พบวิธีรีไซเคิลแร่หายาก "rare earth" จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ลดการทำเหมือง

นักวิจัยจาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ซูริก (ETH Zurich) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้พลิกโฉมการรีไซเคิล "แร่หายาก" จาก "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ด้วยการพัฒนากระบวนการใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยส่งเสริมการรีไซเคิลอย่างยั่งยืน และลดการพึ่งพาการทำเหมืองแบบเดิม
สถานการณ์ "แร่หายาก" ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน มีแร่หายากน้อยกว่าร้อยละ 1 เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล เนื่องจากต้องใช้พลังงานและสารเคมีจำนวนมหาศาลในการแยกองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงมาก ตามข้อมูลจากทีมวิจัย
ทำไมต้องรีไซเคิล "แร่หายาก"
ด้วยเหตุนี้ มารี เพอร์ริน (Marie Perrin) นักวิจัย และ ดร. วิคเตอร์ มูเกล (Dr. Victor Mougel) หัวหน้าทีม จึงได้พัฒนากระบวนการใหม่ที่ช่วยให้สามารถแยกแร่ธาตุเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกระบวนการที่ง่ายขึ้น
โดยทีมวิจัยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า แร่ธาตุเหล่านี้มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกันมาก นี่คือสาเหตุว่าทำไมการแยกและการสกัดพวกมันจึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะคุณสมบัติของมันใกล้เคียงกันจริง ๆ
ความต้องการ "แร่หายาก" สู่การรีไซเคิล
การค้นพบวิธีการดังกล่าว เกิดขึ้นในขณะที่สหภาพยุโรปกำลังผลักดันให้มีการรีไซเคิลโลหะหายากมากขึ้น เนื่องจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นและแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่กำลังผลักดันให้สหภาพยุโรปพยายามพึ่งพาตนเองด้านทรัพยากรมากขึ้น
ทีมวิจัยกล่าวเสริมว่า นวัตกรรมนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้สหภาพยุโรปบรรลุวัตถุประสงค์ภายใต้กฎหมายว่าวัตถุดิบที่สำคัญของยุโรป (European Critical Raw Materials Act) ที่ตกลงกันไว้ในปี 2023 ซึ่งสหภาพยุโรปตั้งเป้าที่จะใช้วิธีการขุดร้อยละ 10, แปรรูปร้อยละ 40 และรีไซเคิลร้อยละ 25 ของความต้องการภายในปี 2030
ตามการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ส อ้างอิงจากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ อาลิกซ์พาร์ทเนอร์ (AlixPartners) เผยว่าปัจจุบันตลาดโลหะหายากมีผู้เล่นหลักคือจีน ซึ่งควบคุมการทำเหมืองแร่หายากทั่วโลกถึงร้อยละ 70 และควบคุมกำลังการกลั่นถึงร้อยละ 85
สิ่งที่ต้องทำต่อไปกับการรีไซเคิล "แร่หายาก"
เป้าหมายต่อไปของทีมวิจัยคือการขยายขนาดเทคโนโลยีนี้โดยการทำงานร่วมกับพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้พวกเขาสามารถมีศักยภาพในการรีไซเคิลภายในองค์กรได้ในที่สุด
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
