รีเซต

ทิศทางใหม่การวิจัยยา ไม่ต้องพึ่งพาสัตว์ทดลอง

ทิศทางใหม่การวิจัยยา ไม่ต้องพึ่งพาสัตว์ทดลอง
TNN ช่อง16
16 มีนาคม 2564 ( 10:51 )
337

การคิดค้นยาหรือวัคซีนเพื่อรักษาโรคร้ายให้แก่มวลมนุษยชาติ สัตว์ทดลองเปรียบเสมือนหน่วยกล้าตายดั่งคำสุภาษิต "หนูลองยา" เพื่อทดสอบประโยชน์และความเป็นพิษ ซึ่งทำให้มีสัตว์จำนวนมากต้องมาตายเพื่อประโยชน์ของมนุษย์

แต่จะทำอย่างไร ในเมื่อขั้นตอนการผลิตและวางจำหน่ายยาจะต้องผ่านการทดลองความเป็นพิษในสัตว์ ก่อนที่จะนำมาใช้ในมนุษย์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งกรุงเยรูซาเล็มมองเห็นปัญหานี้ จึงคิดค้นวิธีที่ช่วยเลี่ยงการทดลองยาในสัตว์ แต่สามารถพิสูจน์ประโยชน์และพิษต่อมนุษย์จนสามารถนำมาใช้งานได้จริง !!


นักวิจัยได้คิดค้น "ชิปมนุษย์" ซึ่งเป็นแผ่นชิปที่บรรจุเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์เอาไว้ โดยส่วนมากจะเป็นเนื้อเยื่อจากอวัยวะที่ต้องการศึกษาผลลัพธ์ของยา นอกจากนี้ยังสามารถสร้างชิปมนุษย์ที่บรรจุเนื้อเยื่อจากอวัยวะอื่น ๆ เพื่อศึการผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ ต่ออวัยวะที่ไม่ใช่เป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยาด้วย

ซึ่งการเริ่มใช้ชิปมนุษย์นั้น เกิดจากความพยายามป้องกันภาวะไตวายจากการใช้ยาเคมีบำบัดต้านมะเร็ง จากงานวิจัยที่ผ่าน ๆ มาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งที่เคยรับประทานยา เอมพากลิโฟลซิน (Empagliflozin) ร่วมกับยาเคมีบำบัด จะมีโอกาสเกิดภาวะไตวายต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน


แต่จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่ายาเอมพลากลิโฟลซินสามารถป้องกันภาวะไตวายได้ ? และแน่นอนว่าในวงการแพทย์จะยังไม่สามารถประกาศให้ใช้ยานี้เพื่อป้องกันภาวะไตวายได้ หากไม่มีการทดลองที่ได้ผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งในการทดลองก็คงต้องผ่านการทดลองในสัตว์ก่อนที่จะเริ่มทดลองในมนุษย์ นั่นจึงกลายเป็นหน้าที่ของชิปมนุษย์ ที่จะสามารถ "บายพาส" การทดลองในสัตว์ เข้าสู่เฟสการทดลองในมนุษย์แทน


นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮิบรูจึงนำเนื้อเยื่อไตใส่ไว้ในชิปมนุษย์ พร้อมทดลองผลลัพธ์ของยาเอมพิกลิโฟลซินกับเนื้อเยื่อไตที่ได้รับยาเคมีบำบัดเข้าไปด้วย ปรากฏว่าเซลล์ในเนื้อเยื่อเหล่านี้ได้รับการปกป้องจากความเป็นพิษของยาเคมีบำบัด

ในอนาคตเชื่อว่าการวิจัยยาจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว และลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตด้วยการใช้ชิปมนุษย์เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของยาในมนุษย์ได้โดยตรง ซึ่งหากการทดลองยาเอมพิกลิโฟลซินของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮิบรูประสบความสำเร็จ ยาตัวนี้จะกลายเป็นยาตัวแรกที่นำมาใช้ในมนุษย์ได้ โดยไม่ผ่านเฟสการทดลองในสัตว์


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Iflscience

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง