รีเซต

รู้จักขั้นตอนพิทักษ์ทรัพย์ และการยื่นขอเป็นบุคคลล้มละลาย

รู้จักขั้นตอนพิทักษ์ทรัพย์ และการยื่นขอเป็นบุคคลล้มละลาย
TrueID
19 สิงหาคม 2563 ( 12:35 )
36.9K
รู้จักขั้นตอนพิทักษ์ทรัพย์ และการยื่นขอเป็นบุคคลล้มละลาย

สถานการณ์ปัจจุบันจากภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลง จากพิษโควิด-19 ผู้ประกอบการ ลูกจ้างต่างได้รับผลกระทบกันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดกระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ และการล้มละลาย วันนี้ treuID news จะพาไปรู้จักกระบวนการดังกล่าวว่าคืออะไร

 

พิทักษ์ทรัพย์ คืออะไร

การพิทักษ์ทรัพย์ เป็นคำสั่งของศาลล้มละลาย ที่ตัดสินให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยลูกหนี้จะไม่สามารถทำอะไรกับทรัพย์สินนั้น ๆ ได้เลย ไม่ว่าจะเป็น การขาย จำนอง ถ่ายโอน เพื่อเป็นการพิทักษ์ทรัพย์สินเหล่านั้นให้เจ้าหนี้นั่นเอง

โดยการพิทักษ์ทรัพย์เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการล้มละลาย แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ถูกตัดสินพิทักษ์ทรัพย์จะล้มละลายทันทีนะ เพราะยังสามารถไกล่เกลี่ย และจัดการเรื่องคดีความกับเจ้าหนี้ให้จบลงด้วยดีได้ ซึ่งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 

 

1. คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว 

 เป็นคำสั่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างพิจารณาคำฟ้อง โดยเจ้าหนี้สามารถขอให้ศาลพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ชั่วคราวได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้โยกย้าย ถ่ายโอนทรัพย์สินไปไว้ที่อื่น 

2. คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 

จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อศาลวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ารวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้โดยเด็ดขาด อันมีผลเหมือนเป็นคำพิพากษา แต่จะยังไม่ถือว่าเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะสามารถขอเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อประนอมหนี้ก่อนได้ภายในกำหนด 7 วัน

 


 
อย่างไรก็ดี หากมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จะไม่สามารถถอนฟ้องคดีได้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายต้องมายื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายใน  2 เดือน นับจากวันที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ เพื่อที่ลูกหนี้จะได้ทราบว่าตนเองมีหนี้สินเท่าไร จะต้องจัดการกับหนี้สินดังกล่าวอย่างไร เช่น อาจจะยื่นคำขอประนอมหนี้ตามจำนวนที่คิดว่าจะสามารถชำระแก่เจ้าหนี้ได้ หรือหากไม่สามารถจะประนอมหนี้ได้ ก็ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายโดยคำพิพากษาของศาล

 

ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ จะเป็นอย่างไร

แม้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จะยังไม่ถือว่าเป็นบุคคลล้มละลาย แต่สิ่งที่ถูกหนี้จะต้องเจอเมื่อโดนคำสั่ง มีดังนี้ 
 
          1. ทรัพย์สินต่าง ๆ ของลูกหนี้ จะตกอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว

          2. ห้ามลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้รับคำสั่งจากศาล

          3. ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ลูกหนี้ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ และยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน

          4. จะต้องประชุมเจรจากับเจ้าหนี้ทุกครั้งที่มีนัดหมาย 

          5. กรณีต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ต้องขออนุญาตจากศาลหรือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ให้ถูกต้องก่อน

          อย่างไรก็ตาม หากท้ายที่สุดแล้วผลการตัดสินคดี หรือไกล่เกลี่ยจบสิ้น และพบว่ามีทรัพย์สินเหลือที่ลูกหนี้ต้องได้รับคืน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ก็จะทำหน้าที่จัดการคืนทรัพย์สินเหล่านั้นให้กับลูกหนี้

 

ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ต้องออกจากราชการไหม

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าถ้าเป็นบุคคลล้มละลาย จะขาดคุณสมบัติการเป็นข้าราชการ และถูกสั่งให้ออกจากราชการทันที แต่ทั้งนี้ หากยังอยู่แค่ขั้นตอนพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้จะยังไม่ขาดคุณสมบัติจนต้องออกจากราชการ และยังสามารถรับราชการได้ตามปกติ จนกว่าจะมีคำตัดสินให้กลายเป็นบุคคลล้มละลายเท่านั้น 

 

ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง

 ทางออกที่ดีที่สุดเมื่อถูกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว นั่นก็คือการเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอประนอมหนี้ ภายในกำหนด 7 วัน และอย่าเมินเฉยต่อการนัดประนีประนอม โดยเฉพาะการไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย เพราะจะนำไปสู่การโดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาด และถูกพิพากษาให้กลายเป็นบุคคลล้มละลายในที่สุด 

 

เมื่อไรพ้นสภาพล้มละลาย

การถูกสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายนั้น จะมีระยะเวลา 3 ปี เมื่อครบกำหนดก็จะถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ยกเว้นกรณีที่ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหนี้ ก็อาจจะมีการขยายเวลาเป็น 5 หรือ 10 ปีก็ได้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี บุคคลล้มละลายสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์สิน เพื่อขอปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายได้ ซึ่งหลังจากปลดจากการเป็นบุคคลล้มลายแล้ว ก็จะสามารถทำงานและทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ

 

พ้นล้มละลาย หนี้หมดไหม

สำหรับผู้ที่ถูกประกาศว่าเป็น “บุคคลล้มละลาย” หากให้ความร่วมมือในการเข้าให้การและเข้าพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นอย่างดี เมื่อครบกำหนดเวลาก็จะถูกปลดจากการล้มละลายทันที ซึ่งคำสั่งปลดจากการล้มละลายนี้ จะส่งผลให้บุคลลล้มละลายนั้นหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งปวงด้วย เว้นแต่มีหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรหรือหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการทุจริต ฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 81/1 ก็อาจมีการขยายเวลาเพิ่มเติม

 

วิธีพ้นจากการเป็นบุคคลล้มลาย

  1. อาจมีได้โดย การประนอมหนี้ ได้รับความเห็นชอบและปฏิบัติตามข้อตกลงครบถ้วน
  2. ศาลยกเลิกการล้มละลาย เมื่อมีเหตุตามที่มาตรา 135 กำหนดไว้ เช่น หนี้สินได้รับการชำระเต็มจำนวนแล้ว หรือ หลังจากการแบ่งทรัพย์ครั้งสุดท้ายหรือไม่มีทรัพย์จะแบ่งแล้วต่อแต่นั้นมาภายในสิบปีก็ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินได้อีกและไม่มีเจ้าหนี้มาขอให้รวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายอีก หรือ เจ้าหนี้ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นต้น
  3. ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย
  4. ลูกหนี้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อครบสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ใช้กับกรณีเป็นบุคคลธรรมดาและหนี้อันเป็นมูลเหตุที่ฟ้องล้มละลายไม่มีลักษณะเป็นการทุจริต
  5. ลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล พระราชบัญญัติดังกล่าวเปิดช่องทางให้ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการได้ เพื่อให้ลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลนั้นไม่ต้องล้มละลายหากมีช่องทางฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินต่อไปซึ่งจะทำให้มีรายได้ที่จะนำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ การฟื้นฟูกิจการนี้ ใช้ได้เฉพาะกับลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น บุคคลธรรมดาร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการมิได้

 

อายุความคดีล้มละลาย

ถ้าเป็นลูกหนี้มีหนี้ กรณีบุคคลธรรมดา มีหนี้สินล้นพ้นตัวให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อลูกหนี้เป็นหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท กรณีนิติบุคคล เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ต้องเป็นหนี้ไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และต้องเป็นหนี้ที่สามารถกำหนดจำนวนแน่นอนได้ ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นจึงจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้

หนี้ดังกล่าวต้องไม่เป็นหนี้ที่ขาดอายุความตามกฎหมายแพ่ง เพราะถ้าหนี้ที่นำมาฟ้องนั้นขาดอายุความ ศาลจะพิพากษายกฟ้อง

แต่ถ้าหนี้ที่นำมาฟ้องเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่เคยฟ้องเป็นคดีแพ่งมาก่อนแล้ว เจ้าหนี้ยอมมีสิทธิบังคับคดีได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่หากเจ้าหนี้ไม่ได้บังคับคดี ก่อนที่คดีจะขาดอายุความเจ้าหนี้นำสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากคำพิพากษาถึงที่สุดมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายได้

 

การยื่นขอเป็นบุคคลล้มละลาย

การตัดสินใจขอเป็นบุคคลล้มละลายบ่อยครั้งก็มิได้ทำให้หนี้สินหมดไป หรือทำให้เริ่มต้นใหม่ได้จริงๆ ประวัติการล้มละลายนี้จะปรากฏอยู่ในส่วนของข้อมูลเครดิตบูโร ขณะที่เป็นหนี้ข้อมูลจะถูกส่งเข้ามาที่เครดิตบูโร โดยระหว่างที่ถูกฟ้อง ข้อมูลเครดิตบูโรจะแสดงสถานะว่าอยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย และข้อมูลยังคงอยู่จนกระทั่งถึงวันปลดล้มละลาย นับจากวันปลดล้มละลาย 2 ปี สถาบันการเงินจะหยุดส่งข้อมูลไปที่เครดิตบูโร และข้อมูลจะถูกเก็บไว้ที่เครดิตบูโรต่อไปอีก 3 ปี

ดังนั้น นับแต่วันปลดล้มละลาย ข้อมูลจะอยู่ที่เครดิตบูโร 5 ปี หลัง จากนั้นข้อมูลเครดิตบูโรจะถูกลบออกจากระบบโดยอัตโนมัติ กรณีที่เกินกำหนด 5 ปีแล้ว ข้อมูลเครดิตบูโรยังแสดงสถานะดังกล่าวอยู่ ให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์เครดิตบูโร แจ้งรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ว่าได้รับการปลดล้มละลายตั้งแต่เมื่อไร พร้อมส่งเอกสารประกอบ ภายหลังตรวจสอบหากข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้อง จะดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องทันที

 
     มีลูกหนี้จำนวนมากที่เข้าใจผิดคล้ายๆ กับกรณีของ “เทพ โพธิ์งาม” ว่ากู้เงินซื้อบ้านมาแล้ว แล้วไม่ผ่อนต่อคิดว่าเจ้าหนี้จะมายึดทรัพย์ก็หมดหนี้กันไป แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะดอกเบี้ยยังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ยอดหนี้พอกพูน จนในที่สุดเจ้าหนี้ฟ้องศาล เพื่อยึดทรัพย์มาขายทอดตลาด หากขายได้แล้วได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้อีก หรือติดตามทรัพย์อื่นมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ส่วนที่เหลือ และกรณีของ สมรักษ์ คำสิงห์ ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 โดยเจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้จำเลยล้มละลาย มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลย เนื่องจากมีหนี้สินจากการเปิดปั๊มน้ำมันกว่า 4 ล้านบาท ปัจจุบันเมื่อวันที่ 10 มี.ค.63 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีคําสั่งยกเลิกการล้มละลายของ นายสมรักษ์ คําสิงห์ แล้ว.

 

 

ขอบคุณข้อมูลข่าว : กรมบังคับคดี

ภาพปก : ภาพโดย Darko Djurin จาก Pixabay 

 

=====

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง