รีเซต

เมื่อเสื้อผ้ากลายเป็นขยะ บริจาคก็เต็ม รีไซเคิลก็ตัน ใครจะรับผิดชอบ Fast Fashion?

เมื่อเสื้อผ้ากลายเป็นขยะ บริจาคก็เต็ม รีไซเคิลก็ตัน ใครจะรับผิดชอบ Fast Fashion?
TNN ช่อง16
6 พฤษภาคม 2568 ( 10:00 )
20

ในโลกที่แฟชั่นเปลี่ยนเร็วพอๆ กับฤดูกาล เรากำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ที่ไม่มีใครอยากพูดถึง นั่นก็คือ “กองขยะเศษผ้า” ที่กำลังเติบโตอย่างไร้จุดสิ้นสุด เสื้อผ้าใช้แล้วจำนวนมหาศาลไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้ ไม่ว่าทางใดก็ตาม ไม่สามารถบริจาค ไม่สามารถรีไซเคิล และไม่สามารถทำลายได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


กรณีของ“Wendy Ward”นักออกแบบเสื้อผ้า นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และนักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Sheffield Hallam ของสหราชอาณาจักร กลายเป็นสัญลักษณ์ของปัญหานี้ เธอส่งผ้าปูที่นอนเก่าอายุ 10 ปีที่ผลิตจากผ้าผสมโพลีเอสเตอร์ (polycotton) กลับไปให้ผู้ผลิตอย่าง Sainsbury’s พร้อมจดหมายตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของแบรนด์ โดยชี้ว่าเนื้อผ้าแบบนี้ไม่สามารถรีไซเคิล ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือแม้แต่ทำความสะอาดบ้านได้เพราะไม่ดูดซับน้ำ


การตอบกลับจากแบรนด์กลับเป็นเพียงจดหมายมาตรฐานที่หลีกเลี่ยงการตอบคำถามเชิงนโยบาย นำไปสู่การเปิดตัวแคมเปญ “#TakeItBack” ที่ Ward เชิญชวนประชาชนส่งเสื้อผ้าที่หมดอายุการใช้งานกลับไปยังแบรนด์ผู้ผลิต พร้อมจดหมายถามถึงแนวทางการจัดการ เธอเรียกแคมเปญนี้ว่าเป็นการ "ยึดอำนาจกลับคืนจากผู้บริโภค" ที่เรียกร้องให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อปลายทางของสินค้าตน

แม้การบริจาคเสื้อผ้าจะดูเป็นทางออกที่ดี แต่ในความเป็นจริง ร้านการกุศลจำนวนมากในสหราชอาณาจักรกลับต้องเสียเงินเพื่อกำจัดเศษผ้าที่ใช้ไม่ได้ “Dawn Dungate”ที่ปรึกษาองค์กรการกุศลกล่าวว่า “ร้านค้าเล็กๆ กำลังรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงในการจัดการกับผ้าขยะ” เพราะผู้รับซื้อผ้ามือสองเริ่มปฏิเสธผ้าที่ซ่อมไม่ได้ ขายไม่ได้ และรีไซเคิลไม่ได้


ไม่ใช่แค่ต้นทาง แม้แต่โรงคัดแยกและรีไซเคิลเสื้อผ้าก็กำลังล้มละลาย จากรายงานที่องค์กร Wrap เตรียมเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ ระบุว่า อุตสาหกรรมนี้ต้องจ่ายถึง 88 ล้านปอนด์ต่อปีในการเก็บและจัดการเสื้อผ้าที่ไม่มีมูลค่า และมีบริษัทที่เหลืออยู่ในตลาดไม่ถึง 20% ของเมื่อสิบปีก่อน


หลายแบรนด์แฟชั่น เช่น H&M, Zara, Nike และ M&S ต่างโฆษณาโครงการ “รับคืนเสื้อผ้าใช้แล้ว” (take-back schemes) โดยเปิดให้ลูกค้านำเสื้อผ้ามาบริจาคเพื่อรีไซเคิลหรือแปรรูปใหม่ แต่จากการสืบสวนขององค์กร Changing Markets Foundation ในปี 2023 พบว่าเสื้อผ้ากว่า 75% จากโครงการเหล่านี้กลับถูกเผา ถูกทิ้งไว้ในโกดัง หรือถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “greenwashing” เต็มรูปแบบ แม้จะมีความพยายามในบางแบรนด์ เช่น Reskinned ซึ่งอ้างว่าไม่ส่งผ้าไปยังประเทศในโลกใต้ แต่โดยรวมแล้วโครงการรีไซเคิลเสื้อผ้ายังขาดความโปร่งใส และไม่มีหลักฐานว่าถูกนำไปใช้ตามที่กล่าวอ้าง

ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบแฟชั่นแบบปัจจุบัน ที่เน้นผลิตเร็ว ขายเร็ว และทิ้งเร็ว โดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้าคุณภาพต่ำจากใยสังเคราะห์ราคาถูก เช่น โพลีเอสเตอร์ ที่ไม่สามารถรีไซเคิลเป็นเส้นใยใหม่ได้จริงในเชิงพาณิชย์


ทางออกในระยะยาวจำเป็นต้องเริ่มต้นที่ระดับนโยบาย โดยเฉพาะการออกกฎหมาย “ความรับผิดชอบของผู้ผลิต” หรือ EPR (Extended Producer Responsibility) ที่กำหนดให้แบรนด์รับผิดชอบต่อปลายทางของสินค้าอย่างชัดเจน ซึ่งขณะนี้ EU เตรียมออกกฎหมายบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ 


ดังนั้น จะเห็นว่าวิกฤตเสื้อผ้าใช้แล้วไม่ใช่แค่ปัญหาของ “สิ่งของ” ที่หมดอายุการใช้งาน แต่สะท้อนถึงโครงสร้างของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มุ่งเน้นกำไร ไม่สนใจปลายทางของสินค้า และผลักภาระกลับไปยังผู้บริโภคและประเทศยากจน การผลักดันให้เกิดระบบ EPR และการเปลี่ยนวัฒนธรรมการบริโภคจึงเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง