รีเซต

“กองทุนประกันสังคม” อีก 20 ปี จะล้มละลาย ? ที่จ่ายไป ยามเกษียณจะมีเงินให้ไหม ?

“กองทุนประกันสังคม” อีก 20 ปี จะล้มละลาย ? ที่จ่ายไป ยามเกษียณจะมีเงินให้ไหม ?
TNN ช่อง16
26 กรกฎาคม 2567 ( 17:09 )
42

ช่วงไม่กี่วันก่อนข่าวเกี่ยวข้อง “กองทุนประกันสังคม” ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อกระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอ ครม. ขอปรับลดการจ่ายเงินสมทบเข้า กองทุนประกันสังคม ภาคลูกจ้าง และ นายจ้าง จาก 5% เหลือ 2% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ต.ค. - ธ.ค. 2567 เพื่อบรรเทาภาระและเยียวยาผู้ประกอบการ จากมาตรการปรับขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค. ที่จะถึงนี้


การที่กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอ ครม. ขอปรับลดการจ่ายเงินสมทบ ในส่วนของลูกจ้างและนายจ้างลง จะยิ่งทำให้รายได้เข้ากองทุนประกันสังคมมีอันต้องลดลงไปอีก ซ้ำเติมความกังวลก่อนหน้าจากหลายภาคส่วนเมื่อพบว่า รายได้เข้าสวนทางรายจ่ายอยู่แล้ว เนื่องจาก เศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประเมินความเสี่ยงทางการคลังของ 'กองทุนประกันสังคม' ณ สิ้นปี 2565 พบว่ามีเงินรวม 2.361 ล้านล้านบาท ลดลง 17,000-18,000 ล้านบาท และลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี  


และยังพบว่าเงินกองทุนที่แท้จริงต้องมาจาก 3 ฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลจ่ายสมทบ แต่กลายเป็นพบว่า รัฐบาล ยังขาดจ่ายสมทบ เป็นจำนวนเงินหลักหมื่นล้านบาท ทำให้มีการตั้งคำถามถึงการบริหารจัดการกองทุน เสถียรภาพ และความมั่นคงของ กองทุนประกันสังคม ว่ามีมากน้อยแค่ไหน และในอนาคตหากยังเป็นแบบนี้ กองทุนจะถึงวันต้องล้มละลายลงในอีกไม่กี่ 10 ปี ข้างหน้าจริงหรือไม่


TNN Online ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี  กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม ตอบทุกคำถามสงสัย ที่ผู้ประกันตนทุกมาตรา ควรต้องรู้ 

พื้นฐานที่ต้องรู้!


1.กองทุนประกันสังคม ใครจ่ายเงินสมทบบ้าง และจ่ายเงินเข้ากองทุนเดือนละเท่าไหร่?
ปัจจุบัน กองทุนฯ ดูแลผู้ประกันตน 3 มาตรา คือ ผู้ประกันตน ม.33 
ม.39 ผู้ประกันตนที่จ่าย ม. 33 มาตลอดและออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน 
และ ม.40 คือ ผู้ประกันตนภาคสมัครเอง 

โดยมีรัฐบาลช่วยจ่ายสมทบ 2.75% ประมาณ  412.5 บาท /เดือน  ลูกจ้างและนายจ้าง จ่ายสมทบ 5% สูงสุด 750 บาท (คิดจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท) แต่ละเดือนจะมีเงินเข้ากองทุนฯ 1912.5 บาท  / เดือน / คน


2.นอกจากสิทธิในการรักษาพยาบาล ผู้ประกันตน จะได้สิทธิประโยชน์อะไรอีกบ้าง?


ผู้ประกันตนจ่าย สูงสุด 9,000 บาท / ปี แต่ครอบคลุมหมด 7 ประการ ดูแลตั้งแต่ในท้องแม่ จนถึงเสียชีวิต กรณีการว่างงาน ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เงินค่าคลอดบุตร 
สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ เงินบำนาญชราภาพ และเมื่อเสียชีวิต 


3.เงินบำนาญชราภาพ มีเงื่อนไขการรับเงินอย่างไร ต้อง อายุ 55 หรือ 60 ปี?


ปัจจุบัน ขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ กรณีชราภาพ จาก 55 ปี เป็น 60 ปี ใช้กับผู้ประกันตนใหม่และผู้ประกันตนที่อายุน้อย ส่วนผู้ประกันตนที่ใกล้เกษียณอายุจะไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกันตนได้รับบำนาญในอัตราที่สูงขึ้น ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี

เช่น หากส่งเงินสมทบกรณีชราภาพตั้งแต่อายุ 35 ปี และทำงานจนถึงอายุ 55 ปี เท่ากับทำงาน 20 ปี หากมีค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 15,000 บาท จะได้บำนาญในอัตรา 35% ของ 15,000 บาท หรือคิดเป็นเดือนละ 5,250 บาท 

และหากขยายระยะเวลาการทำงานถึงอายุ 60 จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 7.5% ทำให้บำนาญเพิ่มเป็น 42.5% ของค่าจ้าง 15,000 บาท หรือคิดเป็นเดือนละ 6,375 บาท (เพิ่มขึ้น 1,125 บาท) ไปตลอด

เงื่อนไข คือ ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบ เกิน 15 ปี หรือ 180 เดือนขึ้นไป 
สามารถขอรับเงินได้ 2 แบบ เงินบำเหน็จ จ่ายก้อนใหญ่ครั้งเดียว กับ เงินบำนาญ จ่ายทุกเดือน  ตลอดชีวิต ข้อสำคัญคือ ต้องติดต่อขอรับภายใน 1 ปี หลังอายุครบเกณฑ์ ห้ามเกินเด็ดขาด ที่สำนักงานประกันสังคม ไม่เช่นนั้นจะถือว่าสละสิทธิ์


ประเด็นร้อน “กองทุนประกันสังคม”


1.บอร์ดคิดเห็นอย่างไรกับการที่ ก.แรงงาน เตรียมขอปรับลดการจ่ายเงินสมทบ 

พยุงผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรง  ต.ค. แต่ยิ่งทำให้รายรับกองทุนฯ ลดลง?

ทางบอร์ดยังไม่ได้ยืนยันเรื่องนี้ ทำได้แต่รัฐต้องมาจ่ายแทน ในส่วนที่กองทุนเสีย หลักหมื่นล้าน หากใช้มาตรการนี้ 3 - 4 เดือน มันเป็นนโยบายที่รัฐชอบทำ เพราะมันง่าย แต่ถ้าเราเอาเงินส่วนนี้ จัดเก็บปกติ แล้วไปดีไซน์สิทธิประโยชน์ให้มันดีขึ้นจะดีกว่าไหม?


ปัญหาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ เราควรไปโฟกัสกลุ่มดีกว่าลดทั่วประเทศ สมมติพนักงานออฟฟิศในเมืองแถวสีลม ที่ทุกคนคนเงินเดือน 3 หมื่นอัพส่วนใหญ่ เขาไม่กระทบเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่คุณชะลอการเก็บ หรือ ลดการเก็บอันนี้ทั่วประเทศ มันก็กระทบการจ่ายเงิน หรือ การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนพวกเขาด้วย และทำให้กองทุนมีปัญหา เงินสมทบของคนที่จ่ายไหวก็กระทบด้วยทั้งที่เขาไม่ได้เดือดร้อน


2.อนาคตกองทุนฯ อีก 20 ปี จะล้มละลายจริงไหม?


กองทุนฯ มีโอกาสจะล้มละลายในอีก 26 ปี ข้างหน้า ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร เงินจะหมด

แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะกองทุนที่ผูกพันกับชีวิตผู้คนระยะยาว มันเป็นแบบนี้ทุกกองทุนทั่วโลก อเมริกาก็จะล้มได้ใน 11 ปี  แต่มันเป็นเรื่องดี ที่มีการคำนวณฉากทัศน์แย่สุดเอาไว้ เพื่อเตรียมการแก้ไขได้ทัน จาก Big Data ทำให้เราเห็นปัจจัยที่เกี่ยวกับอนาคตกองทุนฯ ทั้งสังคมผู้สูงอายุ  คนวัยเกษียณมีจำนวนมากขึ้น 


สวนทางกับจำนวนคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะเทรนด์ฟรีแลนซ์ แถมวิวัฒนาการต่างๆ ก็ทำให้คนมีอายุยืนมากขึ้น อยู่ในระบบประกันสังคมได้ยาวนานขึ้น กองทุนต้องจ่ายเงินบำนาญดูแลไปตลอดชีวิต  ก็เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูง แต่รายรับขาเข้ากลับมีน้อยลง หากยังปล่อยไว้กับทุกอย่างแบบเดิม มีโอกาสล้มละลายในอีก 26 ปี ข้างหน้า  แต่มันไม่มีใครอยู่เฉยๆ มันต้องมีการปรับเปลี่ยนทุกฝ่าย


3.แนวทางการแก้ไข เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ กองทุนฯ ควรเป็นอย่างไร?

3.1 ปรับภาพลักษณ์ เพราะมันแย่ที่สุด

ทั้งที่สิทธิประโยชน์เยอะกว่าประกันเอกชนใดๆ แต่แบรนด์ดิ้งแย่ มีข่าวนิดนึงคนพร้อมหันหลัง ทั้งที่ครั้งหนึ่ง ประกันสังคมเคยเป็นระบบที่คนมีความเชื่อมั่นมาก ต้องไปทำงานกันดูว่าควรปรับตรงไหนได้บ้าง? เช่น รัฐบาลควรจ่ายเงินสมทบเพิ่มจาก 2.5%  ไหม สมมติว่าหากรัฐจ่ายเพิ่มเป็น 5% จะขยายอายุกองทุนไปได้อีกแค่ 3 - 5 ปี แต่มันก็ไม่ได้เยอะ


3.2 เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน 


เพื่อให้คุณภาพ และ บริการต่างๆดีขึ้น คนเชื่อมั่นและรู้สึกที่จ่ายไปนั้นคุ้มค่า แต่ปัญหาก็จะตามมาคือจะทำให้อายุกองทุนสั้นลง 2-3 ปี แต่เราสามารถไปหาจุดเพิ่มต่างๆได้ โดยเอาเงินจากรัฐ และ เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อรีแบรนด์ดิ้ง มันก็จะทำให้ระยะเวลากองทุนที่เหลืออยู่เจ๊ากัน ไม่ได้เพิ่มหรือต่างมากขึ้น แต่แบรนด์ดิ้งดีขึ้น

3.3 ขยายเพดานเงินเดือนการจ่ายสมทบ


จากสูงสุด 15,000 บาท จ่าย 750 บาท หากเพิ่มขึ้นและไปจ่ายสูงสุด 850 บาท จะได้อายุกองทุนเพิ่ม 3-5 ปี ซึ่งยังไงก็คงต้องมีการเก็บเพิ่มในอนาคตแน่นอน แต่ ณ สถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้คิดว่ายังไม่เหมาะสม เงินหายไปจากกระเป๋า เพิ่มอีก 200 มันเท่ากับ ค่าข้าว วันเลยนะ มันเยอะมากสำหรับแรงงานปัจจุบัน รัฐจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง  


หรือถ้าเป็นแบบ ขยายให้จ่ายสมทบได้แบบ X treme ไปเลย ไม่มีเพดานจำกัด ใครจ่ายมากได้ก็จ่าย ผู้ประกันตนระยะยาวได้ประโยชน์ฐานเงินเดือนเยอะ ได้บำนาญเยอะ คุณจะได้มากขึ้น ซึ่งถ้าปรับข้อนี้ จะช่วยขยายเวลากองทุนได้หลายสิบปี แต่ปัญหา คือ คนส่วนใหญ่ที่เงินเดือนเป็นแสน เขาไม่ค่อยหวังกับกองทุนประกันสังคม เขาไปซื้อประกันเอกชนอะไรอย่างอื่นของเขาได้ มากกว่า 


3.4 ปรับและเปลี่ยนแผนนโยบายการลงทุนเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทน 


นี่เป็นวิธีที่คิดว่าได้ผลเวิร์คที่สุด แม้จะมีความเสี่ยงเพราะปัจจุบัน ผลตอบแทนกองทุนฯอยู่ที่ 3% ขนาดกองทุน 2 ล้านล้าน สมมติ เลขง่ายๆ มีเงิน 1 ล้านล้าน ผลตอบแทน 3% กำไรก็คือ 3 หมื่นล้าน แต่ถ้าลงทุนให้ได้กำไร  6% จะได้ 6 หมื่นล้าน  ส่วนต่าง 3 หมื่นล้านนี้ชดเชยค่าใช้จ่ายเรื่องบำนาญ ที่มีปัญหาอยู่ได้เลย และช่วยให้กองทุนฯ มีอายุเพิ่มขึ้นไปอีก 20 ปี คือ เพิ่มไปอีก 50 กว่าปีจากปัจจุบันเลย


เพราะปัจจุบัน กองทุนบำนาญทั่วโลกสิ่งที่เขาทำ คือ การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงน้อย - เสี่ยงมาก ซึ่งส่วนมากกองทุนฯของเรา ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงน้อย 70% พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ และต้องเป็นในประเทศด้วย ต่อให้อีก 30% จะทำผลตอบแทนกลับมาได้เก่งแค่ไหน มันก็ดึงผลตอบแทนรวม ขึ้นไปมากกว่านี้ไม่ได้ ผลกำไรเราจึงน้อยมากๆ


สิ่งที่ควรจะทำ เราต้องปรับสัดส่วนอ้างอิงจากกองทุนบำนาญทั่วโลก อาจจะเป็นครึ่งๆ หรือ สินทรัพย์เสี่ยง 60% และนิยาม พันธบัตรรัฐบาล ต่างประเทศ ว่าเป็นสินทรัพย์เสี่ยงน้อย ซึ่งปัจจุบัน กองทุนเรานิยามว่าอะไรที่เป็นต่างประเทศ เป็นสินทรัพย์เสี่ยงสูงหมดเลยเป็นเรื่องน่าเสียดาย 

เช่น ถ้าเป็นพันธบัตรรัฐประเทศที่น่าเชื่อถือ ผลตอบแทน 4.5 - 6 % หรือแม้กระทั่งเงินฝากประจำธนาคารต่างประเทศ แต่การันตี 4.5 - 6% ได้ เราต้องปรับให้มากขึ้น 

ถ้าเราปรับได้หมื่นกว่าล้านมัน จะทบต้น ทบดอก พอเราได้เงินตัวนี้มา ปีหน้าเราก็จะมีเงินในส่วนที่ลงทุนมากขึ้น แต่แน่นอน เมื่อเราขยับไปลงทุนผลตอบแทนที่สูงขึ้น ก็จะเป็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
แต่ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัว ถ้าเราออกแบบการบริหารความเสี่ยงใหม่ ทำแผนการลงทุนระยะยาวใหม่ 5 ปี ซึ่งแผนนี้น่าจะถูกใช้ช่วง สิงหาคม หรือ กันยายน ปีนี้

แต่สุดท้ายก็ต้องขอย้ำว่า มันคงไม่สามารถเปลี่ยนไปได้ทั้งหมดโดยเร็วขนาดนั้น บางกองทุนมีเงื่อนไขที่ลงทุนไว้อาจจะยังขยับไม่ได้ แต่แนวโน้มคือ ขยับสู่สินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น
แต่ก็ต้องบอกว่า มาตรการการลงทุน 80% ที่ริเริ่มในสมัยบอร์ดชุดนี้ จะไม่ได้เห็นผลลัพท์ ในสมัยนี้ เพราะบอร์ดมีอายุ 2 ปี แต่ ถ้าเราวางแนวทางตรงนี้ไว้ชัดเจน พอ 3-5 ปีถัดไป เราจะเห็นผลตอบแทนที่มีระบบดีขึ้น และสถานะเงินกองทุนและเสถียรภาพกองทุนจะค่อยๆมีฉากทัศน์ใหม่ที่ดีขึ้นตามที่เราคาดหวัง ตั้งแต่ครั้งที่ผมตั้งใจสมัครเข้ามาทำหน้าที่นี้ เพื่อดูแลนโยบายกองทุนให้คุ้มค่าและมีความมั่นคงเพื่อผู้ประกันตนทุกคน จะมีความมั่นใจในระบบประกันสังคมมากขึ้น

ทั้งหมดนี้คือโจทย์สำคัญที่ท้าทายบอร์ดประกันสังคมชุดปัจจุบัน ที่ผู้ประกันตนคนไทย คาดหวังและฝากฝังว่าจะเข้าไปแก้ปัญหา และออกแบบระบบบริหาร ของกองทุนประกันสังคมไทย ให้ค่อยๆดีขึ้น ให้เราวางใจว่าในอนาคตสิทธิประโยชน์ทุกอย่างที่เราจ่ายไป เราจะได้รับมันอย่างสมบูรณ์ เมื่อถึงวันที่เราต้องการใช้บริการ กองทุนประกันสังคม กองทุนที่พึ่งสำหรับแรงงานผู้ประกันตนอย่างเรา ๆ นั่นเอง…

ณัฏฐ์อาภา ผ่องทิพาภรณ์  TNN Senior Content Creator 

ที่มา สัมภาษณ์ : รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี  บอร์ดประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง