M-commerce ฮอตฮิตในยุคการใช้ชีวิตนิวนอร์มอล
ธุรกิจการซื้อขายของออนไลน์ เรียกกันติดปากว่า เป็นอีคอมเมิร์ซ กลายเป็นธุรกิจที่เติบโต เกินหน้าเกินตาธุรกิจอื่นๆ ในปี 2563 เพราะผู้คนทั่วโลกจำเป็นต้องจับจ่ายซื้อของผ่านช่องทาง ออนไลน์แทนการไปเลือกด้วยตัวเอง จึงเป็นปีที่อีคอมเมิร์ซพุ่งแรงสูงที่สุดในรอบทศวรรษ
ปัจจัยเร่งสำคัญ คงหนีไม่พ้นโรคระบาด Covid-19 ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคุณ รวมไปถึงอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวตาม เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อความอยู่รอด ในวันที่ทุกคนเดินทางไปเลือกของที่หน้าร้านไม่ได้เสริมมาด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้การซื้อของออนไลน์เป็นเรื่องที่ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น คนทุกเพศทุกวัยต้องปรับตัวตาม สั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยๆ ก็ต้องสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ภาพรวมกับสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นบ้างกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั่วโลก
- การเติบโตของอีคอมเมิร์ซเพียง 3 เดือนในช่วง Covid-19 เวฟแรก เทียบเท่า การเติบโตตลอดทศวรรษ เป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ อย่างฉับพลันของหลายๆ ประเทศ ผู้คนไม่สามารถออกไปจับจ่ายใช้สอยได้ ทางเลือกเดียวก็คือบริการอีคอมเมิร์ซ ข้อมูลของ ZDnet.com พบว่า ในสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้งานอีคอมเมิร์ซในช่วง 3 เดือนแรก ของการระบาดเท่ากับตัวเลขการเติบโตกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
- ห่วงโซ่อุปทานชะงัก หรือ Supply Chain Disruption ผู้บริโภคต้องการความคุ้มค่า และความสะดวกสบายมากขึ้น การล็อกดาวน์ทำให้พฤติกรรมและความต้องการ ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป Mckinsey&Company ทำการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก มากกว่า 60% มองหาความคุ้มค่า และความสะดวกสบายในการซื้อสินค้า ดังนั้นผู้บริโภคจะมองหาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการ สินค้าบางรายการมีความต้องการมหาศาล จนผลิตไม่ทัน หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมียอดสั่งซื้อสูงมากๆ จนส่งสินค้าล่าช้า
- ธุรกิจต่างๆ เพิ่มงบประมาณในอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจของ SearchNode สำรวจผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในธุรกิจขายปลีกในยุโรปและสหรัฐฯ พบว่ากว่า 78% ตัดสินใจเพิ่มงบในการพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
- ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อมีโรคระบาดที่ ต้องล็อกดาวน์ ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเช่นเดียวกัน ซึ่งธุรกิจกว่าครึ่งมี รายได้พุ่งสูงถึง 100% และมีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์มาเน้นทำธุรกิจออนไลน์กันมากขึ้น และแน่นอนว่า อีคอมเมิร์ซที่ช่วยให้พวกเขาเติบโตได้เมื่อเผชิญกับวิกฤต
- แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซก็ต้องพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น เริ่มต้น มาจากอีมาร์เก็ตเพลสที่แม้จะเข้าถึงฐานลูกค้าขนาดใหญ่ แต่ก็มีต้นทุนและข้อจำกัดไม่น้อย ธุรกิจหลายๆ เจ้าจึงหันมาพัฒนาช่องทาง Direct to Customer หรือการเข้าถึงลูกค้าโดยตรง
- เทคโนโลยีการเงิน (Fintech) มีส่วนช่วยให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีความคล่องตัวมากขึ้น ช่องทางการชำระเงินเป็นตัวเสริมพลังให้กับธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ เมื่อฟินเทคพัฒนามากขึ้น เสริมทัพธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก็ยิ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค มีทางเลือกการชำระเงินได้มากขึ้น
ภาพรวมในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้ธุรกิจซื้อขายออนไลน์ มีการเติบโตอย่างชัดเจน ยอดขายไม่ได้เกิดจากการสั่งซื้อผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น ยังรวมไปถึงสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตด้วย
“ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างมาก ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด Covid-19 ไม่ได้เป็นเพราะ ผู้ใช้งานใหม่ๆ หันมาซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แต่ร้านค้าต่างๆ ก็ต้องปรับตัวเช่น เดียวกันเพื่อให้ธุรกิจยืนหยัดต่อไปและได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น” คำกล่าวนี้เป็นของ Paul H.Muller เป็น Co-founder และ CEO ของ Adjust สตาร์ตอัปที่ให้บริการแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ
รู้จัก M-commerce น่าสนใจอย่างไร
คุณคงไม่ปฎิเสธว่าสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ที่คุณขาดไม่ได้ และอินเทอร์เน็ตมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการใช้ชีวิตของผู้คนยุคนี้จึงเกิดเทรนด์ M-commerce หรือ Mobile Commerce การซื้อขายสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์พกพาไร้สายอย่างแท็บเล็ตขึ้นมา เกิดจากการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้คุณสามารถ ชอปปิงได้ทุกที่ทุกเวลา โดยคุณไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว
รายงานของ E-commerce App Report 2021 Top Trends โดย Sensor Tower ระบุว่า หลังจากปี 2563 M-commerce จะมีมูลค่าใหญ่กว่าการซื้อขายจากช่องทางอื่นๆ ของทั้งระบบอีคอมเมิร์ซ ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า คาดว่า ปี 2564 สัดส่วน 54% ของยอดขายของออนไลน์ทั้งหมด จะมาจาก M-commerce ยอดขายรวมทั่วโลกจะแตะ 3.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.3% จากปี 2563
หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ยุคแรกๆ ของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ การซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ ทำอยู่บนเว็บไซต์ ในช่วงเวลานั้น คุณอาจจะไม่ได้รู้สึกว่า มันใช้สะดวกไปกว่าการไปเลือกซื้อของด้วยตัวเอง ที่สามารถจับต้องสินค้าได้
รวมถึงความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยที่ยังไม่มีความแน่นอนจนมีการพัฒนาของหน้าตาเว็บไซต์ให้เป็นแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสที่ออกแบบมาให้ง่าย ต่อการใช้งานและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ด้วยคุณภาพของรูป ความแรงของอินเทอร์เน็ต หรือระบบการสนทนาที่ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลของร้านค้าและผู้ซื้อ มีการยืนยันตัวตน ที่เพิ่มความน่าเชื่อถือเข้าไปอีก
จากแพลตฟอร์มที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว เข้ามาสู่ยุคที่สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต พัฒนาไปไกลจนเปรียบเสมือนอวัยวะที่ 33 สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว มูลค่าของ M-commerce จึงเติบใหญ่ขึ้นในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในโลกยุคดิจิทัล
จากข้อมูลของ eMarketer ระบุว่า ยอดค้าปลีกของ M-commerce ของสหรัฐฯ เติบโต 41.4% ในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นอีก 15.2% ในปี 2564 สู่ระดับ 359,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยอดขายรายปีจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ตั้งแต่ปี 2564-2568
นอกจากนี้ Statista ระบุว่า สถิติการเติบโตของ M-commerce เห็นได้ชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2559 และ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 33.8% ต่อปี ไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง ไม่ใช่แค่นั้น 72% ของยอดขายอีคอมเมิร์ซทั้งหมดจะเปลี่ยนเป็น M-commerce ภายในสิ้นปี 2564 หรือเกือบ 3 ใน 4 เลยทีเดียว นั่นหมายความว่า M-commerce เป็นทิศทางที่น่าสนใจ ในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ เพราะ M-commerce มีลักษณะเฉพาะที่ตอบโจทย์ผู้ซื้อผู้ขายในยุคนี้มากกว่า สามารถสั่งซื้อผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้เลย ทำได้ทุกที่ทุกเวลาขอเพียงมีอินเทอร์เน็ต
สรุปได้ว่า M-commerce มีความคล่องตัวมากกว่าการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์อื่นๆ ในระบบอีคอมเมิร์ซ
นอกจากนี้ยอดขายสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตทั่วโลกมีทิศทางขาขึ้นมาโดยตลอด รวมไปถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่หนุนธุรกรรม M-commerce อย่างกระเป๋าเงินดิจิทัล (E-wallet) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook Twitter Instargram และ Line มีฟีเจอร์ปุ่ม ‘ซื้อ’ ผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อสินค้าจากผู้ค้าได้โดยตรง รวมไปถึงผู้ค้าเองก็สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น สามารถติดต่อสื่อสารกันโดยตรง ส่งข่าวสาร คูปองส่วนลด หรือแม้กระทั่งผู้ซื้อเองก็สามารถรีวิวสินค้าหรือบริการให้กับผู้ซื้อรายอื่นได้อีกด้วย ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ M-commerce เติบโตไปได้อีก
ความสามารถในการติดตามตำแหน่งของช่องทางออนไลน์อื่นๆ ในระบบอีคอมเมิร์ชถูกจำกัด เนื่องจากคุณอาจจะไม่สามารถพกพาอุปกรณ์ได้ แต่สำหรับ M-commerce คุณสามารถพกพาอุปกรณ์ได้ ทำให้สามารถติดตามและระบุตำแหน่งของผู้ใช้ได้ผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สาย เชื่อมต่อกับเทคโนโลยี GPS
นอกจากนี้ M-commerce ยังมีความปลอดภัยสูงมาก โดยมีแพลตฟอร์มรักษาความปลอดภัยต่างๆ เช่น การตรวจสอบสิทธิ์สองปัจจัย (2FA หรือ Two-factor Authentication) และการรับรองความถูกต้องด้วยไบโอเมตริกซ์ (ผ่านการเรตินาสแกนใบหน้าหรือลายนิ้วมือ)
ที่มา จิตตะเวลธ์
ภาพประกอบ จิตตะเวลธ์