เตือน"ฮีทสโตรก"ถึงตาย แม้ไม่ได้ต้องเผชิญแดดโดนตรง

นาวาเอกนายแพทย์พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุว่า ภาวะฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยอุณหภูมิร่างกาย 40 - 40.5 องศาฯ โดยอาการของโรคมีตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง ตั้งแต่ ตัวแดง อ่อนเพลีย รู้สึกสับสน ปวดศรีษะรุนแรง ไม่รู้สึกตัว ชักเกร็ง ไปจนถึง กระทบต่อระบบประสาท การไหลเวียนโลหิต หัวใจเต้นเร็ว และการทำงานของไตผิดปกติจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคลมแดดได้เป็นได้ทุกช่วงอายุ และถึงแม้ว่าจะไม่ได้ออกไปเผชิญแสง แดดโดยตรง แต่ในพื้นที่ที่อยู่อาศัย มีสภาพอากาศร้อน และความชื้นสัมพัทธ์สูง ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ ก็อาจทำให้มีอาการโรคลมแดดได้ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น ผู้ทำงานหรือผู้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุ65 ปีขึ้นไป และ ผู้ที่เป็นโรคประจำตัว ผู้ที่มีปัญหาการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงกลางวันที่มีอากาศร้อน เนื่องจากแอลกอฮอล์จะเป็นตัวกระตุ้น ภาวะฮีทสโตรกได้
วิธีการป้องกันโรคลมแดด ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อย ต้องพักทุก 45 นาที หรือ 1 ชั่วโมง สวมเสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี เลี่ยงเสื้อผ้าโทนสีเข้ม ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหรือมากกว่าปกติ
ส่วนการปฐมพยาบาล ผู้ป่วยที่มีภาวะของอุณหภูมิภายในร่างกายสูงกว่าปกติ ให้เคลื่อนย้าย ผู้ป่วยออกเข้าที่ร่ม แล้วคลายเสื้อผ้าออกให้อากาศถ่ายเท ใช้น้ำผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามร่างกาย เพื่อทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายลดต่ำลง หรืออาจจะใช้วิธีการประคบเย็นที่บริเวณลำคอ รักแร้ และตามข้อพับ ผู้ป่วยควรได้รับสารน้ำและเกลือแร่ทดแทนทันทีที่สามารถดื่มได้ และให้ดื่มน้ำไปจนกว่าจะมีปัสสาวะเป็นสีจางใส ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบโทรแจ้ง 1669 เพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที