โควิด-19 : สาวอังกฤษเผยผลกระทบระยะยาวหลังติดเชื้อโวรัสโคโรนา
"เวลาอาบน้ำ ฉันรู้สึกเหมือนกำลังอาบน้ำเนื้อเน่า"
หญิงสาวชาวอังกฤษคนหนึ่งเผยประสบการณ์แสนทรมานจากภาวะการรับรู้กลิ่นที่ผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นผลกระทบระยะยาวที่โรคโควิด-19 ทิ้งไว้ให้แก่เธอ
แซลลี แมคครีธ วัย 31 ปี จากเมืองลิเวอร์พูล มีความผิดปกติในประสาทรับรสและกลิ่น หลังจากที่เธอติดโควิดเมื่อ 8 เดือนก่อน ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของภาวะที่เรียกว่า "ลองโควิด" (Long Covid) ซึ่งเป็นผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นแม้ว่าคนไข้จะหายจากการติดเชื้อโวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้วก็ตาม
นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว แซลลียังต้องเผชิญกับภาวะสมองล้า (brain fog) และอาการหายใจลำบากด้วย
"ฉันไม่เคยคิดว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับฉัน แต่มันทำให้ชีวิตฉันต้องพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ" เธอบอก
แซลลี ซึ่งทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายการศึกษาทางการแพทย์ที่กองทุนสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติแห่งมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ระบุว่าเธอไม่มีโรคประจำตัวหรือปัญหาด้านสุขภาพใด ๆ มาก่อนที่จะติดเชื้อโรคโควิด-19
เธอจำได้ว่าช่วงแรกที่ติดเชื้อ เธอมีอาการ "ปวดหัวรุนแรง" จากนั้นก็มีอาการเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียอย่างมากจนไม่สามารถลุกออกจากเตียงได้
นอกจากนี้ แซลลียังเริ่มไอแบบมีเสมหะ และสูญเสียประสาทรับกลิ่น
"สูญเสียความทรงจำ"
ในขณะที่คนไข้โควิดหลายคนจะกลับมารับรู้กลิ่นได้ตามปกติหลังจากหายป่วยแล้ว แต่กรณีของแซลลีกลับไม่เป็นเช่นนั้น
"ฉันมีการรับรู้กลิ่นที่ผิดเพี้ยน (parosmia) ซึ่งหมายความว่ากลิ่นทั้งหลายที่จมูกได้กลิ่นจะผิดเพี้ยนไปหมด" เธออธิบาย
"ฉันจะได้กลิ่นที่ผสมกันระหว่างเนื้อเน่ากับสารเคมีอยู่ตลอดเวลา"
"ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การรับรสของฉันได้รับผลกระทบไปด้วย ฉันเคยเป็นคนชอบทานอาหารมาก แต่ตอนนี้การกินกลายเป็นเรื่องแสนยากเย็น เพราะทุกอย่างมีกลิ่นที่น่าสะอิดสะเอียน"
............................
ข้อแนะนำเพื่อรับมือปัญหาการรับรู้กลิ่นที่ผิดเพี้ยน
- ทานอาหารอุณหภูมิห้อง หรืออาหารที่เย็น
- หลีกเลี่ยงอาหารทอด เนื้อย่าง หัวหอม กระเทียม ไข่ กาแฟ และช็อกโกแลต
- ลองทานอาหารรสจืด เช่น ข้าว บะหมี่ ขนมปังที่ไม่ปิ้ง ผักนึ่ง และโยเกิร์ตรสธรรมชาติ
- หากไม่สามารถทานอาหารได้ให้ลองเครื่องดื่มโปรตีนชนิดชงที่ไม่แต่งเติมรสชาติ
ที่มา: AbScent
แซลลีเล่าว่าเธอน้ำหนักตัวลดลงไป 12.7 กก. นับแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เพราะต้องหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่จะทำให้เธอรู้สึกคลื่นไส้
"แม้แต่ยาสีฟันยังให้ความรู้สึกที่แย่มาก มันเหมือนกับการแปรงฟันด้วยขี้เถ้า และเวลาอาบน้ำ ฉันรู้สึกเหมือนกำลังอาบน้ำเนื้อเน่า" เธอบรรยายถึงความทรมานที่ต้องเผชิญ
นอกจากนี้ แซลลียังมีภาวะสมองล้า ซึ่งทำให้เธอสูญเสียความสามารถในการคิดต่อเนื่อง และความทรงจำระยะสั้นของเธอก็หายไปโดยสิ้นเชิง
"เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฉันมีอาการหายใจลำบาก ฉันไม่สามารถแม้แต่จะยกเสื้อผ้าที่ซักแล้วขึ้นบันไดได้" เธอเล่า
"ฉันยังมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ที่ผิดปกติ และผลเอกซ์เรย์ก็บ่งชี้ว่าอาจมีความผิดปกติที่หัวใจของฉัน"
"ฉันกำลังรอผลอย่างเป็นทางการ แต่ฉันได้ยินว่ามันอาจเป็นผลมาจากเนื้อเยื่อแผลเป็นและปัญหาระบบหลอดเลือดที่รุนแรง มันจึงเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมากที่ฉันอาจต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้เช่นกัน"
........................................
อาการของ "ลองโควิด"
- คนส่วนมากที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะรู้สึกดีขึ้นภายในไม่กี่วันหรือสัปดาห์ แต่บางคนกลับมีอาการเรื้อรังไปนานกว่านั้น
- ลองโควิด เป็นปรากฏการณ์ที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่มีผู้เข้าใจมันมากพอ และยังไม่มีนิยามที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
- อาการมีหลากหลายมาก ตั้งแต่ อ่อนเพลีย ไอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ
- คนราว 1 ใน 5 มีอาการลองโควิดหลังจากรับเชื้อไปแล้ว 5 สัปดาห์
- คนอายุระหว่าง 35 ถึง 49 ปี มีแนวโน้มมีอาการนี้มากที่สุด ตามมาด้วยคนอายุระหว่าง 50 ถึง 69 ปี โดยผู้หญิงมีแนวโน้มจะมีอาการนี้มากกว่า
- คนที่มีอาการโควิดไม่มากในระยะแรก ก็สามารถมีปัญหาลองโควิดได้
- สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NHS England) ตั้งงบไว้ 400 ล้านบาท สำหรับคลินิกด้านลองโควิด
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ NHS
.........................................
ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองทำให้แซลลีออกมาเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 และมีส่วนในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
นพ.โอลิเวอร์ เดรย์ จากกองทุนสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติแห่งโรงพยาบาลมิด เชสเชียร์ กล่าวว่า "โควิด-19 ส่งผลต่อคนโดยไม่เลือกหน้า และเราต้องจำไว้ว่าคนหนุ่มสาวไม่มีภูมิคุ้มกันจากโรคนี้"
เขาชี้ว่าเมื่อติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ไปแล้ว สิ่งที่ต้องกังวลไม่ใช่แค่การมีชีวิตรอด แต่ยังรวมถึงผลระยะยาวที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย
"โควิด-19 เป็นโรคซับซ้อนที่สามารถสร้างความเสียหายอย่างถาวรได้"
....................................
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว