ทำไม เนต้า NETA ล้มละลาย ขายดีแต่เป็นหนี้หมื่นล้านหยวน หวั่นจุดชนวนวิกฤต ลุกลามอุตสาหกรรมอีวีจีน

เนต้า NETA จากดาวรุ่ง สู่ดาวร่วง ล้มละลาย
"เนต้า" (NETA) รถอีวีสัญชาติจีน ที่เคยขายดีในไทย ตอนนี้เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ เป็นหนี้กว่า 45,000 ล้านบาท จนต้องล้มละลาย ดูเหมือนว่า นี่คือ ผลพวงของสงครามราคาอีวี ที่แข่งขันกันลดราคาอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ภายในประเทศจีนและทั่วโลก จนทำให้บริษัทเล็กสู้ไม่ไหว จากลงทุน สู่ขาดทุน จากหนี้ก้อนเล็ก กลายเป็นก้อนใหญ่ และล้มลงมาทับในที่สุด
โลกของรถยนต์ได้เปลี่ยนแปลงไป หลังจากจีนได้ส่งอีวีหรือยานยนต์ไฟฟ้าลงมาแข่งขันในตลาดรถทั่วโลก จากท้ายแถวมาสู่คู่แข่งเบอร์ 1 ที่แม้กระทั่งค่ายญี่ปุ่นที่เคยเป็นเจ้าตลาดก็ยังพ่ายแพ้ไปแล้วหลายยี่ห้อ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้อีวีจากจีนโดดเด่นและแซงหน้าได้ ต้องยอมรับว่าคือราคา สงครามราคาดุเดือดเลือดพล่าน เริ่มจากจีนแผ่นดินใหญ่และลุกลามมายังตลาดทั่วโลก อีวีจีนพากันแข่งขายถูก หั่นราคาเป็นว่าเล่น จากหลากหลายยี่ห้อในตลาดในวันเริ่มต้นมาถึงวันนี้ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าในระยะยาวหรือในอนาคตผู้ที่อยู่รอดได้ จะเหลือเพียงไม่กี่เจ้า และคือผู้ที่แข็งแกร่งหรือเจ้าใหญ่ รายใหญ่เท่านั้น
เช่นเดียวกับล่าสุดที่กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก NETA หนึ่งในรถอีวีที่ขายดีในเมืองไทย จนกระทั่งเจอกับมรสุมทางธุรกิจ มีปัญหาด้านการเงิน และล่าสุด คือ ล้มละลายอย่างเป็นทางการแล้ว ที่ประเทศจีน ตามรายงานของ CCTV สื่อทางการรัฐบาลจีน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2025 โดยรายงานยังระบุอีกด้วยว่า ศูนย์ให้บริการและโชว์รูม NETA หลายแห่งในนครเซี่ยงไฮ้ได้ปิดตัวลงแบบเงียบ ๆด้วยเช่นกัน
ประวัติ เนต้า NETA
NETA ผู้ก่อตั้ง คือ “ฟาง หยุ่นโจว”(Fang Yunzhou) ภายใต้บริษัท Hozon New Energy Automobile Co., Ltd. หรือที่รู้จักกันในชื่อ Hozon Auto ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% จากประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ในมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน จากความร่วมมือระหว่างเป่ยจิง ซิโนไฮเทค( Beijing Sinohytec )(บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์) และสถาบันเจ้อเจียง แหยงซี เดลต้า รีเจียน (Zhejiang Yangtze Delta Region) มหาวิทยาลัยชิงหวา Tsinghua บริษัทมีวิสัยทัศน์หลัก คือ “การสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้”
ก่อนหน้านี้ จาง หย่ง (Zhang Yong) อดีตซีอีโอของ Hozon Auto เคยกล่าวเอาไว้ว่า NETA ไม่ได้ตั้งเป้าที่จะเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลก แต่จะเน้นการนำเสนอยานยนต์ไฟฟ้าที่มีความทันสมัย ราคาที่เข้าถึงได้ และประสิทธิภาพสูง
ปี 2018 บริษัทก็ได้เปิดตัว NETA N01 รถยนต์รุ่นแรกอย่างเป็นทางการ และได้เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติใน Silicon Valley ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นก็มีการพัฒนารุ่นใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้ไปเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมในประเทศเยอรมนี ศูนย์ออกแบบในเมือง Turin ประเทศอิตาลี รวมไปถึงในปี 2021 มีการเปิดตัว NETA S ซีดานไฟฟ้ารุ่นแรกของค่าย ซึ่งเคลมว่าสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลถึง 1,000 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม
นอกจากเปิดตัวรถรุ่นใหม่ทุกปีแล้ว บริษัทยังได้ขยายโรงงานผลิตรถยนต์ในจีนเพิ่ม 3 แห่ง ในมณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซี และหนานหนิงเขตกวางสี กำลังการผลิตสูงสุด 250,000 คันต่อปี
เมื่อประสบความสำเร็จในจีนแล้ว บริษัทก็เริ่มบุกตลาดโลก โดยภูมิภาคแรกที่บริษัทเลือกไปก็คือ อาเซียน โดยมีประเทศไทยก็เป็นประเทศแรก เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และได้เข้าสู่ไทยในชื่อ บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด พร้อมกับเปิดตัว NETA V เป็นรุ่นแรก ซึ่งสร้างความฮือฮาด้วยราคาที่ว้าวตลาด กับการเปิดตัวที่ 549,000 บาท พร้อมกับจัดตั้งศูนย์บริการ 24 แห่ง ทั่วประเทศในปีแรก
NETA ได้เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร ในปี 2023 โดยมีกำลังผลิต 20,000 คันต่อปี เพื่อจำหน่ายในไทยและในตลาดอาเซียน โดยในปี 2024 NETA ได้เริ่มผลิต NETA V-II (รุ่นปรับปรุงของ Neta V) จากโรงงานในประเทศไทย และเริ่มส่งมอบให้กับลูกค้าชาวไทย
และในปี 2023 เนต้าสามารถทำยอดขายในไทยได้ถึง 12,777 คัน ขึ้นแท่นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดจดทะเบียนสูงสุดเป็นอันดับสองในประเทศไทย รองจาก BYD แต่ถัดมาเพียงแค่ปีเดียวหรือ ในปี 2024 อีวีจีนเจอกับมรสุมทั้งสงครามราคา และสถานการณ์หนี้เสียในไทย ทำให้ยอดขายของ NETA ลดลงเกือบครึ่ง เหลือ 7,969 คัน
ขาดทุนต่อเนื่อง หนี้สินท่วมหัว
ยอดขายของเนต้าเข้าสู่สถานการณ์วิกฤต จากตัวเลขสูงสุดเมื่อปี 2022 ขายได้ทะลุ 152,000 คัน ถัดมาปี 2023 ยอดขายลดลงเหลือ 127,500 คัน และในปีที่แล้ว ปี 2024 หายไปเกือบครึ่ง คือเหลือเพียงแค่ 60,000 คัน และในเดือนมกราคม 2025 ที่ผ่านมายอดขายของเนต้าลดเหลือแค่ 110 คัน เท่านั้น
สื่อของจีนรายงานว่าบริษัทแม่ของ Neta อย่าง Hozon Auto เองก็ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นทุกปีในจีน โดยปี 2021 ขาดทุน 4.84 พันล้านหยวน (2.3 หมื่นล้านบาท), ปี 2022 ขาดทุน 6.67 พันล้านหยวน (3.17 หมื่นล้านบาท) และปี 2023 ขาดทุน 6.87 พันล้านหยวน (3.27 หมื่นล้านบาท) ส่วนเงินสำรองอยู่ที่ 2.83 พันล้านหยวน (1.34 หมื่นล้านบาท)
จากปัญหาภายนอกยังมีปมความขัดแย้งภายในองค์กร สื่อรายงานว่า เนต้าเจอกับยอดขายที่ค่อย ๆ ลดลงเพราะสงครามราคา และส่งผลทำให้ซีอีโอของเนต้า จางหย่ง ต้องลาออกจากตำแหน่ง ในปี 2024 และมี ฟาง หยุ่นโจว (Fang Yunzhou) ผู้ก่อตั้งและประธานของ NETA Auto เข้ามารับตำแหน่งแทน เพื่อแก้สถานการณ์ไปก่อน
แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะยิ่งดำดิ่ง เพราะซีอีโอคนใหม่ต้องการจะทุ่มสุดตัวด้วยเดิมพันครั้งสุดท้าย คือ มุ่งไปที่การลุยตลาดต่างประเทศ แต่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทมองว่าเสี่ยงเกินไป และต้องการให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างหนี้สินอย่างจริงจัง มากกว่าการเผาผลาญงบ กลายเป็นความขัดแย้งยิ่งใหญ่ในระดับนโยบาย และทำให้องค์กรไม่สามารถเดินหน้าได้ รายงานข่าวระบุว่าหลังจากบริษัทขาดสภาพคล่อง พนักงานของ NETA ในจีนก็ไม่ได้รับเงินเดือนอีกเลยนับตั้งแต่ปลายปี 2024 และมีการประท้วงเรียกร้องเงินเดือนค้างจ่าย พร้อมด้วยการปลดพนักงานครั้งใหญ่ คือ เกือบครึ่งหนึ่งของพนักงานทั้งหมด
ข่าวเรื่องวิกฤตของเนต้าเริ่มหลุดและย้ำชัดออกมามากขึ้น เช่น การฟ้องร้องของบริษัทโฆษณาในจีน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะมีการค้างชำระค่าบริการกว่า 5 ล้านหยวน (ราว 27 ล้านบาท ) ทั้งที่เป็นบริษัทระดับพันล้านเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักของสภาพคล่องบริษัท ก่อนที่จะมีมีข้อมูลรายงานระบุว่าบริษัท Hozon Auto มีหนี้สินสะสมเกือบ 1 หมื่นล้านหยวน ( 4.56 หมื่นล้านบาท) ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องและขาดทุนอย่างหนัก จนนำไปสู่การล้มละลายอย่างเป็นทางการในวันนี้นั่นเอง
สงครามราคาอีวีจีน หวั่นบานปลายสู่วิกฤต
สื่อต่างประเทศรวมถึงสื่อของจีน รายงานว่าทางการจีนได้ส่งสัญญาณว่าต้องการจะหยุดสงครามราคาในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยต้องการจะสร้างสมดุลระหว่างส่งเสริมการแข่งขัน กับการป้องกันการทำลายตัวเองของอุตสาหกรรม ผ่านการออกคำเตือน และกำหนดให้ค่ายรถต่าง ๆ ต้องชำระหนี้ซัพพลายเออร์ภายใน 60 วัน หลังจากพบว่าอุตสาหกรรมรถอีวีของจีนตอนนี้กำลังเผชิญกับสถานการณ์ เงินทุนหมุนเวียนติดลบ ทำให้ซัพพลายเออร์ต้องแบกหนี้ค้างชำระนานกว่า 200 วัน นอกจากนี้ยังจะมาลดความเสี่ยงของอุตสาหกรรม ที่อาจจะรุนแรงลุกลามไปไกลเหมือนกับวิกฤต Evergrande หรือวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในจีนก่อนหน้านี้ได้
ล่าสุดสำหรับประเทศไทย จนถึงตอนนี้ ณ เดือนกรกฎาคม NETA Auto (Thailand) ยังคงยืนยันว่าการดำเนินงานและธุรกิจในประเทศไทยต่อไปและยืนยันไม่ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทแม่ที่ล้มละลายในจีน แต่กระทบหนักสุดคงเป็นเจ้าของรถ NETA กว่า 22,000 คัน รวมไปถึงการฟ้องร้องจากผู้เสียหายหลายราย ขณะที่ทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ก็ยืนยันกำลังติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงปมด้านมาตรการภาษี เนื่องจากเนต้าได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการ EV 3.0 โดยมีข้อผูกพันว่าจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จำนวน 19,000 คัน ภายใน สิ้นปี 2568 แต่ข้อมูลล่าสุด ณ กลางปี 2568 ระบุว่า NETA Auto Thailand ได้ผลิตรถไปได้เพียงแค่กว่า 4,000 คัน เท่านั้น
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
