รีเซต

“วัคซีนโควิด-19” ความหวังท่องเที่ยว-เศรษฐกิจไทยฟื้นคืนชีพ

“วัคซีนโควิด-19” ความหวังท่องเที่ยว-เศรษฐกิจไทยฟื้นคืนชีพ
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2564 ( 17:20 )
228

ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ช่วงนี้ยังรุนแรงไม่ตก ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นรายวัน ส่งผลให้ภาครัฐยกระดับมาตรการป้องกันที่เข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการเดินทาง  เพิ่มความเข้มงวดกรณีเดินทางออกนอกพื้นที่ต้องมีการกักตัว 14 วัน โดยเฉพาะหากเดินทางจากพื้นที่การระบาดรุนแรง การประกาศปิดสถานบันเทิง ห้าง ร้าน สปา นวดแผนไทย ฯ ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ  แน่นอนว่าผลกระทบต่อเนื่องเป็นโดมิโน่เพราะเมื่อธุรกิจปลายน้ำปิดตัว ต้นน้ำก็ย่อมกระทบตามไปด้วย 

ธุรกิจที่ฉายภาพปัญหาให้เห็นชัดเจนอันดับต้นๆ ก็เห็นจะเป็น ภาคการท่องเที่ยว ด้วยสถานการณ์ที่หลายคนงดการเดินทาง ชะลอแผนท่องเที่ยวออกไปเพราะสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก ผลกระทบจึงตกมายังบรรดาผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก ต่อเนื่องไปยัง ร้านค้า ร้านอาหาร เรือโดยสาร พ่อค้าแม่ขายในพื้นที่ท่องเที่ยว ลูกค้าหาย รายได้ก็หด!!

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว กระทบกันเป็นห่วงโซ่

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ระบุว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านแทรเวลเอเย่นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญคือ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป เปลี่ยนมาเดินทางด้วยตัวเองมากขึ้น

ด้าน นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไป (สปข.)และรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ธุรกิจทัวร์นำเที่ยวได้รับผลกระทบมาโดยตลอดตั้งแต่โควิด-19 ระลอกแรก ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และตั้งแต่เริ่มต้นปี 2564 เป็นต้นมารายได้หายไปกว่า 95% หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทต่อเดือน จากจำนวนผู้ประกอบการทัวร์ในตลาดรวมราว 50,000 ราย 

โดยขณะนี้เหลืออยู่เพียง 40% หรือ 20,000 ราย เท่านั้นที่หากมีงานกลับมาก็สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ส่วนอีก 40% หรือ 20,000 ราย ได้ปิดกิจการลงอย่างถาวร ขณะที่อีก 20% หรือ 10,000 ราย ยังอยู่ระหว่างปิดชั่วคราว แต่ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกลับมาเปิดได้หรือไม่ อีกทั้งกระทบต่อเนื่องไปยังแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต้องถูกเลิกจ้างไปเป็นจำนวนมาก

ปัญหาเลิกจ้างยังเป็นปัญหาใหญ่ เพิ่มคนจนในประเทศ

ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์  ผู้อำนวยการแผนการศึกษาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย เปิดเผยว่า ในงานวิจัยในชุดโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่อยู่ระหว่างการศึกษา โดยดูจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบแรก และระลอก 2 ไม่รวมผลกระทบระลอก 3 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ พบว่าแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สาขาโรงแรม ที่พักและอาหาร โดยคาดว่ามีผู้ว่างงาน 1.29 ล้านคนและมีรายได้ลดลงร้อยละ 46 

อย่างไรก็ตามเพียงแค่ 2 ระลอกที่ผ่านมาก็ทำให้ตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจหลาย ๆ ด้านลดลง ไม่ว่าจะเป็น GDP อัตราเงินเฟ้อ สวัสดิการสังคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออก การนำเข้า การบริโภค มีเพียงการลงทุนเท่านั้นที่ และที่น่ากังวลก็คือ โควิด-19 ทำให้คนไทยกลายเป็นคนจน และคนเกือบจนมากขึ้นจาก 9.8 ล้านคนเป็น 13.8 ล้านคน (ระลอกแรก) และเพิ่มเป็น 17 ล้านคนในระลอก 2  โดยมาตรการภาครัฐยังเข้าไม่ถึงคนท่องเที่ยวมากนัก

ระดมฉีดวัคซีนเรียกความเชื่อมั่น 

ปัจจุบันองค์การอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 3 ยี่ห้อ ได้แก่ ซิโนแวค (Sinovac) แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson)และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียนอีก 3 ตัวคือโมเดอร์นา (Moderna) โควาซิน (Covaxin) และสปุตนิก วี (Sputnik V)

ฝั่งภาคเอกชนนำโดยหอการค้าไทย ได้หารือกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 40 ประเทศ ในการจัดหาวัคซีนทางเลือก 

คลิกอ่านบทความอื่นๆ

โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย  เปิดเผยว่า แม้รัฐบาลจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัคซีนเองทั้งหมด แต่รัฐบาลก็ไม่ปิดกั้นให้เอกชนดำเนินการจัดหา ดังนั้นหอการค้าไทยจึงได้ประสานกับหอการค้าต่างประเทศขอให้สมาชิกประเทศต่างๆหาข้อมูลวัคซีนของประเทศนั้นๆที่ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพียงพอแล้วและมีวัคซีนเหลือพอที่จะจัดสรรให้กับประเทศไทยได้  หากได้ข้อมูลแล้วก็ให้นำข้อมูลดังกล่าวนี้นำมาให้หอการค้าเพื่อนำข้อมูลนี้ไปประสานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอให้ประสานประเทศที่มีวัคซีนเหลือ ให้ประเทศไทยได้ซื้อมาฉีดให้กับประชาชน ซึ่งหอการค้าไทยมองว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางหนึ่งที่จะเร่งจัดหาวัคซีนได้มากขึ้น 

"โควิดรอบนี้ถือว่าหนักหนาสาหัส หากไม่เร่งจัดซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชาชนให้คลอบคลุม70 % ของประเทศ ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตที่จะฟื้นตัวช้าลงและกระทบต่อแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว "นายสนั่น กล่าว

เป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวปี 2564 อยู่ที่ 8.5 แสนล้านบาท 

สำหรับเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ตั้งเป้ารวมที่ 8.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นต่างประเทศ 3 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยว 4 ล้านคน และจากไทยเที่ยวไทย 5.5 แสนล้านบาท ด้วยจำนวนการเดินทางท่องเที่ยว 100-120 ล้านคนครั้ง ซึ่งการจะเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายได้เร็วที่สุด คือ สถานการณ์ต้องคลี่คลายโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางออกไปเที่ยวได้อย่างสบายใจ พร้อมรับต่างชาติ

ดังนั้น แนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยพ้นวิกฤตนี้โดยเร็ว ก็คือการเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง อย่างน้อยก็จะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมา ด้วยความหวังที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 3 ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นคืนกลับมา จึงเป็นหนทางที่หลายฝ่ายอยากเห็น  "เพราะเวลานี้ หลายคนน่าจะโหยหาการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านแบบปกติกันมากที่สุด" 




ข่าวที่เกี่ยวข้อง