"ญี่ปุ่น" ขาลง ? เสี่ยงตกอันดับผู้นำเศรษฐกิจโลก

จากตัวพ่อ อาจกลายเป็นตัวลูก อนาคตของประเทศ "ญี่ปุ่น" กำลังสั่นคลอน
ญี่ปุ่นเป็นถึงยักษ์ใหญ่ มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เคยอยู่ถึงอันดับ 3 ของโลก
เป็นรองเพียงแค่สหรัฐ กับจีน และล่าสุดตอนนี้หล่นมาอยู่อันดับที่ 4 ถูกเยอรมันแซงหน้าไปแล้ว
แต่ในอนาคตน่าห่วงกว่านี้ เพราะมีการคาดการณ์ว่าอาจจะหลุดไปไหนถึงอันดับที่ 11
จากหลายปัจจัยรุมเร้า โดยเฉพาะการเกิดน้อย แรงงานหดตัว
และยังมีปัญหาจากภาคธุรกิจที่ล่าสุดพากันล้มละลายกว่าหมื่นแห่งสูงสุดในรอบ 11 ปี
" ล้มละลาย = ความท้าทายของภาคธุรกิจญี่ปุ่น "
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บริษัทวิจัย โตเกียว โชโก รีเสิร์ช (Tokyo Shoko Research หรือ TSR) เปิดเผยว่า
จำนวนบริษัทที่ยื่นล้มละลายในญี่ปุ่นพุ่งสูงเกิน 10,000 แห่งเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี
ในปีงบการเงิน 2024 ด้วยจำนวนรวมทั้งสิ้น 10,144 บริษัท เพิ่มขึ้น 12.1 % จากปีก่อนหน้า
สาเหตุจากบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและราคาสินค้าพุ่งสูง
โดยมีบริษัทในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรมยื่นล้มละลายมากกว่าปีก่อนหน้า ยกเว้นแค่ภาคการเงินและการขนส่ง
รายงานระบุว่าจำนวนบริษัทที่ยื่นล้มละลาย มีหนี้สินอย่างน้อย 10 ล้านเยน (ประมาณ 2 ล้าน 3 แสนบาท)
ทั้งนี้เมื่อแบ่งตามอุตสาหกรรม พบว่า ภาคบริการเจ็บหนักสุด มีจำนวนบริษัทยื่นล้มละลายสูงสุดที่ 3,398 แห่ง
เพิ่มขึ้น 12.2 % และสูงสุดในรอบ 36 ปี หรือนับตั้งแต่ปีงบการเงิน 2532
ตามมาด้วยภาคก่อสร้างซึ่งมีจำนวนบริษัทยื่นล้มละลายเพิ่มขึ้น 9.3 % แตะที่ 1,943 แห่ง
โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ล้มละลาย คือ กลุ่มบริษัทที่มีพนักงานน้อยกว่า 10 คน โดยคิดเป็น 89.4 % ของธุรกิจที่ล้มละลายทั้งหมด
เนื่องจากต้องดิ้นรนหาเงินทุนมาดำเนินธุรกิจ หลังจากญี่ปุ่นได้สิ้นสุดมาตรการผ่อนผันภาษีพิเศษที่นำมาใช้เพื่อช่วยภาคธุรกิจ ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อีกทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนเพิ่มภาระต้นทุนการกู้ยืมให้กับธุรกิจขนาดเล็ก
ไม่เพียงเท่านั้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนที่อ่อนค่าลง และราคาพลังงานที่สูงขึ้น เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการล้มละลายของธุรกิจเหล่านี้
"ญี่ปุ่น จ่อหลุดตำแหน่งมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ร่วงไปอยู่อันดับที่ 11"
มีการออกมาคาดการณ์ว่า หากญี่ปุ่นยังไม่อาจแก้ปัญหาเศรษฐกิจและประชากรที่ลดลงได้
ญี่ปุ่นอาจถูกลดอันดับจากประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก ร่วงไปอยู่เพียงแค่อันดับที่ 11
สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น (Japan Center for Economic Research: JCER)
เปิดเผยรายงานคาดการณ์ระยะยาวว่า หรือในอนาคตภายใน 50 ปีข้างหน้านี้
อันดับ GDP ต่อหัวของญี่ปุ่นจะลดลงจากอันดับที่ 29 ในปี 2023 สู่ อันดับที่ 45 ในปี 2075
ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงและปัญหาประชากรลดลง
พร้อมเรียกร้องให้เร่งพัฒนาเทคโนโลยี AI และปฏิรูปตลาดแรงงานเพื่อกระตุ้นการเติบโต
ในรายงานฉบับนี้ ซึ่งจัดทำทุก 5 ปี JCER คาดว่า GDP ที่แท้จริงของญี่ปุ่นในปี 2075
จะอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2024
แต่ลดอันดับจากประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก เหลืออันดับที่ 11
แม้เศรษฐกิจโลกจะยังเติบโตเฉลี่ย 3.3% ในช่วงปี 2021–2030 ด้วยแรงหนุนจากเทคโนโลยี เช่น Generative AI แต่ JCER คาดว่า
เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตเฉลี่ยเพียง 0.3% ต่อปี ในช่วงปี 2071–2075 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก
"ปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการเติบโต ได้แก่ อัตราการเกิดที่ลดลงและกำลังแรงงานหดตัว"
แม้ญี่ปุ่นจะรับผู้อพยพสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก จำนวนสุทธิราว 230,000–240,000 คนต่อปี
แต่ประชากรทั้งหมดจะลดเหลือประมาณ 97 ล้านคนในปี 2075
โดยในนั้นเป็นชาวต่างชาติราว 16 ล้านคน
GDP ต่อหัวของญี่ปุ่นในปี 2075 คาดว่าจะอยู่ที่ ประมาณ 45,800 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 60% จากปี 2024 แต่ยังคงต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศ G7
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า AI จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในอนาคต โดยเฉพาะในสหรัฐและจีน ซึ่งมีฐานอุตสาหกรรมข้อมูล การเงิน และประกันภัยที่แข็งแกร่ง ขณะที่ญี่ปุ่นมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้ได้รับประโยชน์จาก AI น้อยกว่า
JCER เสนอแนะว่าญี่ปุ่นควรเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
เช่น ยกเลิกการเกษียณอายุแบบบังคับ ลดช่องว่างค่าตอบแทนระหว่างพนักงานประจำกับชั่วคราว
เพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา เพื่อกระตุ้นผลิตภาพ (productivity) และการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน
ขณะที่ในระดับโลก JCER คาดว่า สหรัฐและจีนจะยังเป็นสองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด
อินเดีย จะขึ้นมาเป็นอันดับ 3 อินโดนีเซีย ขึ้นมาอันดับ 5
ถ้าหากสหรัฐภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงจำกัดการอพยพเข้าเมือง
และเนรเทศแรงงานผิดกฎหมายปีละ 1 ล้านคนต่อเนื่อง 12 ปี
ก็อาจเปิดทางให้จีนแซงสหรัฐขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในปี 2049
JCER ยังตั้งข้อสังเกตถึงการเติบโตของกลุ่มประเทศเกิดใหม่
เช่น BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และอีกหลายประเทศสมาชิกใหม่)
ว่าในปี 2075 BRICS จะมี GDP รวมสูงกว่าสหรัฐฯ ถึง 40%
นอกจากนี้ยังเสนอแนวคิดว่า หาก สหภาพยุโรป (EU) รวมตัวกับ 12 ประเทศสมาชิก CPTPP
(เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย)
จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่อาจเทียบเคียงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของ BRICS ได้
ทั้งนี้รายงานของ Goldman Sachs เมื่อปี 2022 คาดการณ์ว่าในอีก 50 ข้างหน้า หรือ ในปี 2075
เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกของโลกจะได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐ อินโดนีเซีย และไนจีเรีย