รีเซต

เปิดช่องทางทำรายได้ "ผู้กำกับโจ้" จากเงินสินบนและรางวัล กรมศุลกากร

เปิดช่องทางทำรายได้ "ผู้กำกับโจ้" จากเงินสินบนและรางวัล กรมศุลกากร
TrueID
26 สิงหาคม 2564 ( 13:01 )
237

คดี "ผู้กำกับโจ้" ยังคงเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ ทั้งรูปคดี การจับกุม และฐานะความเป็นอยู่ของ "ผู้กำกับโจ้" ว่ากันว่า ก่อนที่เขาจะมีฐานะในปัจจุบันได้มีการลงทุนนำเข้ารถจากประเทศเพื่อนมาปล่อยทิ้งไว้ แล้วแจ้งเพื่อหวังรางวัลนำจับ และรางวัลสินบน วันนี้ trueID รวบรวมข้อมูลของ เงินสินบนและรางวัล จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้รับทราบกัน

 

ก่อนหน้านี้ทางเพจ ลงทุนอะไรดีล? ได้ออกมาโพสต์ว่า

 

ย้อนรอยวิธีการลงทุนแบบ (ไม่ควร) ของ ผกก. โจ้ ลงทุน 4 แสน ได้กำไร 5 แสน ผ่านการซื้อรถหรู มีวิธีทำยังไง?
ตอนนี้ถือว่าเป็นกระแสข่าวที่แรงสุดกับคดีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ “ผู้กำกับ โจ้ เฟอร์รารี่” ที่มีคลิปเปิดเผยจากการใช้กำลังรีดทรัพย์จากผู้ต้องหายาเสพติดจนเสียชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายในสายตาของทุกคน
อ้างอิงจากข่าวของ MGR Online
ที่ ผกก. โจ้ได้มีวิธีการลงทุนใน “รถหรู และซูเปอร์คาร์” แบบที่ใครหลายคน คาดไม่ถึง โดยสรุปเป็นข้อตามนี้
1. เริ่มจากเลือกรถหรูที่ฝั่งมาเลเซีย เพราะราคาถูกกว่าไทย ยกตัวอย่าง รถยนต์ BMW ราคาอยู่ที่ 4 แสน
2. ลงทุนซื้อที่มาเลย์แล้วแอบลักลอบเอาเข้าไทย
3. จากนั้นทำคดีว่า “จับรถ” โดยไม่มีคนเกี่ยวข้อง ประมาณว่าเจอรถต้องสงสัยนำเข้าผิดกฎหมาย ทำให้รถถูกส่งให้ศุลกากร
4. ศุลกากรก็จะนำออกขายทอดตลาดด้วยวิธีประมูล
สมมุติว่า BMW คันดังกล่าว ประมูลได้ในราคา 2 ล้าน
5. สิ่งที่ผู้กำกับโจ้ จะได้คือ 45% ของราคา 2 ล้าน ซึ่งก็คือ 900,000 ทันที ผ่านรายละเอียดรางวัลตามนี้
- รางวัลนำจับ
- ค่าสายข่าว
จากการคำนวณ
- รถ BMW คันนี้ ลงทุน 400,000 บาท
- ได้รางวัลกลับคืน 45% ของ 2 ล้าน = 900,000 บาท
= กำไร 500,000 บาททันที
ลองคำนวณดูว่าในหนึ่งปีหากทำครบ 100 คัน จะได้กำรแบบง่าย ๆ ถึง 50 ล้านบาท ยิ่งถ้าเป็นรถหรูหรือซุปเปอร์คาร์ อย่าง ลัมบอร์กินี ปอร์เช่ เฟอร์รารี่ยิ่งได้ส่วนแบ่งมากกว่าที่ยกตัวอย่างหลาย 10 เท่า
นับว่าเป็นช่องทางการหาเงินสายสีเทาอีกทางนึงที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่ทราบมาก่อน และถือว่าเป็น สิ่งที่ผิด ที่เขียนบทความนี้ไม่ได้แนะนำให้ทำนะครับ
กลับมาหาความรู้เรื่องการลงทุนในหุ้น อสังหา หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือการทำงานในแบบที่ตัวเราถนัดและสบายใจกันดีกว่า
 
 
 

ระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. ๒๕๖๐

 

โดยที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งมีบทบัญญัติให้อํานาจ อธิบดีกรมศุลกากรมีอํานาจจ่ายเงินสินบนและรางวัลตามพระราชบัญญัตินี้

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ อธิบดีกรมศุลกากร โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กําหนดระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและ รางวัลไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. ๒๕๖๐”

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป

ข้อ ๓ เงินสินบนและรางวัล ตามมาตรา ๒๕๕ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้จ่ายตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(๑) ความผิดตามมาตรา ๒๔๒ มาตรา ๒๔๔ เฉพาะกรณีความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม และมาตรา ๒๔๖ ให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนและรางวัลร้อยละสี่สิบจากเงินค่าขายของกลาง โดยให้หักจ่าย เป็นเงินสินบนร้อยละยี่สิบ และเป็นเงินรางวัลร้อยละยี่สิบ แต่กรณีที่มิได้ริบของกลางหรือของกลาง ไม่อาจจําหน่ายได้ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับ

(๒) ความผิดตามมาตรา ๒๐๒ มาตรา ๒๔๓ และมาตรา ๒๔๔ เฉพาะกรณีความผิด ฐานหลีกเลี่ยงข้อจํากัดให้หักจ่ายเป็นเงินรางวัลร้อยละยี่สิบจากเงินค่าขายของกลาง แต่กรณีที่มิได้ริบของกลาง หรือของกลางไม่อาจจําหน่ายได้ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับ

(๓) กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาด และเจ้าหน้าที่ผู้สํารวจเงินอากรตรวจพบเป็นผลให้ เรียกอากรเพิ่มเติมได้ ให้จ่ายเงินรางวัลร้อยละสิบของเงินอากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บเพิ่มเติมได้

เงินสินบนและรางวัลตาม (๑) ให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนได้ไม่เกินคดีละห้าล้านบาท และหักง่าย เป็นเงินรางวัลได้ไม่เกินคดีละห้าล้านบาท เงินรางวัลตาม (๒) ให้หักจ่ายได้ไม่เกินคดีละห้าล้านบาท และ เงินรางวัลตาม (๓) ให้หักจ่ายได้ไม่เกินห้าล้านบาทต่อการตรวจพบ

ข้อ ๔ การจ่ายเงินสินบนและรางวัลตามข้อ ๓ (๑) และเงินรางวัลตามข้อ ๓ (๒) ให้จ่าย ดังนี้

(๑) การตรวจพบโดยการเข้าตรวจค้น หรือเข้าตรวจสอบสถานประกอบการ หรือสถานที่อื่น ที่เกี่ยวกับสถานประกอบการในครั้งหนึ่ง ๆ ต่อหนึ่งรายถือเป็นหนึ่งคดี

(๒) การตรวจพบในกรณีอื่น ๆ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จับกุมหรือตรวจสอบผู้ประกอบการครั้งหนึ่ง ๆ ต่อหนึ่งรายถือเป็นหนึ่งคดี

ข้อ ๕ การจ่ายเงินรางวัลต่อการตรวจพบตามข้อ ๓ (๓) ให้จ่ายเฉพาะการตรวจเก็บอากรขาด โดยเจ้าหน้าที่ผู้สํารวจเงินอากรประจําสํานัก หรือสํานักงาน ต่อหนึ่งผู้ประกอบการในครั้งหนึ่ง ๆ ถือเป็นหนึ่งการตรวจพบ

ข้อ ๖ เงินสินบนตามข้อ ๓ (๑) ให้จ่ายแก่ผู้แจ้งความนําจับตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

(๑) ผู้แจ้งความนําจับจะต้องมิใช่เจ้าพนักงานซึ่งมีอํานาจหน้าที่จับกุมการกระทําความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรในกรณีความผิดนั้น ๆ

(๒) ผู้แจ้งความนําจับจะต้องนําความมาแจ้งต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอํานาจหน้าที่จับกุม การกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรในกรณีความผิดนั้น ๆ โดยชัดแจ้งและมีผลทําให้ การจับกุมนั้นสําเร็จ และความผิดที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องไม่เป็นความผิดที่เจ้าพนักงานของหน่วยงานนั้น ย่อมจะตรวจพบได้เป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว เช่น ความผิดเกี่ยวกับการตรวจปล่อยของ การตรวจของ ผู้โดยสาร เป็นต้น

(๓) ในกรณีที่มีการจับกุมเป็นผลสําเร็จ เนื่องมาจากการแจ้งความของผู้แจ้งความนําจับหลายราย อธิบดีกรมศุลกากรมีอํานาจแบ่งเงินสินบนให้ผู้แจ้งความนําจับแต่ละรายตามที่เห็นสมควร

(๔) ในกรณีที่บุคคลหลายคนอ้างเป็นผู้แจ้งความนําจับการกระทําผิดรายเดียวกันให้อธิบดีกรมศุลกากร เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ใดเป็นผู้แจ้งความนําจับที่แท้จริง

ข้อ ๗ เงินรางวัลตามข้อ ๓ (๑) และ (๒) ให้จ่ายแก่เจ้าพนักงานตามหลักเกณฑ์และ เงื่อนไข ดังนี้

(๑) เป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอํานาจหน้าที่จับกุมการกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ในกรณีความผิดนั้น หรือเป็นผู้สั่งการให้จับกุม หรือตรวจพบการกระทําความผิด หรือร่วมจับกุม หรือ ช่วยเหลือให้การจับกุมนั้นเป็นผลสําเร็จ

(๒) เป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งมีส่วนร่วมในการวางแผนหรือดําเนินการก่อนการจับกุม ให้เจ้าพนักงาน ผู้ร่วมในการวางแผนหรือดําเนินการดังกล่าวมีสิทธิได้รับเงินรางวัลด้วย

(๓) เป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งผู้สั่งการหรือผู้จับกุมเห็นว่า ได้ดําเนินการภายหลังการจับกุม เป็นประโยชน์ให้การจับกุมนั้นเป็นผลสําเร็จ ให้มีสิทธิรับเงินรางวัลด้วย เช่น เจ้าพนักงานผู้ทําหน้าที่ รวบรวมพยานหลักฐานทางคดีเพื่อทราบข้อเท็จจริง หรือพิสูจน์ความผิด และเอาตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษ เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องกับการดําเนินคดีผู้กระทําความผิด เป็นต้น

(๔) อธิบดีกรมศุลกากรจะจ่ายเงินรางวัลให้แก่บุคคลอื่นที่ได้ช่วยเหลือในการจับกุม หรือ การตรวจพบเป็นผลสําเร็จ โดยอนุโลมตามระเบียบนี้

(๕) เงินรางวัลจะไม่จ่ายให้ในกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาเห็นว่าความผิดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความผิดที่ย่อมจะตรวจพบได้เป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว เช่น ความผิดเกี่ยวกับการตรวจปล่อยสินค้า การตรวจของผู้โดยสาร เป็นต้น

ข้อ ๘ เงินรางวัลตามข้อ ๓ (๓) ให้จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ผู้สํารวจเงินอากรและได้ตรวจพบ การเก็บอากรขาดภายหลังจากการปล่อยของไปจากอารักขาศุลกากรแล้วตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

(๑) พนักงานศุลกากรผู้ตรวจเก็บอากรขาดประจําสํานัก หรือสํานักงาน หรือพนักงานศุลกากร ผู้มีหน้าที่ดําเนินการและติดตามเรียกเก็บอากรขาดเพิ่มเติมได้

(๒) พนักงานศุลกากรตาม (๑) จะต้องไม่ใช่พนักงานศุลกากรที่มีอํานาจหน้าที่ปกติเกี่ยวกับ พิธีการนําเข้า ส่งออก การวิเคราะห์สินค้า และการตรวจปล่อยของ

ข้อ ๙ เงินรางวัลตามข้อ ๓ ในคดีหรือการตรวจพบในครั้งหนึ่ง ๆ ให้จ่ายได้เฉพาะตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๓) ข้อหนึ่งข้อใดเท่านั้น

กรณีคดีตามข้อ ๓ (๑) และ (๒) หากมีการแยกการลงโทษตามฐานความผิดต่างกัน ให้จ่ายได้ตาม ฐานความผิดแต่ละฐาน ทั้งนี้ เงินรางวัลที่จ่ายจะต้องไม่เกินคดีละห้าล้านบาท

ข้อ ๑๐ เงินสินบนและรางวัลตามข้อ ๓ (๑) และเงินรางวัลตามข้อ ๓ (๒) จะจ่ายให้ เมื่อคดีถึงที่สุดและได้จําหน่ายของกลางและหรือได้มีการชําระค่าปรับเรียบร้อยแล้ว ส่วนเงินรางวัล ตามข้อ ๓ (๓) จะจ่ายให้เมื่อคดีเป็นที่ยุติและกรมศุลกากรเรียกเก็บเงินอากรเพิ่มเติมได้แล้ว โดยเงิน ที่เรียกเก็บเพิ่มเติมได้ดังกล่าวจะต้องไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หรือการพิจารณาของศาล ทั้งนี้ ทุกกรณีมีหลักฐานเป็นที่พอใจของอธิบดีกรมศุลกากร

ข้อ ๑๑ ในกรณีที่เห็นสมควร อธิบดีกรมศุลกากรจะชะลอการจ่ายเงินสินบนและรางวัลทั้งหมด หรือบางส่วนไว้พลางก่อนก็ได้

ข้อ ๑๒ เงินสินบนและรางวัลจะไม่จ่ายให้ ถ้าผู้มีสิทธิไม่มารับเงินภายในกําหนด ๑ ปี นับแต่วันที่ กรมศุลกากรปิดประกาศ ณ สถานที่ทําการของหน่วยงานที่จ่ายเงินสินบนและรางวัล หรือมีหนังสือแจ้งว่า เป็นผู้มีสิทธิจะได้รับเงินสินบนและรางวัล

ข้อ ๑๓ เงินสินบนและรางวัลซึ่งจะต้องจ่ายตามระเบียบนี้ หากมีการจ่ายตามคําพิพากษาของศาล หรือตามระเบียบของส่วนราชการอื่นแล้ว ห้ามมิให้จ่ายตามระเบียบนี้อีก

ข้อ ๑๔ อธิบดีกรมศุลกากรมีอํานาจชี้ขาดว่าเจ้าพนักงานใดมีสิทธิได้รับเงินรางวัลหรือไม่ ในฐานะอะไร และกําหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเงินรางวัลให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัล ตามบัญชีแนบท้ายระเบียบนี้

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ หรือกรณีที่มิได้มีกําหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้อธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

ข้อ ๑๕ การตรวจพบการกระทําความผิด หรือตรวจพบการเก็บอากรขาดก่อนวันที่ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ ใช้บังคับให้จ่ายเงินสินบนและรางวัลตามระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. ๒๕๑๗ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๗

ข้อ ๑๖ ให้อธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

 

ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐

    กุลิศ สมบัติศิริ

อธิบดีกรมศุลกากร

 

ข้อมูล : ราชกิจจานุเบกษา , ลงทุนอะไรดีล?

ภาพโดย Prawny จาก Pixabay 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง