้รับปัจจัยหนุนต่อเนื่อง จากการเร่งนำเข้าสินค้าของประเทศคู่ค้า ก่อนที่มาตรการภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้
ตลาดส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 257.3%
อันดับ 2 สหรัฐฯ ขยายตัว 41.9%
อันดับ 3 แคนาดา ขยายตัว 40%
อันดับ 4 ไต้หวัน ขยายตัว 30.6%
อันดับ 5 จีน ขยายตัว 23.1%
อันดับ 6 สหราชอาณาจักร ขยายตัว 17.6%
อันดับ 7 รัสเซีย และ CIS ขยายตัว 14.1%
อันดับ 8 สหภาพยุโรป ขยายตัว 11.9%
อันดับ 9 CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ขยายตัว 9%
อันดับ 10 อาเซียน (5) ขยายตัว 6.5%
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกครึ่งหลังของปี 2568 การดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ส่งผลต่อการค้าไทยและโลกอย่างมีนัยสำคัญ ผลของการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก่อนที่ภาษีต่างตอบแทนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อทิศทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคตของไทย
โดยไทยได้ยื่นข้อเสนอฉบับใหม่แก่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ที่เปิดตลาดมากขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับในทิศทางที่ดี คาดว่าไทยจะได้รับอัตราภาษีที่เหมาะสม และยังสามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นในภูมิภาคได้
นายพูนพงษ์ ระบุว่า ถ้าเราได้อัตราภาษีในระดับ 18-20% ซึ่งเกาะกลุ่มกันในระดับเดียวกับภูมิภาค ก็จะไม่มีผลกระทบมากต่อการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แต่ถ้าโดน 36% มีปัญหาแน่ เพราะเพื่อนบ้านเราได้กันไป 19-20% และเราเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเยอะ
อย่างไรก็ดี ในระยะยาว การสร้างความสมดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ ถือว่าจะเป็นโอกาสให้ไทยเร่งปรับปรุงโครงสร้างการส่งออกไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ เพื่อรองรับการกระจายความเสี่ยงการผลิตและลงทุน และยกระดับสภาพแวดล้อมทางการค้าของประเทศให้แข่งขันได้ในระดับโลกเพิ่มขึ้น ส่วนการบรรเทาผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ นั้น ภาครัฐได้เตรียมความพร้อมด้วยมาตรการสนับสนุน ทั้งภาคธุรกิจ และเกษตรกรรม
สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ที่คาดว่าจะส่งผลต่อการส่งออกไทยในครึ่งปีหลัง ได้แก่ ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, ผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาด, สงครามในตะวันออกกลาง, การชะลอการลงทุนเพื่อรอดูท่าทีการเจรจา, การปรับตัวของผู้ส่งออกในการปรับเปลี่ยนแหล่งนำเข้าวัตถุดิบให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของการลดภาษีของสหรัฐฯ สำหรับสถานการณ์เหล่านี้ เป็นประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ยังคงต้องติดตาม และหามาตรการรับมือ เพื่อแก้ปัญหาและหาแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ว่าผลการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ จะมีข้อสรุปอัตราภาษีที่ระดับใด กระทรวงพาณิชย์ ก็มีมาตรการรองรับและป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า โดยเฝ้าระวังสินค้าสำคัญใน 49 รายการมากขึ้นในเรื่องของแหล่งกำเนิดสินค้าที่กรมการค้าต่างประเทศจะเป็นผู้ให้ใบรับรองเอง นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังมีการจัดคณะผู้แทนการค้าไปเปิดตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ละตินอเมริกา ยุโรป ขณะที่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างไทย-อียู, ไทย-เกาหลีใต้ และไทย-UAE ขณะที่รัฐบาลจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) 2 แสนล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
