โคโรนา : WHO เตือนโอกาสในการสกัด COVID-19 กำลัง “หดแคบลง” หลังระบาดไปยุโรป-ตะวันออกกลาง
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization--WHO) และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด กังวลว่าการระบาดของไวรัสโคโรนากำลังขยับเข้าใกล้สู่ระดับการระบาดใหญ่ (pandemic) หลังเห็น การแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน
ดร. เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่ World Health Organization—WHO กล่าวว่า "หน้าต่างแห่งโอกาสในการสกัดกั้นไวรัสนี้กำลังหดแคบเรื่อย ๆ"
ศ. พอล ฮันเตอร์ แห่ง มหาวิทยาลัยอีส แองเกลีย ในสหราชอาณาจักร เห็นด้วยกับความเห็นของ ผอ. ใหญ่ของ WHO และเสริมว่า การพุ่งขึ้นของผู้ติดเชื้อใหม่นอกประเทศจีนเป็น "เรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง"
- โคโรนา : เทศกาลเวนิส คาร์นิวัลกร่อย ทางการสั่งยุติงานก่อนกำหนด สกัดโควิด-19
- โคโรนา: เกาหลีใต้ยืนยันพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ด้านองค์การอนามัยโลกหวั่นควบคุมการระบาดไม่อยู่
- โคโรนา : สี จิ้นผิง ยอมรับโควิด-19 เป็น "ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุด" ของจีนในรอบ 70 ปี
การระบาดใหญ่ (pandemic) คือ เมื่อโรคร้ายสามารถแพร่กระจายจากคนไปสู่คนได้อย่างง่ายดาย ไปในหลายส่วนของโลก
ในจีนซึ่งเป็นแหล่งเกิดเชื้อไวรัสโคโรนา ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 77,000 คน และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 2,600 คน ส่วนอีก 30 ประเทศทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อรวมกันมากกว่า 1,200 คน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 20 คนแล้ว
เช้าวันนี้ (24 ก.พ.) อิตาลียืนยันมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย รวมเป็น 5 ราย ในขณะที่อิรัก อัฟกานิสถาน คูเวต และบาห์เรน ต่างก็รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อรายแรกแล้ว คนไข้ทั้งหมดมาจากอิหร่าน
อัตราการตายต่อผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 1-2 % แต่อย่างไรก็ตาม WHO เตือนว่ายังไม่สามารถยืนยันอัตราการตายที่แท้จริงได้
ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นคนเกาหลีใต้ต่อแถวยาวรอเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตที่เมืองแทกู ศูนย์กลางการระบาดของไวรัสโคโรนา แทกูได้รับการจัดอันดับเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของเกาหลีใต้ และเมืองใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ
ไทยยืนยันยังไม่เข้าสู่การระบาดระยะ 3
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีผู้แทนจาก สธ. กระทรวงกลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระเข้าร่วมการประชุม โดยมีวาระสำคัญคือการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ
นายอนุทินกล่าวว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้เพิ่มโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้สามารถใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
นายอนุทินยืนยันว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 คือพบผู้ติดเชื้อในประเทศในวงจำกัด แต่แนวโน้มการระบาดในต่างประเทศมีมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการระบาดของประเทศไทย
รมว. สธ.อธิบายเพิ่มเติมว่าการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายจะส่งผลให้
•เจ้าหน้าที่สามารถค้นหาผู้ป่วย สอบสวน และควบคุมโรคได้เร็ว
•เจ้าบ้าน/ ผู้ควบคุมดูแลบ้าน/แพทย์ผู้ทำการรักษาที่บ้าน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล/ ผู้ทำการชันสูตร/ ผู้รับผิดชอบสถานที่ชันสูตร และเจ้าของ/ผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ภายใน 3 ชั่วโมงนับตั้งแต่พบผู้ป่วยหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย
•เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อจะมีอำนาจในการดำเนินการหรือออกคำสั่ง เช่น ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นโรคมารับการตรวจชันสูตร แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต และกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ผู้ว่าราชการจังหวัด/กทม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. มีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบการ โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดเป็นการชั่วคราว และสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรหยุดประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว
"ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก การประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าไทยควบคุมโรคไม่ได้จนเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่มาตรการที่เราทำอยู่เป็นการทำงานเชิงรุก ล่วงหน้ามากกว่าสถานการณ์จริงไปอีกขั้นหนึ่ง ที่สำคัญจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าควบคุมโรคได้ทันท่วงที ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายในวงกว้าง เช่นที่เกิดในบางประเทศ" นายอนุทินกล่าว
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมในไทย ณ วันที่ 24 ก.พ. อยู่ที่ 35 คน