F-16 VS Gripen E/F ฉบับปี 2025 ต่างกันตรงไหน ในบริบทสงครามการค้าของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

เครื่องบิน F-16 Block 70/72 จากสหรัฐอเมริกา และเครื่องบิน Gripen E/F ของสวีเดน กลับมากลายเป็นประเด็นคู่เปรียบเทียบของเครื่องบินรบในบริบทใหม่ล่าสุด หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ดำเนินนโยบายสงครามการค้าและมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เข้มข้นมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่การซื้อยุทโธปกรณ์ของประเทศต่าง ๆ
เป้าหมายการพัฒนา F-16 กับ Gripen
เครื่องบินขับไล่ F-16 บล็อก 70/72 (F-16 Block 70/72) ยาส 39 กริพเพ่น อี/เอฟ (JAS 39 Gripen E/F) ต่างเป็นเครื่องบินขับไล่แบบพหุภารกิจ (Multi-role fighter) ยุคที่ 4.5 แม้จะมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งในแง่อาวุธที่รองรับ ระบบการเชื่อมต่อสื่อสาร และระบบควบคุมการบินภายในห้องนักบิน แต่เป้าหมายของการใช้งานเครื่องบินนั้นต่างกัน
ทางด้านเครื่องบิน Gripen เกิดขึ้นมาในบริบทที่สวีเดนต้องการเครื่องบินขับไล่เพื่อการป้องกันทางอากาศ ซึ่งหมายถึงว่า Gripen จะต้องพร้อมขึ้นบินจากทุกพื้นที่ต่อให้ไม่มีทางขึ้นและทางลง (Runway) สามารถปฏิบัติภารกิจกลางอากาศได้นาน ทำงานได้ไว และใช้งบประมาณดูแลรักษาไม่มากเกินไป
ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ใช้ในการเตรียมบินก็คือ 20 นาทีเท่านั้น ตามการระบุของซาบ (Saab) ซึ่งนับว่าไวกว่า F-16 และยังใช้ระยะรันเวย์สั้นมาก โดยมีระยะขึ้นบินอยู่ที่ 500 เมตร และลงจอดที่ระยะ 600 เมตร
ในขณะที่ F-16 ไม่มีได้มีจุดเด่นเหล่านี้เหมือน Gripen แต่ก็มีความโดดเด่นในสนามรบหรือพื้นที่ปฏิบัติการที่คล่องตัว รวดเร็ว ซึ่งเป็นบทบาทในฐานะอากาศยานครองอากาศ (Air superiority)
เครื่องยนต์ของ F-16 กับ Gripen
เป้าหมายการพัฒนาที่ต่างกันทำให้เครื่องบินขับไล่ทั้ง 2 รุ่น เลือกใช้เครื่องยนต์ที่ต่างกัน แม้ว่าจะเป็นเครื่องยนต์เจ็ตแบบเทอร์โบแฟน (Turbofan) เหมือนกันก็ตาม
โดยเครื่องบิน F-16 เลือกใช้เครื่องยนต์แบรนด์ Pratt & Whitney รุ่น F100-PW-229EEP ที่มีอัตราเร่งที่ดี สร้างความเร็วสูงสุด 2.05 มัค หรือประมาณ 2,511 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักขึ้นบินสูงสุด (Maximun Take Off Weight: MTOW) 19,187 กิโลกรัม
ในขณะที่เครื่องบิน Gripen เลือกใช้เครื่องยนต์ General Electric รุ่น F414G ความเร็วสูงสุด 2 มัค หรือประมาณ 2,450 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักขึ้นบินสูงสุด (Maximun Take Off Weight: MTOW) 16,500 กิโลกรัม
ชิ้นส่วนและอะไหล่ของ Gripen
เครื่องบินขับไล่ทั้ง 2 รุ่น มีจุดที่เหมือนกันตรงที่ต่างใช้เครื่องยนต์ของบริษัทสัญชาติอเมริกัน เช่น Pratt & Whitney และ General Electric ซึ่งจะนำไปสู่ประเด็นสำคัญของหลายประเทศในปี 2025 ที่ต้องพิจารณา คือ ความเป็นอิสระในการจัดหาและซ่อมบำรุงชิ้นส่วนแต่ละชิ้นของเครื่องบินรบ
ที่ผ่านมาแม้ว่าเครื่องยนต์ General Electric F414G จะเป็นเครื่องยนต์จากสหรัฐอเมริกา แต่บริษัท Saab ผู้ผลิตเครื่องบิน Gripen ก็สามารถมีสิทธิ์ในการผลิตเครื่องยนต์ในประเทศได้อย่างอิสระ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดการจัดซื้อเครื่องบินของโคลอมเบียกลับไม่ได้อิสระอีกต่อไป เมื่อสหรัฐอเมริกาบอกให้ประเทศสวีเดนทบทวนสิทธิ์ในการผลิตของบริษัท Saab และห้ามส่งไปขายยังโคลอมเบีย
ทั้งนี้ โคลอมเบียนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐอเมริกาก็เสนอขายเครื่องบิน F-16 เช่นกัน แม้ว่าโคลอมเบียยังคงยืนยันว่าจะเลือกเครื่องบิน Gripen และบริษัท Saab ก็กำลังเร่งเจรจาเพื่อหาทางออกในประเด็นดังกล่าว ในขณะที่ชิ้นส่วนอื่น ๆ ของ Gripen นำเข้ามาประกอบจากประเทศในกลุ่ม NATO ในยุโรปเป็นหลัก โดยเฉพาะอังกฤษ ส่วนเครื่องบิน F-16 มีชิ้นส่วนจากบริษัทในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก
ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Gripen
จำนวนการผลิตและผู้ใช้งาน F-16 VS Gripen
ปัจจุบันเครื่องบิน F-16 ทุกรุ่นมีจำนวนมากกว่า 1,000 ลำ ประจำในกองทัพทั่วโลก ทั้งในปัจจุบันและอนาคตรวม 31 ชาติ แต่หากนับเครื่องบิน F-16 ที่ผลิตออกมาทุกรุ่นรวมที่ปลดประจำการไปแล้วในอดีตจะมีจำนวนมากกว่า 4,000 ลำ โดยในปัจจุบันเครื่องบิน F-16 รุ่น Block 70/72 จะผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น ไม่มีการผลิตเข้ากองทัพอากาศสหรัฐฯ และมีแผนทยอยปลดประจำการทั่วโลกในเครื่องบิน F-16 รุ่นเก่า ๆ รวมถึงในไทยด้วยส่วน Gripen มีทั้งหมด 71 ลำ ประจำการในกองทัพอากาศ 6 ชาติ รวมถึงไทย ผลิตมาทั้งหมดประมาณ 300 ลำ และมีแผนจะผลิตเพิ่มเติม โดยมีโรงงานผลิตหลักในสวีเดนและบราซิล
ค่าใช้จ่ายของ F-16 VS Gripen
ในด้านราคาจัดซื้อต่อลำเครื่องบิน F-16 Block 70/72 จะอยู่ที่ประมาณ 5,800 ล้านบาท ส่วนเครื่องบิน Gripen E/F อยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงของเครื่องบิน F-16 Block 70/72 จะอยู่ที่ประมาณ 249,000 บาท และเครื่องบิน Gripen E/F ประมาณ 160,000 บาท ตามที่ TNN Tech เคยรายงานก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ราคาที่รายงานไม่ได้เป็นราคากลาง หรือราคาเฉลี่ย เป็นเพียงไม่ใช่ราคาที่เปิดเผยในอดีตหรือที่แต่ละประเทศรายงาน ซึ่งแต่ละประเทศก็มีเงื่อนไขจัดซื้อที่ต่างกันออกไป ทำให้ราคาไม่เหมือนกันด้วย