รีเซต

ขั้นตอนการ "ซื้ออาหารในห้างสรรพสินค้า" พื้นที่ “ล็อกดาวน์” 29 จังหวัด ทำเองง่าย ไม่ยุ่งยาก

ขั้นตอนการ "ซื้ออาหารในห้างสรรพสินค้า" พื้นที่ “ล็อกดาวน์” 29 จังหวัด ทำเองง่าย ไม่ยุ่งยาก
Ingonn
5 สิงหาคม 2564 ( 14:46 )
1.1K

 

เป็นความวุ่นวายอีกระดับสำหรับคนที่ต้องการสั่งอาหารในห้างสรรพสินค้า แต่ต้องสั่งผ่านบริการเดลิเวอรี่เท่านั้น แต่สำหรับบางคนที่ต้องการสั่งนอกเหนือจากเมนูที่ในแอปเดลิเวอรี่กำหนด หรือต้องการซื้ออาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ตสามารถทำได้หรือไม่ ต้องทำอย่างไรบ้าง

 

 

วันนี้ TrueID จะมาเปิดรายละเอียดการซื้ออาหารในห้างสรรพสินค้าได้ แต่มีเงื่อนไข และขั้นตอนการป้องกันโควิด-19 จะมีอะไรบ้างไปดูก่อน

 

 

 

เข้าใจมาตรการร้านอาหาร หลังเริ่ม “ล็อกดาวน์” รอบใหม่


สำหรับมาตรการร้านอาหาร ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2564 ได้กำหนดให้ทุกพื้นที่ปฏิบัติตาม มี 3 ประเด็น คือ 

 

1.การจัดที่นั่งบริโภคในร้านอาหาร 


2.ระยะเวลาการให้บริการ 


3.การบริโภคสุรา 

 

 

โดยกำหนดแบ่งเป็น 3 พื้นที่ ดังนี้

 

- พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 29 จังหวัด ห้ามบริโภคในร้านอาหาร จำหน่ายอาหารแบบนำไปบริโภคที่อื่น ส่วนในห้างสรรพสินค้าจำหน่ายได้เฉพาะเดลิเวอรีเท่านั้น และระยะเวลาให้บริการเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. ห้ามบริโภคสุราในร้าน

 

 

- พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด นั่งบริโภคในร้านได้ตามปกติ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 น. ห้ามบริโภคสุราในร้าน

 

 

- พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด นั่งบริโภคในร้านได้ เปิดได้ตามปกติภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ห้ามบริโภคสุราในร้าน

 

 

 

ล่าสุดทางศปก.ศบค. สรุปเรื่องการซื้ออาหารในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฉบับที่ 30  สามารถดำเนินการได้ดังนี้

 

1. ให้ซื้อตามระบบนำส่ง (Delivery) ไปส่งที่บ้านหรือที่ทำงาน

 

2. สามารถโทรสั่งร้านอาหาร ร้านอาหารในห้าง และ Supermarket  ให้นำมาส่งในที่ที่จัดให้รับอาหาร

 


แต่ผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ จะจัดเตรียมพื้นที่บริเวณซูเปอร์มาร์เก็ต กำหนดเป็นพื้นที่รอคิว ซึ่งมีบริเวณพักคอย เว้นระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดจนเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยร้านอาหาร เครื่องดื่ม ภายในห้าง/ศูนย์การค้า/คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถนำส่งอาหาร/เครื่องดื่ม  มาวางจำหน่าย ณ จุดที่จัดเตรียมพื้นที่ไว้ให้ภายใน/บริเวณซูเปอร์มาร์เก็ตได้

 

 

หลังจากที่เราทราบมาตรการจากภาครัฐกันไปแล้ว จะเห็นได้ว่าการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การสั่งอาหารผ่านระบบออนไลน์ การโทรสั่งโดยตรงกับทางร้าน หรือระบบมาตรการช่วยเหลือในการสั่งอาหารของทางร้าน เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดที่อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 ดังนั้นการสั่งอาหารในช่วงโควิดระบาด ให้ปลอดภัย ต้องคำนึงตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วย สำหรับพื้นที่ 29 จังหวัด ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ จะไม่จำหน่ายในรูปแบบหน้าร้าน แต่ให้สั่งอาหารผ่านการขนส่งอาหารหรือเดลิเวอรี โดยให้เปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. ไม่มีการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงเด็ดขาด

