รีเซต

สกสว. หนุนม.ราชภัฏนครปฐม ปักธงทำงานวิจัยตอบโจทย์ชุมชน

สกสว. หนุนม.ราชภัฏนครปฐม ปักธงทำงานวิจัยตอบโจทย์ชุมชน
TNN ช่อง16
28 เมษายน 2566 ( 15:57 )
90
สกสว. หนุนม.ราชภัฏนครปฐม ปักธงทำงานวิจัยตอบโจทย์ชุมชน

ผศ. ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พรัอมคณะเจ้าหน้าที่เดินทางเยี่ยมชมพื้นที่และติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานในระบบ ววน. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เพื่อรับฟังการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรค ตลอดจนข้อท้าทายที่อยากให้ สกสว.ปรับปรุงการดำเนินงานอย่างเหมาะสม

ด้าน ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมพยายามปักธงให้งานวิจัยในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ ขับเคลื่อนชุมชนและลดความเหลื่อมล้ำตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้ง 13 หมุดหมาย มีการจัดสรรทุนและติดตามผลการดำเนินงานภายใต้ความคาดหวังที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการติดตามผลในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อฝ่ายปฏิบัติการในเชิงพื้นที่และนักวิจัย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองให้เกิดงานวิจัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ขณะที่ ผศ. ดร.พิทักษ์พงศ์ ป้อมปราณี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เผยว่า มหาวิทยาลัยจะต้องมองภาพอนาคต 5 ปี ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร และงานวิจัยจะไปตอบโจทย์ในพื้นที่ได้อย่างไร เพื่อทำเรือธงให้กับโครงการต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนงานวิจัย โดยตนจะเข้าร่วมประชุมการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย

ในโอกาสนี้คณะของ สกว.ได้รับฟังการนำเสนอโครงการวิจัยที่สำคัญ เช่น แพลตฟอร์มเชิงบูรณาการเพื่อสนับสนุนการสร้างกำลังคนเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อยกระดับสวนป่าสมุนไพร การใช้ปัญญาประดิษฐ์คัดแยกผู้ป่วยที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ปัญญาประดิษฐ์ฐานคิดของเด็กไทย สื่อการเรียนรู้เพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงของเด็กวัยรุ่น ระบบฟาร์มอัจฉริยะ

นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการการจัดการการตลาดผักปลอดภัยจังหวัดนครปฐม ผ้าทอมือสีธรรมชาติเชิงสร้างสรรค์และออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับการท่องเที่ยวนวัตวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง เส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาศิลป์จังหวัดนครปฐม กระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้วในครัวเรือน การผลิตข้าวหลามแบบอนุรักษ์พลังงานที่ลดมลพิษทางอากาศและขยะจากกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ 

ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง