รีเซต

"พลูด่างกรองอากาศ" ช่วยกรองสารพิษรอบบ้านของคุณ ประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องกรองอากาศถึง 30 เท่า

"พลูด่างกรองอากาศ" ช่วยกรองสารพิษรอบบ้านของคุณ ประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องกรองอากาศถึง 30 เท่า
TNN ช่อง16
14 พฤศจิกายน 2565 ( 09:01 )
173

การปลูกพืชไม้ดอกไม้ประดับในบริเวณบ้าน นอกจากจะช่วยเพิ่มความสวยงามและเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังมีประโยชน์ในการช่วยลดมลพิษทางอากาศรอบ ๆ บ้านของคุณด้วย ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากบริษัทนีโอแพลนตส์ (Neoplants) ได้พัฒนา "ต้นไม้กรองอากาศ" ที่ช่วยกรองอากาศได้ดีกว่าเครื่องกรองอากาศถึง 30 เท่าเลยทีเดียว !!




นีโอแพลนตส์ บริษัทสตาร์ตอัปจากปารีสนำต้นพลูด่าง (Pothos) มาดัดแปลงพันธุกรรมทั้งในส่วนของยีนในเซลล์ของพลูด่างเองและยีนของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในรากของพลูด่างด้วย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการกรองโมเลกุลที่เป็นพิษในอากาศ ซึ่งต้นพลูด่างที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมจะถูกเรียกว่า นีโอ พีวัน (Neo P1)


ไอเดียในการพัฒนาต้นพลูด่างกรองอากาศนี้ เนื่องมาจากการเกิดเหตุไฟป่าในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะทำลายที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตบริเวณใกล้เคียงแล้ว ควันไฟที่พวยพุงสู่ชั้นบรรยากาศยังนำพาสารพิษที่เรียกว่า สารระเหยอินทรีย์ หรือ VOC (Volatile organic compounds - VOC) ซึ่งโมเลกุลของ VOC หลายชนิดมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถกรองได้ด้วยเครื่องกรองอากาศทั่วไป


ที่มาของภาพ Neoplants

 


ทว่า ต้นไม้กลับมีศักยภาพในการกรองสาร VOC ได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะมีขนาดโมเลกุลที่เล็กเพียงใดก็ตาม ดังนั้น การดัดแปลงต้นพลูด่าง ซึ่งเป็นพืชไม้ประดับที่นิยมปลูกกันทั่วโลก จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองโมเลกุล VOC ในอากาศได้ดียิ่งขึ้นไปอีก และแน่นอนว่ามันช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจ, ภูมิแพ้ ไปจนถึงลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดจากสาร VOC ได้ด้วย


กระบวนการดัดแปลงพันธุกรรมของต้นพลูด่างนับว่าท้าทายพอสมควร นักวิทยาศาสตร์ของนีโอแพลนตส์ใช้เวลาในการทำแผนผังพันธุกรรมหรือจีโนม (Genome) ของพลูด่างนานถึง 4 ปี หลังจากได้แผนผังพันธุกรรมทั้งหมดแล้วก็นำมาปรับแต่งเพื่อให้ใบของต้นพลูด่างสามารถดูดซับโมเลกุล VOC ได้มากขึ้น


ที่มาของภาพ Neoplants

 


ทั้งนี้ กลไกสำคัญในการกรองอากาศของพลูด่างมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของใบและลำต้น ภายในรากของพลูด่างจะมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งแบคทีเรียนี้ทำหน้าที่ตรึงแก๊สและสารประกอบบางชนิดในอากาศมาสร้างอาหารและ นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งใจที่จะใช้คุณสมบัตินี้ในการตรึงโมเลกุล VOC ในอากาศมาเปลี่ยนแปลงเป็นสารอาหารให้แก่แบคทีเรียด้วย


นักวิทยาศาสตร์ได้ดัดแปลงยีนของแบคทีเรียดังกล่าว โดยเพิ่มยีนที่สกัดมาจากแบคทีเรียที่ทนต่อสภาพอากาศยิ่งยวด (Extremophile bacteria) ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้แบคทีเรียในรากของพลูด่างสามารถตรึงโมเลกุล VOC ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนกลายเป็นต้นพลูด่าง นีโอ พีวัน


ที่มาของภาพ Unsplash

 


จากข้อมูลของนีโอแพลนตส์เผยว่า นีโอ พีวัน สามารถกรองอากาศได้ดีกว่าเครื่องกรองอากาศทั่วไปถึง 30 เท่า โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าให้เปลืองทรัพยากรโลก แต่เนื่องด้วยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการผลิตจึงมีราคาค่อนข้างแพงอยู่ที่ต้นละ 179 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,450 บาท ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตจนมีต้นทุนที่ถูกลง แต่เชื่อว่าสักวันหนึ่งรอบ ๆ บ้านของทุกคนอาจจะต้องมีเจ้าต้นนีโอ พีวันปลูกอยู่ด้วยอย่างแน่นอน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Inverse

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง