รีเซต

“อือเจียว” เจลาตินหนังลา วัตถุดิบล้ำค่า ดั่งสมบัติชาติจีน ที่กำลังทำลายสังคมแอฟริกา

“อือเจียว” เจลาตินหนังลา วัตถุดิบล้ำค่า ดั่งสมบัติชาติจีน ที่กำลังทำลายสังคมแอฟริกา
TNN ช่อง16
17 มิถุนายน 2567 ( 18:16 )
35

ลาเป็นสัตว์ที่อยู่คู่ชาวแอฟริกามาช้านานร่วม 7,000 ปี ช่วยขนของ ทำเกษตรกรรม ใช้เป็นยานพาหนะ หรือกระทั่งนำมาโชว์นักท่องเที่ยว 


สถิติพบว่า สัดส่วนของลาในแอฟริกาคิดเป็น 63% ของจำนวนลาทั้งโลก และกว่า 39% ของครอบครัวชาวแอฟริกายอมรับว่า ชีวิตพวกเขาขาดลาไม่ได้ ต้องพึ่งพิงในการทำมาหากิน


เฮโรโดตัส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณ เคยกล่าวว่า “อียิปต์คือของขวัญจากแม่น้ำไนล์ แต่ที่ขนของขวัญมาให้นั้น คือเหล่าลาทั้งสิ้น”


แต่แล้ว เมื่อความต้องการ “หนังลา” ที่มากยิ่งขึ้นของจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ลาในแอฟริกาแทบไม่เหลือ กลายเป็นหายนะทางสังคมที่น้อยคนนักจะรู้


“อือเจียว” เจลาตินหนังลา 


สังคมจีน มีสำนวนที่ว่า เชี่ยโมวช่าหลี่ว (卸磨杀驴: Xiè mò shā lǘ) หรือ หากลาขนของไม่ไหว ก็ให้ฆ่าทิ้งเสีย (คล้าย ๆ เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล) ดังนั้น การนำลาที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้วมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก


หนึ่งในการแปรรูปนั้น คือสมบัติของชาติจีนนามว่า “อือเจียว (阿胶: E-Jiao) หรือ เจลาตินหนังลา” ขั้นตอนคือถลกหนังลาออกมาตากแห้ง และแปรงขนให้เรียบ ก่อนจะโกนขน และนำหนังสดไปต้มให้เปื่อยได้ที่ จากนั้นนำมาหั่นเป็นแนวยาว ม้วนให้เป็นก้อนกลมและนำไปต้มอีกทีหนึ่ง จากนั้นกรองกากออก และเทน้ำเจลลาตินใส่แม่พิมพ์สี่เหลี่ยม จะได้อือเจียวที่ราคาแพง


อือเจียวเป็นที่นิยมมาตั้งแต่โบราณ มีประวัติย้อนไปถึงราชวงศ์ฮั่น โดยตามตำราเวชศาสตร์นามว่า Shen Nong’s Materia Medica ระบุว่า อือเจียวมีสรรพคุณทางยา รักษาอาการป่วยได้ชะงัด แทบจะเป็นยาครอบจักรวาลก็ว่าได้


ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง ในนิยายปรัมปราของจีนสมัยราชวงศ์ถัง “หยาง กุ้ยเฟย” มีเคล็ดลับความงามให้องค์พระจักรพรรดิโปรดปรานนาง นั่นคือ การรับประทานอือเจียวทุกวัน ดังนั้น หากใครอยากงามแบบเธอ ก็เชื่อกันว่า ต้องทานอือเจียว 


สมัยก่อน อือเจียวคือสินค้าของชนชั้นปกครอง มีราคาสูง เป็นของล้ำค่า ชนิดที่ว่า ฮ่องเต้เฉียนเฟิงในราชวงศ์ชิง ส่งอือเจียวเป็นของขวัญแก่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์เนื่องในโอกาสพิเศษเลยทีเดียว


แต่ยุคต่อ ๆ มา ประชาชนธรรมดาก็อยากลิ้มลองอือเจียวเหมือนกัน ความต้องการจึงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงปี 1990 - 2018 ความต้องการอือเจียวเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยทะยานจาก 1.1 ล้านตัน สู่ 2.5 ล้านตัน ภายในระยะเวลาเกือบ 30 ปี 


ส่วนหนึ่งสาเหตุอาจจะมาจากซีรีย์ Empresses in the Palace เมื่อปี 2011 ที่ได้กล่าวถึงยาอายุวัฒนะแห่งชานตง นั่นคืออือเจียว ทำให้ผู้คนแห่แหนกันอยากได้มาในครอบครองอย่างมาก จึงทำให้จำนวนลาในประเทศจีนลดลงอย่างรวดเร็วกว่า 80% จากในช่วง 1950-2020 จากจำนวน 10.3 ล้านตัว เหลือเพียง 1.74 ล้านตัวเท่านั้น


ที่มา: https://www.reuters.com/graphics/AFRICA-CHINA/DONKEYS/xmpjrdgbxpr/index.html


และเมื่อจำนวนลาไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวจีน พวกเขาจึงหันไปนำเข้าลาจากทวีปแอฟริกา ที่เป็นแหล่งอาศัยของลาจำนวนมากที่สุดในโลกมาแทนที่ 


ลาไป ภัยมา


ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนและประเทศในทวีปแอฟริกา นอกเหนือจากเรื่องของการที่จีนให้เงินช่วยเหลือในการพัฒนา ไม่ว่าจะเงินให้เปล่า หรือเงินกู้ระยะยาว การตั้งฐานทัพ หรือการนำชาวจีนไปทำธุรกิจ ยังมีเรื่องของการไปช้อนซื้อลาอีกด้วย


บริษัท ธงอีอือเจียว (Dong E-E-Jiao) เป็นบริษัทนำเข้าหนังลาขนาดใหญ่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการจีน ให้ไปทำการค้าลาในทวีปแอฟริกา โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 60% ของตลาดการค้าหนังลาของจีน 


สอดรับกับนโยบาย Traditional Chinese Medicine (TCM) ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง พยายามเน้นการพัฒนายาแผนโบราณของจีน ให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับยาแผนปัจจุบัน


กานาและไนจีเรียคือประเทศที่จีนทำธุรกิจหนังลามากที่สุด แต่ภายหลังที่เริ่มเสียดุลการค้าให้แก่จีน สองประเทศนี้แบนการค้าหนังลา เพราะต้องการให้ลาเป็นสัตว์ไว้ให้ครัวเรือนใช้งาน และขยายผลต่อมาจนทุกวันนี้ ทวีปแอฟริกาแทบจะแบนการค้าหนังลาเกือบทุกประเทศ


ที่มา: https://www.reuters.com/graphics/AFRICA-CHINA/DONKEYS/xmpjrdgbxpr/index.html


ดังนั้น กลุ่มองค์กรจีนจำนวนหนึ่งจึงกระทำการ “ขโมยลา” จากแอฟริกาส่งกลับจีนมากยิ่งขึ้น


การขโมยลานี้ สร้างผลกระทบต่อครัวเรือนแอฟริกาอย่างมาก ดังที่ ลอเรน จอห์นสตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าจีน-แอฟริกา ที่ได้ตีพิมพ์งานศึกษา China, Africa, and the Market for Donkeys: Sample of Ejiao’s Bitter Aftertaste in Africa ได้ชี้ชัดว่า


“คนยากจนในแอฟริกาใช้ลาแทนรถยนต์ แต่เมื่อจีนมาทำแบบนี้ พวกเขาย่อมลำบากมาก ๆ ในการคมนาคมหรือการค้าขาย โดยเฉพาะพวกผู้หญิง”


นั่นเพราะ ผู้หญิงมีร่างกายที่อ่อนแอกว่าผู้ชาย จะใช้แรงงานก็ไม่ได้ แบกของหนักก็ไม่ได้ การมีลาจะมาช่วยผ่อนแรงในการขนของ การทำเกษตรกรรม และการเดินทางไปทำงาน


แต่พอเกิดการขโมยลา ผลกระทบที่ตามมา นั่นคือ ผู้หญิงในแอฟริกาก็จะยิ่งเสียเปรียบในการอยู่ในตลาดแรงงานอย่างมาก เพราะจะไม่เหลือแต้มต่อใด ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย


เรื่องที่ใหญ่กว่านั้น คือการไม่มีสัตว์ใช้แรงงานแทนมนุษย์ในภาคเกษตรกรรม อย่าลืมว่า แอฟริกายังต้องพึ่งพิงภาคเกษตรกรรมอย่างมหาศาล นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจโดยรวมของแอฟริกาก็จะขาดประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะแรงงานมนุษย์อย่างเดียว ไม่สามารถทดแทนกำลังการผลิตของสัตว์ได้ 


ปัญหานี้ใช่ว่าจะแก้ไขได้ง่าย ๆ เพราะความต้องการของอือเจียวยังคงอยู่ บริษัทที่ให้การสนับสนุนโดยทางการจีนก็จะยังคงนำเข้าและขโมยลาที่อื่น ๆ ซึ่งตอนนี้ จีนหันไปทำเช่นนี้ในประเทศปากีสถานและเม็กซิโก ที่มีจำนวนลา 5.72 ล้านตัว และ 3.29 ล้านตัวเป็นหลัก


แต่ก็มีแนวทางหนึ่งที่พยายามนำมาแก้ไข คือการ “สังเคราะห์อือเจียว” ขึ้นมาใช้เอง ไม่ต้องไปถลกหนังลา เรื่องนี้ ยานเน็ค เมอร์กซ์ ผู้บริหารแคมเปญ Donkey Sanctuar ได้ให้ข้อเสนอว่า


“ต้องเลิกนำเข้าหนังลาเสียที และหันมาพัฒนาอะไรที่ยั่งยืนอย่างการสังเคราะห์คอลลาเจนขึ้นมาได้แล้ว”


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง