หลุมยุบกระบี่! ธรณีวิทยา เผยสาเหตุเกิดจากอะไร ไม่เกี่ยวแผ่นดินไหว

ธรณีวิทยาภาคสนาม: การสำรวจหลุมยุบ
เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2568 สำนักงานทรัพยากรธรณีสุราษฎร์ธานี เขต 4 (สทข.4) โดยนายธนิต ศรีสมศักดิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุหลุมยุบในสวนปาล์มของนายสุวิทย์ หนูชู หมู่ที่ 10 ตำบลพรุเตียว อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ร่วมกับนายอำเภอเขาพนม ว่าที่ร้อยตรีนครชัย แสงมณี เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกระบี่ และผู้นำชุมชนในพื้นที่
โดยหลุมยุบเกิดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2568 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 เมตร ลึก 10 เมตร พบรอยแยกโดยรอบเป็นวงกลมกว้างราว 50 เมตร และในวันเกิดเหตุมีปริมาณฝนตกประมาณ 60 มิลลิเมตร
ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่เกิดเหตุ
เป็นตะกอนเศษหินเชิงเขา มีลักษณะเป็นทรายปนดินเหนียว อยู่บนเนินลาดเอียงลงสู่ร่องน้ำ จากการวิเคราะห์เบื้องต้นสันนิษฐานว่า น้ำใต้ดินได้พัดพาตะกอนขนาดเล็กที่อยู่ระหว่างเม็ดทรายออกไป ทำให้เกิดช่องว่างใต้ดิน เมื่อเวลาผ่านไปช่องว่างขยายตัวมากขึ้นจนทำให้ชั้นตะกอนด้านบนยุบตัวลงกลายเป็นหลุมยุบ ทั้งนี้เหตุแผ่นดินไหวขนาด 3.5 บริเวณอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2568 ดังกล่าวไม่ส่งผลต่อการเกิดหลุมยุบในครั้งนี้
ข้อเสนอแนะเบื้องต้น
1) ให้กันพื้นที่โดยรอบหลุมยุบเพื่อความปลอดภัย
2) เฝ้าระวังการทรุดตัวเพิ่มเติมจนกว่าพื้นที่จะมีเสถียรภาพ
3) หากจะดำเนินการกลบหลุมยุบ ควรใช้หินขนาดใหญ่รองก้นหลุม ตามด้วยหินขนาดเล็กและปิดทับด้วยดิน
4) เนื่องจากหลุมยุบมีขนาดใหญ่และสร้างความกังวลต่อชาวบ้านในพื้นที่ จึงควรให้กองเทคโนโลยีธรณีดำเนินการสำรวจธรณีฟิสิกส์ เพื่อประเมินสภาพธรณีใต้ผิวดินและใช้เป็นข้อมูลประกอบการบริหารจัดการพื้นที่ในระยะยาว
ทั้งนี้ หลุมยุบ (sinkhole) เป็นธรณีพิบัติภัยที่มักเกิดขึ้นในภูมิประเทศแบบคาสต์ซึ่งมีหินจำพวกละลายน้ำรองรับอยู่ใต้ผิวดิน เช่น หินปูน หินโดโลไมด์ ชั้นเกลือหิน ยิปชัม เมื่อหินเกิดการละลายพร้อมทั้งมีกระบวนการอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น การกัดกร่อน การผุพัง การชะล้างพังทลาย จะเร่งให้ชั้นดินชั้นหินที่เคยมีเคลื่อนหายออกไปจากที่เดิมจนเกิดเป็นโพรงถ้ำใต้ดินขึ้นแทนที่เมื่อเพดานโพรงถ้ำบางลงจนไม่สามารถแบกรับน้ำหนักพื้นผิวด้านบน ในที่สุดการพังถล่มหรือยุบตัวลงสู่ด้านล่างจะเกิดขึ้นและปรากฏให้เห็นเป็นหลุมกว้างบนผิวดิน
อ่านข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับหลุมยุบได้ที่ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหลุมยุบ โดยกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม https://anyflip.com/kera/tqpw/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผวา หลุมยุบตัวกระบี่ กว้าง 20 เมตร หวั่นโยงเหตุแผ่นดินไหว
- แผ่นดินไหวเมียนมา กระทบไทยเกิด "หลุมยุบบนรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน" ขยายตัวต่อเนื่อง