นาซาสร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศติดตามและค้นหาดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตรายกับโลก
อวกาศยังคงเป็นพรมแดนใหม่ที่รอการค้นพบ ล่าสุดนาซาเตรียมสร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศนีโอ โซเวเยอร์ (NEO Surveyor) กล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นแรกที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำภารกิจติดตามและค้นหาดาวเคราะห์น้อยในอวกาศที่เข้าใกล้และอาจเป็นอันตรายกับโลก
ปัจจุบันโครงการอยู่ในช่วงของการผ่านกระบวนการตรวจสอบด้านเทคนิคและซอฟต์แวร์ และกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบกล้องและการผลิตในขั้นสุดท้าย รวมไปถึงการตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานทางเทคนิค ต้นทุน และกำหนดการของภารกิจ
โครงการพัฒนากล้องโทรทรรศน์อวกาศนีโอ โซเวเยอร์ (NEO Surveyor) อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานประสานงานการป้องกันดาวเคราะห์ (PDCO) สำนักงานใหญ่นาซา กรุงวอชิงตัน
หากกล้องโทรทรรศน์อวกาศนีโอ โซเวเยอร์ (NEO Surveyor) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศมันจะเดินทางไปยังตำแหน่งจุดลากรองจ์ 1 หรือ L1 Lagrange ตำแหน่งระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ตำแหน่งนี้กล้องจะอยู่บริเวณด้านหน้าของโลกตลอดเวลา มักใช้เป็นตำแหน่งของดาวเทียมที่ใช้สำรวจดวงอาทิตย์ โดยคาดว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศนีโอ โซเวเยอร์ (NEO Surveyor) จะปฏิบัติภารกิจนานประมาณ 5 ปี
อุปกรณ์ภายในกล้องคาดว่าจะสามารถสังเกตแถบอินฟราเรดที่ไวต่อความร้อนเพื่อให้ยานอวกาศสามารถติดตามดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางที่ไม่สะท้อนแสงสว่างออกมามากนัก ซึ่งในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดวัตถุเหล่านี้จะเรืองแสงเนื่องจากโดนความร้อนจากดวงอาทิตย์
การป้องกันดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสเป็นอันตรายกับโลกถูกบัญญัติเอาไว้ชัดเจนในเป้าหมายของนาซา โดยกำหนดเอาไว้ว่าจะต้องค้นหาดาวเคราะห์น้อยขนาด 140 เมตรขึ้นไปให้ได้อย่างน้อย 90% ในรัศมี 30 ล้านไมล์ หรือ 48 ล้านกิโลเมตร จากวงโคจรของโลก โดยทีมนักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าดาวเคราะห์น้อยในขนาดดังกล่าวสามารถสร้างความเสียหายให้กับโลกได้หากมันพุ่งชนโลก
ที่มาของข้อมูล Interestingengineering
ที่มาของรูปภาพ JPL