 

 


การซื้ออาหารที่ห้างสรรพสินค้าสามารถทำได้ 3 ลักษณะ


1.หากประชาชนเดินทางไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและต้องการสั่งอาหารด้วยนั้น ทางร้านอาหารต้องจัดพื้นที่ใกล้กับซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อวางอาหารสำเร็จรูปให้สามารถขายได้

 


2.ประชาชนสามารถโทรศัพท์สั่งอาหารโดยตรงกับทางร้าน และให้ทางร้านนำอาหารมาวางในจุดที่ห้างสรรพสินค้าจัดพื้นที่ไว้ให้และประชาชนไปรับได้

 


3.สั่งผ่านแอปพลิเคชันหรือไรเดอร์ให้ไปรับสินค้า ทั้งนี้ พื้นที่ที่จะวางอาหารของร้านที่สำคัญคือไม่ให้มีการมารอกันแออัดเยอะๆ

 

 


ซื้ออาหารในห้างด้วยตัวเอง ทำอย่างไรบ้าง


1.หลีกเลี่ยงการสั่งอาหารเสี่ยง เช่น อาหารปรุงไม่สุก อาหารเสียง่าย

 


2.ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน หลีกเลี่ยงการชำระด้วยเงินสด หรือการสัมผัสกับคนส่งอาหาร

 


3.มีจุดหรือภาชนะสำหรับรับอาหาร เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร

 


4.สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องระหว่างการรับอาหาร และหลีกเลี่ยงการพูดคุย

 


5.ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ก่อนและหลังรับอาหาร

 


6.ตรวจสอบคุณภาพอาหารก่อนรับอาหาร หรือก่อนบริโภคอาหาร เช่น การบรรจุหีบห่อ กลิ่นอาหาร ความสะอาด

 


7.รีบนำอาหารออกจากบรรจุภัณฑ์อาหารที่นำส่ง มาใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ทันที

 

 

 

ไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต แวะไปซื้ออาหารต่อในห้างได้ไหม?


กรมอนามัย ระบุว่า หากร้านอาหารในห้างสรรพสินค้านั้นๆ หรือตัวห้างสรรพสินค้าเอง มีระบบเดลิเวอรีเอง เช่น สั่งออนไลน์ หรือโทรศัพท์  และจัดจุดให้ผู้บริโภครับอาหาร ที่ไม่ต้องไปรอแออัดหน้าร้าน ก็สามารถทำได้ แต่ถ้าไม่มีระบบการจัดส่งข้างต้น ก็ไม่สามารถเปิดบริการขายได้ ต้องขายด้วยการใช้บริการผ่านฟู้ดเดลิเวอรี หรือไรเดอร์แทน

 

 


เจอไรเดอร์รวมกลุ่มสูบบุหรี่ ไม่สวมแมสก์ทำยังไง?


หากประชาชนพบพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงเกิดโรคระบาด ให้แจ้งไปที่จังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือหากอยู่ในเขตกทม. ให้แจ้งไปที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

 

 

จะมีโทษตามมาตรา 9 ในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร่วมกับพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะไปออกประกาศ โดยกำหนดชัดเจนว่า “กรณีอยู่นอกเคหะสถาน หากไม่สวมหน้ากากอนามัย ถือว่ามีความผิด” และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ออกระเบียบ ตามมาตรา 34(6) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา กำหนดความผิดในเรื่องการรวมกลุ่ม และไม่สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งการพูดคุย การสูบบุหรี่ หรือกิจกรรมนันทนาการใดๆ ก็ตาม โดยหากผิดครั้งแรกจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หากครั้งที่ 2 ปรับ 1,000 -10,000 บาท ครั้งที่ 3 ปรับ 10,000 -20,000 บาท

 

 


นี่เป็นการสรุปขั้นตอนการสั่งอาหารในช่วงโควิด-19 กำลังระบาด อาจจะมีข้อห้ามและขั้นตอนที่ยุ่งยาก แต่เพื่อให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง เราจึงควรร่วมมือกันปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุข 

 

 


ข้อมูลจาก กรมอนามัย , กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , ศปก.ศบค. , Hfocus , เพจไทยคู่ฟ้า

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง