รีเซต

บทเรียน “ซิมบับเว” บางทีผู้นำไร้ความสามารถ ก็อาจพาประเทศสู่ “หายนะ” | Exclusive

บทเรียน “ซิมบับเว” บางทีผู้นำไร้ความสามารถ ก็อาจพาประเทศสู่ “หายนะ” | Exclusive
TNN ช่อง16
9 กรกฎาคม 2567 ( 16:21 )
20

หากกล่าวถึง รัฐล้มเหลว “Failed State” ซึ่งเป็นที่พูดถึงมากที่สุด “ซิมบับเว” เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดี เพราะเคยเป็นประเทศในแถบแอฟริกาทางตอนใต้ ที่ครั้งหนึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยเป็นอาณานิคมอังกฤษในชื่อ “โรเดเชีย” แต่หลังได้รับเอกราชในปี 1980 ประเทศก็เสื่อมถอยลงเลื่อย ๆ 


การเสื่อมถอยดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม แต่เป็นผลจากการตัดสินใจของผู้นำ ที่ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ


ปัญหาของซิมบับเว


ปัญหาสำคัญของซิมบับเว คือ เงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) สถิติของ Statista ชี้ว่า ซิมบับเวมีอัตราเงินเฟ้อมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากเวเนซูเอลา  โดยซิมบับเวมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 315% จากปี 2022 ถือว่าเพิ่มขึ้นเยอะมาก เพราะเมื่อปี 2022 เงินเฟ้อซิมบับเว เพิ่มขึ้น 122%



สถิติของ Statista นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ทำให้เห็นว่า เงินเฟ้อของซิมบับเวพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง จาก 156% ในปี 2008 และเข้าขั้นรุนแรงในปี 2018-2019 เพิ่มสูง 255.29% และ 577.21% โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2025 ที่จะถึงนี้ ซิมบับเวจะมีอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงมากถึง 667.36%






ผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก ทำให้มูลค่าของเงินสกุลดอลลาร์ซิมบับเว แทบไม่มีมูลค่าใด ๆ เลย ยกตัวอย่าง 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาน 35 บาทเท่านั้น  สามารถแลกเงินซิมบับเวได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ซิมบับเว เราจึงเห็นผู้คนหอบธนบัตรจำนวนมหาศาลเพื่อไปซื้อฟาสต์ฟู๊ดรับประทาน


สิ่งที่นำมาสู่ปัญหานี้ มีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ผู้นำไร้ความสามารถ ที่บริหารงานผิดพลาด และกำหนดนโยบายด้วยความไม่เข้าใจ 


ผู้นำไร้ความสามารถ เราจะตายกันหมด


โรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) ผู้นำประเทศลำดับที่ 2 หลังซิมบับเวได้รับเอกราช เขาเป็นนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องสิทธิให้แก่ชาวผิวสี และเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด เรียกได้ว่า เขาได้รับความนิยมในมวลชนคนดำมายาวนาน จนได้มีโอกาสเล่นการเมืองและได้รับการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น


แต่สนามของผู้เรียกร้องทางการเมือง กับสนามผู้กำหนดนโยบายทางการเมือง มีความแตกต่างกันเหมือนหน้ามือเป็นหลังมือ


ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 มูกาเบ มักดำเนินนโยบายแบบ “เอื้อคนดำ” ที่ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ยากไร้และผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย เพราะต้องรักษาฐานเสียงของตนไว้ ดังนั้น นโยบายทางการคลังจึงเป็นแบบ “รัฐจัดให้” ปล่อยสินเชื่อกู้ง่าย ดอกเบี้ยต่ำแก่คนดำ และพยายามขัดขวางนายทุนใหญ่และเจ้าที่ดินที่เป็นคนขาว ผลก็คือ ทำให้ประเทศแบกรับหนี้สาธารณะ เพราะต้องกู้ยืมเงินต่างประเทศมาหนุนนโยบาย


แต่แทนที่มูกาเบจะดำเนินนโยบายแบบ “ผ่อนปรน” ตามกระแสของโลก ณ ตอนนั้นที่เรื่องของการ “ปล่อยให้เอกชนจัดการ” ลดขนาดระบบราชการ เปิดให้นายทุนใหญ่ครอบงำเศรษฐกิจ หรือรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เจ้าตัวกลับดึงดันที่จะปล่อยให้ประเทศเป็นแบบนี้ต่อไป ซึ่งนำไปสู่หายนะ


มูกาเบออกมาตรการ “ต่อต้านตะวันตก” เพื่อแสดงจุดยืนว่า ฐานเสียงของเขาจะได้รับการปกป้องจากรัฐบาล รัฐบาลจะอุ้มชูแม้ว่าจะเป็นหนี้ระดับมหาศาล พร้อมทั้งมีการเวนคืนที่ดินของชาวผิวขาวในประเทศ มาจัดสรรให้แก่คนดำเพื่อให้เกิดการทำเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม


แต่คนดำเหล่านี้ ได้ที่ดินแล้วกลับไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม คือไม่ได้นำไปต่อยอด ครอบครองไว้เป็นเครื่องแสดงสถานะว่า เอาชนะคนขาวได้ ทำให้อัตราการจ้างงานในประเทศลดลง ส่งผลให้ประชาชนไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอย แห่ฝากเงินมหาศาล จนระบบเศรษฐกิจในประเทศขาดการหมุนเวียน เศรษฐกิจจึงชะงักงันอย่างหนัก


แต่แทนที่มูกาเบจะคิดค้นมาตรการทางการคลังแบบสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นให้ผู้คนนำเงินมาหมุนเวียนในระบบ เขากลับทำอะไรที่ขาดการไตร่ตรองที่ดี ด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น อัดฉีดเข้าสู่ตลาด เพื่อแก้ปัญหาคนเก็บเงินแล้วไม่เอามาใช้ 


แน่นอนว่า การพิมพ์ธนบัตร รัฐบาลไม่สามารถทำได้ในทันที เพราะต้องคำนึงถึงทองคำสำรองในประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศและตลาดต่างประเทศ แต่รัฐบาลซิมบับเวไม่ได้คิดเช่นนั้น เลยเกิดเป็นธนบัตรที่ออกมาเสียจนล้นตลาด และทำให้มูลค่าของธนบัตรนั้นลดลงจนแทบไม่มีมูลค่า


แต่ มูกาเบ้ ไม่สะทกสะท้านกับเรื่องนี้ และยังสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนว่า การที่เงินเฟ้อระดับนี้ หมายถึงเศรษฐกิจดี อย่าไปกังวล เรากำลังจะทะยานไปข้างหน้า ไม่ใช่ว่าประเทศกำลังเผชิญหายนะอย่างที่เห็น


บทเรียนของซิมบับเวใต้มูกาเบ คือ ผู้นำที่ไร้ศักยภาพเพียงคนเดียว ก็อาจนำพาประเทศไปสู่ความเสื่อมถอยเกินจะฟื้นฟูได้


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]


แหล่งอ้างอิง


  • วิทยานิพนธ์ ANALYSIS OF THE ZIMBABWEAN HYPERINFLATION CRISIS: A SEARCH FOR POLICY SOLUTIONS
  • หนังสือ Failed States, Collapsed States, Weak States
  • บทความ Zimbabwe: Challenges and Policy Options after Hyperinflation
  • บทความ A Dynamic Enquiry into the Causes of Hyperinflation in Zimbabwe
  • บทความ Zimbabwe: the Fall from a Jewel Status
  • บทความ What Makes a Failed State? Examining the Case of Zimbabwe



ข่าวที่เกี่ยวข้อง