อำนาจ=ผลประโยชน์ ? : ‘ทุจริตน้ำมันเหนือคลอง’ ต้นแบบคดีคอร์รัปชันท้องถิ่น

เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจในการอนุมัติ กลายเป็นคู่ค้าหลักของหน่วยงานที่ตนเองบริหาร การจัดซื้อจัดจ้างจึงไม่ใช่แค่เรื่องของราคาและประสิทธิภาพ แต่คือการเปิดช่องให้ผลประโยชน์ส่วนตัวซ้อนทับผลประโยชน์สาธารณะ
บทสัมภาษณ์นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชำแหละคดีจัดซื้อน้ำมันของเทศบาลเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งกลายเป็นกรณีศึกษาเชิงระบบ ว่าการทุจริตในระดับท้องถิ่น แม้ดูเล็กน้อย แต่กำลังกัดกร่อนความไว้วางใจ และสะท้อนวิธีใช้อำนาจในแบบที่สังคมไทยไม่ควรมองข้าม
‐—--------
“การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐต้องได้ของดี ราคาถูก และเหมาะสม แต่ในความเป็นจริง หลายหน่วยงานกลับใช้โอกาสนี้จัดซื้อของแพงกว่าท้องตลาด โดยที่คุณภาพกลับไม่ดีกว่าหรือบางครั้งด้อยกว่าด้วยซ้ำ”
ประโยคเปิดบทสนทนานี้ของ นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. สะท้อนภาพปัญหาทุจริตเชิงระบบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการใช้งบประมาณโดยไม่คุ้มค่า แต่ยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน
ในฐานะผู้กำกับดูแลงานด้านคดีที่คณะกรรมการมีมติชี้มูลความผิด และผู้ประสานงานในกระบวนการยื่นฟ้องต่อศาล นายพัฒนพงศ์ยกกรณีศึกษา ‘การทุจริตจัดซื้อน้ำมันเทศบาลเหนือคลอง’ จังหวัดกระบี่ มาเล่าให้ฟัง พร้อมชี้ให้เห็นว่า แม้คดีนี้อาจดูเล็กในสายตาบางคน แต่กลับสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างชัดเจน
จากคู่ค้าสู่ผู้บริหาร การทับซ้อนของผลประโยชน์ในระดับท้องถิ่น
หนึ่งในกรณีศึกษาที่นายพัฒนพงศ์ยกมา คือ คดีการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงของ เทศบาลตำบลเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ โดยเริ่มต้นจากการที่ผู้ถูกกล่าวหาเคยเป็นกรรมการบริษัทที่ขายน้ำมันให้กับเทศบาล ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี
“แม้จะเปลี่ยนสถานะจากภาคเอกชนเป็นผู้บริหารท้องถิ่น แต่กิจกรรมทางธุรกิจที่มีผลประโยชน์ร่วมกับเทศบาลยังคงดำเนินอยู่ โดยเทศบาลยังจัดซื้อน้ำมันจากบริษัทเดิม ซึ่งภรรยาและบุตรของนายกเทศมนตรีคนดังกล่าวยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทอยู่”
พฤติกรรมลักษณะนี้เข้าข่าย “ขัดกันแห่งผลประโยชน์” อย่างชัดเจน แม้เจ้าตัวจะลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทหลังถูกทักท้วง แต่การที่บุคคลในครอบครัวยังมีบทบาทในบริษัท และเทศบาลยังคงเป็นลูกค้าหลัก ถือเป็นการทับซ้อนของอำนาจหน้าที่และผลประโยชน์ส่วนตัวที่กฎหมายห้ามไว้
คดีตัวอย่างที่ ป.ป.ช. ตัดสินใจ “ฟ้องเอง”
นายพัฒนพงศ์ เล่าว่า คดีนี้ถือเป็น คดีแรกที่ได้รับผิดชอบหลังเข้ารับตำแหน่ง และเป็นกรณีสำคัญที่ ป.ป.ช. ตัดสินใจใช้อำนาจ ‘ฟ้องคดีเอง’ แทนการส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการ
ตามกระบวนการปกติ เมื่อ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดในคดีทุจริต จะต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินคดีต่อ หากความเห็นไม่ตรงกันระหว่างสองฝ่าย ป.ป.ช. จะตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหาข้อยุติ แต่ถ้ายังเห็นต่าง ป.ป.ช. มีอำนาจตามกฎหมายในการฟ้องคดีเองได้ ซึ่งในกรณีนี้ ป.ป.ช. เห็นว่าคดีมีความสำคัญเชิงหลักการ จึงตัดสินใจฟ้องต่อ ศาลจังหวัดกระบี่ โดยตรง
“แม้เป็นคดีเล็กน้อยในสายตาบางคน แต่สามารถสร้างบรรทัดฐานให้สังคม และเป็นแบบอย่างให้หน่วยงานอื่น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าระดับชาติหรือท้องถิ่น ต้องตระหนักว่าการใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองหรือคนใกล้ชิดนั้นผิดกฎหมายและจริยธรรม” ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ย้ำ
ศาลชี้ชัดผิด 66 ครั้ง จำคุกแต่รอลงอาญา
คดีนี้สิ้นสุดลงด้วยการที่จำเลยให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดซื้อจัดจ้างที่ดำเนินการไปจำนวน 66 ครั้ง เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และแต่ละครั้งถือเป็นความผิดแยกนับ หมายความว่า แม้จะเป็นธุรกรรมจากแหล่งเดียวกัน แต่กฎหมายมองเป็นความผิดซ้ำซ้อนในแต่ละรอบการอนุมัติ ส่งผลให้ศาลมีคำพิพากษา ลงโทษจำคุกตามกระบวนการ แต่เนื่องจากจำเลยไม่มีพฤติกรรมหลบหนีและรับสารภาพ ศาลจึงมีคำสั่งให้ รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ชั่วคราว
แม้ผลคดีจะไม่มีการจำคุกจริงในทางปฏิบัติ แต่สำหรับคณะกรรมการ ป.ป.ช. มองว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่ "หลักการ" มากกว่าผลลัพธ์ทางคดี เพราะการใช้ตำแหน่งในทางที่ผิดเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าจะด้วยเจตนาแสวงหากำไรโดยตรงหรือโดยอ้อม ล้วนเป็นพฤติกรรมที่สังคมต้อง ไม่ยอมรับเด็ดขาด คดีนี้จึงถือเป็น คดีต้นแบบ ที่ยืนยันว่า ไม่ว่าการทุจริตจะเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ เมื่อมีการใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ย่อมต้องถูกตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา
‘คอร์รัปชัน’ คือ การกีดกันโอกาสของคนดี
คอร์รัปชันไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อรัฐหรือประชาชนผู้เสียภาษี แต่ยังเป็นการ ปิดกั้นโอกาสของผู้ประกอบการที่สุจริต และทำให้ระบบที่ควรเปิดกว้างสำหรับการแข่งขันอย่างเป็นธรรม กลายเป็นเวทีที่ถูกผูกขาดโดยผู้มีอำนาจหรือผู้ใกล้ชิดกับอำนาจ ผลลัพธ์คือ คนดี คนมีความสามารถ และผู้ที่ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส กลับถูกกันออกจากระบบอย่างไม่เป็นธรรม
“แม้ว่าจะเป็นกรณีที่ซื้อน้ำมันปกติ แต่ถ้ามีร้านค้าหรือบริษัทอื่นเข้ามาแข่งขัน อาจซื้อได้ในราคาถูกกว่า... การที่ตัวเองไปซื้อของในกิจการของตัวเอง ย่อมปิดโอกาสคู่ค้าหรือคู่แข่งในเรื่องของสินค้า ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่ผู้ประกอบการรายอื่นจะเข้ามาทำธุรกรรม... การบริการสาธารณะก็ไม่เต็มที่”
ข้อเตือนใจถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ
“เราเข้ามาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองหรือผู้มีอำนาจ”
ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ฝากถึงเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับว่า การดำรงตำแหน่งในระบบราชการต้องยึดหลักความโปร่งใส เคารพระเบียบ และไม่เข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการของหน่วยงานที่ตนเองกำกับดูแล
“การจัดซื้อจัดจ้าง
ต้องระมัดระวัง อย่าไปเป็น
เครื่องมือให้ผู้มีอำนาจ ต้องยึดประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง
ให้สมเกียรติศักดิ์และศักดิ์ศรี
ของการเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ”
ป.ป.ช. พร้อมเดินหน้าตรวจสอบ ไม่เลือกปฏิบัติ
นายพัฒนพงศ์ ยืนยันว่า ป.ป.ช. ไม่เคยเลือกปฏิบัติ ทุกคดีที่มีพยานหลักฐานชัดเจนจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนอย่างเป็นธรรม และในปัจจุบันยังมีเครื่องมือทางกฎหมายหลายประการรองรับการตรวจสอบอย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น การกันไว้เป็นพยาน, การคุ้มครองพยาน, หรือ กฎหมายป้องกันการปิดปากพยานและผู้ร้องเรียน ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่หรือประชาชนที่กล้าเปิดโปงความไม่โปร่งใสถูกฟ้องกลับหรือกลั่นแกล้ง
“วันใดที่ประชาชนร่วมกันตรวจสอบอย่างจริงจัง ระบบของเราจะทำงานได้อย่างเข้มแข็ง เพราะสุดท้ายแล้ว อำนาจของรัฐต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของประชาชน”
คอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่แค่เรื่องของคนอื่น
แต่คือหน้าที่ร่วมกันของคนในสังคม ที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกัน และรักษาอนาคตของประเทศ
รับชมบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
ฟังทุกมุมมองจากผู้ปฏิบัติงานจริง พร้อมวิเคราะห์คดี “ทุจริตน้ำมันเหนือคลอง” และบทเรียนสำหรับผู้มีอำนาจทุกระดับ
👉 คลิกชมคลิปเต็มได้ที่นี่ https://www.youtube.com/@TNN.Online/videos