รีเซต

ฮับเบิลไขความลับดาวเสาร์วงแหวนทำให้บรรยากาศของดาวร้อนขึ้น

ฮับเบิลไขความลับดาวเสาร์วงแหวนทำให้บรรยากาศของดาวร้อนขึ้น
TNN ช่อง16
2 เมษายน 2566 ( 01:12 )
60
ฮับเบิลไขความลับดาวเสาร์วงแหวนทำให้บรรยากาศของดาวร้อนขึ้น

นักดาราศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจากนาซาได้ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ IUE หรือ International Ultraviolet Explorer รวมไปถึงยานอากาศในภารกิจต่าง ๆ ที่ปลดประจำการไปมาทำการประมวลร่วมกันโดยมุ่งศึกษาไปที่รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ก่อนได้ข้อสรุปว่าวงแหวนของดาวเสาร์ทำให้บรรยากาศของดาวร้อนขึ้น


การค้นพบครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบว่าวงแหวนขนาดใหญ่มีผลต่ออุณหภูมิของชั้นบรรยากาศดาว ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ข้อมูลการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างดาวเสาร์และวงแหวนของมันมาก่อน ซึ่งอาจเป็นเครื่องมือในการทำนายว่าดาวเคราะห์รอบดาวดวงอื่นมีระบบวงแหวนคล้ายดาวเสาร์หรือไม่


หลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเป็นรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ส่วนเกิน ซึ่งสามารถมองเห็นเป็นเส้นสเปกตรัมของไฮโดรเจนร้อนในชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ พื้นที่บริเวณสีเข้มหมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์จากวงแหวนขนาดใหญ่ภายนอกของดาวทำให้ชั้นบรรยากาศในบริเวณนั้นร้อนขึ้นกว่าพื้นที่อื่น ๆ


สำหรับภาพถ่ายรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ส่วนเกินบนดาวเสาร์ นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลจากภารกิจอวกาศ 4 ภารกิจ รวมถึงการสังเกตการณ์จากยานสำรวจโวเอเจอร์ของนาซา 2 ลำ ที่บินผ่านดาวเสาร์ในปี 1980 และตรวจวัดรังสียูวีส่วนเกิน ขณะเดียวก็ใช้ข้อมูลจากยานแคสสินีในปี 2004 ที่ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรังสียูวีในชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์เป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ตามข้อมูลจากภารกิจยานสำรวจดังกล่าวข้างต้นยังไม่เพียงพอ


นักวิทยาศาสตร์จึงใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบ Imaging Spectrograph (STIS) การสังเกตการณ์รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ส่วนเกินบนดาวเสาร์ เพื่อทำการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากยานสำรวจก่อนหน้านี้


เมื่อนำข้อมูลจากยานสำรวจและกล้องโทรทรรศน์อวกาศทั้ง 2 ตัว มาประมวลผลร่วมกันทำให้นักดาราศาสตร์สามารถยืนยันได้ว่าวงแหวนดาวเสาร์ทำให้บรรยากาศของดาวร้อนขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ส่วนเกินบนดาวเสาร์ยังช่วยนักดาราศาสตร์ศึกษาผลกระทบตามฤดูกาลของดวงอาทิตย์ที่มีต่อดาวเสาร์ได้เพิ่มมากขึ้น

 

ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ

nasa.gov  



ข่าวที่เกี่ยวข้อง