รีเซต

Meta เผยแนวทางรับมือปัญหาภัยลวงออนไลน์ เน้นใช้นโยบายคัดกรองและตรวจหาเชิงรุก

Meta เผยแนวทางรับมือปัญหาภัยลวงออนไลน์ เน้นใช้นโยบายคัดกรองและตรวจหาเชิงรุก
TNN ช่อง16
25 ตุลาคม 2566 ( 17:31 )
45
Meta เผยแนวทางรับมือปัญหาภัยลวงออนไลน์ เน้นใช้นโยบายคัดกรองและตรวจหาเชิงรุก

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก (Facebook) ประเทศไทย จากเมตา (Meta) จัดบรรยายให้ความรู้สื่อมวลชนและร่วมพูดคุยกับหน่วนงานภาครัฐในหัวข้อ “รู้เท่าทันภัยลวงออนไลน์” รวมถึงแบ่งปันนโยบายและแนวทางล่าสุดในการสร้างความปลอดภัยให้กับธุรกิจและผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม 

ภาพรวมการแก้ปัญหาภัยลวงออนไลน์ของ Meta

Meta ย้ำในงานว่าได้นำนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาการหลอกลวงบนแพลตฟอร์ม (Fraud and Deception) มาใช้อย่างเคร่งครัด พร้อมนำเสนอเครื่องมือและฟีเชอร์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการระวังรักษาความปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม อีกทั้งมีการใช้การตรวจสอบเนื้อหาผ่านบุคลากรผู้ตรวจสอบเนื้อหาและเทคโนโลยี อย่างเช่น แมชชีน เลิร์นนิง (Machine learning) เข้ามาใช้เพื่อตรวจจับเนื้อหาหรือบัญชีที่อาจมีการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ ของ Meta


เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ปัญหาภัยลวงบนโลกออนไลน์ (Scam) ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเหล่าสแกมเมอร์มักมีการดำเนินการจากหลากหลายแหล่ง ในพื้นที่สาธารณะออนไลน์ต่าง ๆ และปฏิบัติการนอกแพลตฟอร์ม หรือออฟไลน์ด้วย เราจึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงเทคนิคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง”

การตรวจจับและป้องกันสแกมบนแพลตฟอร์มของ Meta

หากแพลตฟอร์มของ Meta พบว่าบัญชีใดบัญชีหนึ่งมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการหลอกลวง เจ้าของบัญชีดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อพิสูจน์ตัวตน หากเจ้าของบัญชีไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ตามที่กำหนด หรือหากบุคลากรผู้ตรวจสอบพบว่ามีการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ บัญชีดังกล่าวก็จะถูกลบต่อไป


นอกจากนี้ Meta มีการลงโทษกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว ตามความรุนแรงของการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายด้วยเช่นกัน ด้วยการใช้เทคโนโลยี Machine learning เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชี, ลดการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง, ตรวจสอบเข้มข้นบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่าง ๆ, จัดตั้งช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงโดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย พร้อมตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ


Meta ได้ลบบัญชีปลอมออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลกบน Facebook โดยร้อยละ 98.8 ของบัญชีปลอมตรวจพบด้วย AI ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้ ในเดือนธันวาคมปี 2022 Meta ได้ลบเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวงเป็นจำนวน 1,100 ล้านชิ้น ซึ่งตรวจจับด้วย AI กว่าร้อยละ 95.3 เช่นกัน 

มาตรฐานการโฆษณาของ Meta

เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ได้กล่าวเสริมว่า “การป้องกันไม่ให้โฆษณาบนแพลตฟอร์มของเราถูกใช้งานเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมการหลอกลวงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้พัฒนามาตรฐานการโฆษณา เพื่อเป็นแนวทางที่ระบุว่าโฆษณาแบบใดได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์มในเครือของ Meta โดยนโยบายของเราไม่อนุญาตโฆษณาที่มีเนื้อหาหลอกลวงหรือสร้างความเข้าใจผิด รวมถึงสแกม และหากเราตรวจจับโฆษณาที่ละเมิดมาตรฐานการโฆษณาของเรา เราจะดำเนินการไม่อนุมัติโฆษณาดังกล่าวในทันที”


กระบวนการดำเนินงานตรวจจับและตรวจสอบโฆษณา บัญชี และผู้ดูแลที่อาจละเมิดนโยบายของเมตามีหลากหลายรูปแบบ มากกว่าการตรวจสอบโฆษณาแต่ละชิ้น โดยตรวจสอบและสำรวจพฤติกรรมของนักโฆษณา และอาจจำกัดการใช้งานของนักโฆษณาที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการโฆษณาของ Meta รวมถึงวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนสามารถรายงานโฆษณาได้ด้วย


ทั้งนี้ Meta เสนอข้อมูลเพื่อการป้องกันตนเองจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและโฆษณาที่ปลอมตัวเป็นผู้อื่น เช่น การตรวจสอบตัวสะกดของเนื้อหาโฆษณา หรือตรวจสอบว่าโฆษณาชิ้นนั้นเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ที่แท้จริงของแบรนด์หรือธุรกิจที่คุณกำลังมีส่วนร่วมอยู่ด้วยหรือไม่


Meta จับมือภาครัฐจัดการภัยหลอกลวงออนไลน์

Meta จัดโครงการ “#StayingSafeOnline” ในหัวข้อ “รู้เท่าทันภัยลวงออนไลน์ ห่างไกลจากวิถีสแกมเมอร์” โดยจับมือกับภาครัฐเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น และยังเป็นการสร้างความเชื่อมันในการลงทุน รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ


ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า “ดีอี ได้มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่บังคับกฎหมาย หน่วยงานภาคเอกชน และ Meta เพื่อช่วยกำจัดมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”


พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการ กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ร่วมเสวนากล่าวเสริมว่า “เราอยากให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังอยู่เสมอเมื่อมีปฏิสัมพันธ์หรือทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะอยู่ใช้แพลตฟอร์มหรือช่องทางไหน เพราะว่าอาชญากรไซเบอร์ในปัจจุบันมีการพัฒนาการหลอกล่อที่ซับซ้อนและแนบเนียนมากขึ้น”


ปัจจุบันทางตำรวจไซเบอร์ได้เปิดสายด่วน 1441 เพื่อขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาปัญหาอาชญกรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงแจ้งเบาะแสได้เช่นกัน ซึ่งในงานมีการให้ข้อมูลว่าสายด่วนดังกล่าวจะเป็นบริการแบบครบวงจร (One-stop service) ในอนาคต

Meta สร้างการตระหนักรู้ภัยออนไลน์ให้คนไทย

แคมเปญ #StayingSafeOnline ภายใต้โครงการ We Think Digital Thailand ของ Meta เป็นการเสริมทักษะดิจิทัล เกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมของผู้ประสงค์ร้าย และป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากสแกมอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) สแกม (scam) และการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง (phishing) รวมถึงภัยบนโลกออนไลน์อื่น ๆ 


โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2021 โดยหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.), คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, โคแฟค ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta กล่าวว่า “ในสัปดาห์นี้ เรากำลังจะเปิดตัวซีรีส์วิดีโอเพื่อให้ความรู้ที่มีชื่อว่า “ถอดรหัสสแกม” (Decode Scam) ผ่านเพจ Meta ประเทศไทย บน Facebook เพื่อสอนให้ผู้คนรู้จักกับภัยลวงบนโลกออนไลน์ที่มีหลากหลายประเภท พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้คำแนะนำและเคล็ดลับแก่ชาวไทยเกี่ยวกับวิธีการป้องกันตนเองจากเหล่าสแกมเมอร์ ในรูปแบบการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น”


ที่มาข้อมูล Meta


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง