รีเซต

โควิด-19: กระบี่ช่วงไฮซีซันเมื่อไร้คนเที่ยว "ขอแค่ให้เขาพักหนี้...ขอแค่นี้ ไม่ต้องมาเยียวยาอะไร"

โควิด-19: กระบี่ช่วงไฮซีซันเมื่อไร้คนเที่ยว "ขอแค่ให้เขาพักหนี้...ขอแค่นี้ ไม่ต้องมาเยียวยาอะไร"
ข่าวสด
2 กุมภาพันธ์ 2564 ( 08:58 )
106

โควิด-19: กระบี่ช่วงไฮซีซันเมื่อไร้คนเที่ยว "ขอแค่ให้เขาพักหนี้...ขอแค่นี้ ไม่ต้องมาเยียวยาอะไร" - BBCไทย

"เหมือนคนจมน้ำ รอบแรกเราอยู่ก้นน้ำแล้ว พอโควิดหมดเราตะเกียกตะกายจากใต้น้ำเพื่อจะขึ้นมาหายใจเฮือกสุดท้าย เราเกือบจะถึงแล้วมันมารอบสอง เราเห็นพื้นน้ำวิบวับ วิบวับแล้ว แล้วก็จมลงไปใหม่"

เฉลิมพร เงินนุช ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ย่านอ่าวนาง จ.กระบี่ เปรียบเปรยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบธุรกิจอย่างเธอ จนทำให้นึกภาพตามได้ชัดเจน

 

SOMUSA BUAPAN
เฉลิมพร เงินนุช ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ย่านอ่าวนาง จ.กระบี่ กับเรือของเธอที่ไร้ลูกค้า

 

ชายหาดและท้องทะเลอ่าวนางในวันนี้คือภาพที่เธอเห็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทะเลสีคราม ไม่มีเรือท่องเที่ยวจอด หาดทรายขาวสะอาดทอดยาว ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินขวักไขว่ หรือนอนเรียงรายอาบแดด ทุกอย่างดูเงียบ สงบ จนน่าใจหาย

เฉลิมพรเป็นคนอ่าวนาง ทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมาราว 17 ปี มีเรือ 3 ลำ รับส่งนักท่องเที่ยวไปตามเกาะต่าง ๆ กับเพิ่งเปิดร้านอาหารได้ไม่นานและเคยมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ก่อนที่โลกจะรู้จักคำว่าโควิด-19

 

 

อ่าวนางคือแดนสวรรค์ริมฝั่งทะเลอันดามัน ราวเดือน ต.ค. ถึง พ.ค. ก่อนถึงฤดูมรสุมของทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย แต่เมื่อเกิดโรคระบาดที่คร่าชีวิตและส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก ธุรกิจท่องเที่ยวที่อ่าวนางจึงอยู่ในสภาพ "สิ้นแรง"

"เมื่อก่อนเป็นช่วงไฮซีซัน คนทำทัวร์ก็นั่งยิ้มกันแล้ว พีคสุด ร้านอาหารร้านเดียววันละห้าหมื่น นั่นคือพีคสุด ขาลากกันทีเดียว ช่วงพีคที่อยู่ระดับเดียวกัน จะอยู่ที่วันละสองหมื่นถึงสามหมื่น ตลอดหน้าท่องเที่ยวเลย" เฉลิมพรเล่าให้บีบีซีไทยฟัง

ร้านอาหารของเฉลิมพรเป็นร้านอาหารเล็ก ๆ มีโต๊ะนั่งไม่กี่ตัว ขายอาหารทะเลสด ๆ ด้านหน้าร้านเคยมีกุ้ง หอย ปู ปลา กั้ง ล็อบสเตอร์ วางเรียงในตู้ให้นักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติได้เลือก แต่หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกในไทย เธอต้องปิดร้านไปกว่าครึ่งปี เมื่อกลับมาเปิดอีกครั้งช่วงปลายเดือน พ.ย. ได้ไม่ถึงสองเดือน โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ก็ส่งผลกระเทือน

 

SOMUSA BUAPAN
ร้านอาหารของเฉลิมพรเป็นร้านอาหารเล็ก ๆ มีโต๊ะนั่งไม่กี่ตัว

 

วันนี้หน้าร้าน ไม่มีอาหารทะเลให้เลือกสรร เฉลิมพรต้องหันมาขายอาหารจานเดียวให้คนทั่วไปที่สัญจรไปมา ไม่เน้นเฉพาะนักท่องเที่ยว และเป็นการทำงานกันเองในหมู่เครือญาติ ไม่ได้จ้างพนักงานอีกต่อไป

"ถึงขั้นจะปิดร้านกันแล้ว คุยกับหลาน ๆ ที่มาช่วย ตอนนี้มีแต่หลาน ๆ มาช่วย ไม่ได้เรียกพนักงานเดิม ๆ กลับมาเลย เมื่อก่อนมีพนักงานเกือบยี่สิบชีวิต ตอนนี้ร้านอาหารมีค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ถ้าลูกค้าอยู่ประมาณนี้ วันหนึ่งได้พัน สองพันบาท ยังลากต่อไปได้ นอกจากเราไม่ไหวจริง ๆ แล้ว นี่เราต้องปรับตัวเองมาก ๆ เลย ขายอาหารออนไลน์ก็ทำไปด้วย สิบบาท ยี่สิบบาทก็ขาย ถามว่าคุ้มไหม มันได้ไม่คุ้ม แค่เราได้เงินมาหมุน"

สำหรับเจ้าของธุรกิจที่เคยทำเงินเข้ามาไม่ขาดสาย เฉลิมพรรู้สึก "ช็อก" จนแทบจะรับสภาพไม่ไหว "ไม่อยากแม้จะนั่งรถผ่านหน้าร้านตัวเอง เพราะมันเงียบและไม่มีคน"

 

SOMUSA BUAPAN

เฉลิมพรต้องปิดร้านไปกว่าครึ่งปี เมื่อกลับมาเปิดอีกครั้งช่วงปลายเดือน พ.ย.ได้ไม่ถึงสองเดือน โรคโควิด-19 ระลอกสองก็ส่งผลกระเทือน

"ท้อ คำว่าท้อ สะกดออกมาแล้ว แต่เราก็ยังยิ้ม ยังยิ้มได้ เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา (คนเดียว) เจอเหมือนกันหมดทั่วโลก ไม่ได้มีแค่เราที่ตกงาน มันต่างกับรอบแรกคือคนหมดตังค์ หลังจากโควิดรอบแรกซา แล้วเปิดเมืองให้คนมาเที่ยว พนักงานก็ได้กลับมาทำงาน มีกำลังซื้อ กำลังจ่าย แต่พอมารอบสองต่างคนต่างสู้ไม่ไหวแล้ว พนักงานบางคนก็กลับไปอยู่บ้านถาวร นักท่องเที่ยวตอนนี้จะเรียกว่าไม่มีเลยก็ว่าได้"

เฉลิมพรบอกว่าเธอไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากทางการ และเธอไม่ต้องการการเยียวยาอะไรมากกว่าไปกว่าการพักหนี้ ที่มีหนี้สินทั้งค่าบ้านและค่ารถ

 

SOMUSA BUAPAN
ชายหาดและท้องทะเลอ่าวนางในวันนี้คือภาพที่เฉลิมพรเห็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทะเลสีคราม ไม่มีเรือท่องเที่ยวจอด หาดทรายขาวสะอาดทอดยาว

 

"มาตรการเยียวยาไม่ได้อะไรเลย ไม่มี ไม่มีอะไรทั้งนั้น มีแต่เขาให้ไปเป็นหนี้ แต่เราก็ไม่อยากมีหนี้แล้ว คือไม่ต้องให้กู้เพิ่ม แต่พักหนี้ พักดอกเบี้ย น่าจะดี ไม่ต้องให้เรามีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ให้เราได้อยู่นิ่ง ๆ ขอแค่ให้เขาพักหนี้สักปีสองปีก็ยังดี ขอแค่นี้ ไม่ต้องมาเยียวยาอะไรเรา "

เฉลิมพรมีลูกที่กำลังอยู่ในวัยเรียน 5 คน คนโตอายุ 15 ปี และคนเล็กสุดอายุ 3 ปี ทุกวันนี้เธอพยายามทำใจยอมรับสภาพ และมองโลกในแง่ดี

วันไหนที่รู้สึกเครียด เธอจะชวนสามีและลูก ๆ ออกเรือไปตกปลา หาอาหารทะเลใกล้ ๆ บ้าน

"เรามีเรือ มันไม่อด แต่ข้าวสาร น้ำมัน ก็ต้องซื้อ แค่กับข้าวเราเอาอวน เอาไซ เอาเบ็ดไปตกปลา ก็ได้กับข้าวกลับมา คิดบวกไว้ คิดว่าเรามีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น แล้วก็คิดว่าโควิดให้อะไรเราบ้าง โควิดให้มิตรภาพ ให้เห็นน้ำใจอะไรหลาย ๆ อย่าง หลาย ๆ ด้าน ของหลาย ๆ คน ที่เราไม่เคยได้รับ หรือเขาก็ไม่เคยได้รับ เห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย คิดถึงข้อดีให้มาก ๆ"

 

 

ตอนนี้เธอหวังเพียงว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเยือนอีกครั้งในเดือน มี.ค.

"คนทำทัวร์ก็เริ่มมีความหวัง หลังจากที่เขาบอกว่าวัคซีนจะมากุมภานี้ แล้วก็ประมาณเดือนมีนาคม จะเริ่มมีลูกค้า เพราะลูกค้าที่แคนเซิลช่วงเดือน มกราคมเลื่อนมามีนาคมหมด ตอนนี้ความหวังของคนทำทัวร์ ของคนอ่าวนางคือเดือนมีนาคม"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง