รีเซต

รวม 5 ผลกระทบโควิด-19 ในปี 2020

รวม 5 ผลกระทบโควิด-19 ในปี 2020
PakornR
22 ธันวาคม 2563 ( 14:41 )
131.1K
2

ความยากลำบากในการใช้ขีวิตในปี 2020 เป็นความยากลำบากอย่างล้นเหลือ อันเนื่องมาจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ผลกระทบเกิดขึ้นกับทุกคนบนโลก 

 

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2562 จากประชากรจำนวน 21 ล้านครัวเรือน พบว่า 59.2% (12.7 ล้านครัวเรือน) มีเงินสำรองสะสมไว้ใช้ได้น้อยกว่า 3 เดือนของค่าใช้จ่ายปกติ และมีถึง 7 ล้านครัวเรือนมีเงินออมสำรองใช้ได้เพียง 1 เดือน ยิ่งพรั่นพรึงกับวิกฤติครั้งนี้ แม้ว่าการควบคุมโรคของประเทศไทยทำได้ดี จนองค์การอนามัยโลกยกย่องในมาตรการต่างๆ ที่จัดการโควิด-19 แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ได้รอดปลอดภัย เพราะสถานการณ์การระบาด "ระลอกใหม่" ใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งยังแค่เริ่มต้น ไม่รู้ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีวิกฤต มักมี New Normal ตามมา   ตัวอย่างเช่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ชายถูกเกณฑ์ออกไปเป็นทหารจำนวนมาก  ทำให้จากปกติผู้หญิงเคยอยู่แต่บ้าน  ต้องออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว  ทำให้เกิด New Normal ที่ผู้หญิงออกนอกบ้านไปทำงาน  หรืออย่างเหตุการณ์ 911 ที่มีการก่อการร้ายทำให้เกิดมาตรฐานการบินในเรื่องการป้องกันก่อการร้ายและความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น  หรือวิกฤตโรคซารส์  ทำให้  e-Commerce ในจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์เติบโต  เพราะคนต้องซื้อของออนไลน์    

 

สำหรับ วิกฤติโควิด-19 ทางทีมข่าว trueID ประมวลผลกระทบใน 5 ด้านในปี 2020 เอาไว้ ที่ส่งผลให้ชีวิตต้องมี New Normal เกิดขึ้นหลายเรื่อง รายละเอียดดังนี้ 

 

1.ผลกระทบด้านการจ้างงาน  

 

แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ ประเมินว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เราล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ขณะเดียวกันการระบาดระลอกใหม่จากพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ที่ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการจับตาถึงมาตรการที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในระยะต่อไป ทำให้สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

อย่างไรก็ดี จากบทความของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง “ผลกระทบโควิด-19 ต่อผลแรงงานไทย” (โดย  ​ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์, นางสาวพรชนก เทพขาม, นางสาวนันทนิตย์ ทองศรี  ธนาคารแห่งประเทศไทย และ นางสาวพัชยา เลาสุทแสน สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ได้นำเสนอข้อมูลเพื่อให้นำมาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์แนวโน้มต่อไป

 

"ตัวเลขการจ้างงานเปลี่ยนแปลงช้ากว่าสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีนายจ้างจึงพยายามรักษาลูกจ้างไว้โดยลดชั่วโมงการทำงานก่อน เมื่อมีความจำเป็นจึงค่อยเลิกจ้าง"

 

 

ข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ว่างงานกว่า 7.5 แสนคน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกันถึงเกือบเท่าตัว ส่วนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานตามมาตรา 38 ก็เพิ่มสูงขึ้นไปที่ประมาณ 3 แสนคน ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกถึงความรุนแรงของผลกระทบและประเมินไว้ก่อนหน้าว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบหลายล้านคน จึงมีความสงสัยว่าตัวเลขการว่างงานของไทยที่จัดทำบนฐานของการสำรวจอาจครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าความเป็นจริง

 

อย่างไรก็ดี โครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีลักษณะที่นายจ้างมักปรับตัวโดยการปรับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงาน มากกว่าการเพิ่มหรือลดคนงานแบบฉับพลัน ส่วนหนึ่งอาจมาจากการหาแรงงานที่มีทักษะเหมาะสมกับงานนั้นทำได้ยากหรืออยู่กันมานานแบบครอบครัว ส่งผลให้ตัวเลขการจ้างงานเปลี่ยนแปลงช้ากว่าสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีนายจ้างจึงพยายามรักษาลูกจ้างไว้โดยลดชั่วโมงการทำงานก่อน เมื่อมีความจำเป็นจึงค่อยเลิกจ้าง

 

 

 

เครื่องชี้หนึ่งที่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน คือ ตัวเลขผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน (รายละเอียดในบทความในกรอบ: ส่องตลาดแรงงานไทย...ฟื้นตัวแค่ไหนหลังเปิดเมือง รายงานนโยบายการเงิน กันยายน 2563) ในไตรมาสสองมีจำนวนสูงถึง 5.4 ล้านคนเพิ่มขึ้นถึง 3.4 ล้านคนจากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งการที่แรงงานกลุ่มนี้ยังมีงานทำแต่มีชั่วโมงทำงานอยู่ในระดับต่ำสะท้อนความเปราะบางของตลาดแรงงานไทย ที่แม้หลายธุรกิจพยายามประคับประคองธุรกิจไว้ ไม่เลิกจ้างไปซะทีเดียว แต่ใช้วิธีลดเวลาการทำงาน แรงงานกลุ่มนี้จึงอาจได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน และหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า จนส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงไปในที่สุด กลุ่มคนที่เสมือนว่างงานก็จะเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นผู้ว่างงานได้

 

"แท้จริงแล้วแรงงานไทยยังอยู่ในระบบประกันสังคมเพียงหนึ่งในสามของแรงงานทั้งหมด ทำให้เมื่อเกิดเหตุวิกฤตภาครัฐจึงต้องใช้งบประมาณในการเยียวยาเป็นจำนวนมาก"

 

ทั้งนี้ รัฐจึงมีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการโอนเงินเยียวยาในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ซึ่งดำเนินการได้ครอบคลุม โดยผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ว่างงานจะได้รับเงินสิทธิประโยชน์และสำหรับผู้ประกันตนที่ยังมีงานทำแต่ได้รับผลกระทบจะสามารถใช้สิทธิ์เหตุสุดวิสัยซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิ์กว่า 8 แสนรายในช่วงไตรมาสสอง สำหรับแรงงานนอกระบบประกันสังคมทั้งในและนอกภาคเกษตรต่างก็ได้รับเงินเยียวยาเช่นเดียวกัน ซึ่งแท้จริงแล้วแรงงานไทยยังอยู่ในระบบประกันสังคมเพียงหนึ่งในสามของแรงงานทั้งหมด ทำให้เมื่อเกิดเหตุวิกฤตภาครัฐจึงต้องใช้งบประมาณในการเยียวยาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการขยายขอบเขตโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมให้แรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมจะเป็นวิธีป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว

 

ในวิกฤตย่อมมีโอกาส แม้จะมีคนไทยที่มีชั่วโมงการทำงานต่ำลงรวมถึงกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องการหางานกว่า 2.6 แสนคนในไตรมาสสอง หากมองว่าคนเหล่านี้จะมีเวลาเหลือมากขึ้นจึงเป็นโอกาสให้สามารถยกระดับทักษะ upskill และปรับทักษะ reskill โดยภาครัฐควรออกแบบนโยบายยกระดับศักยภาพแรงงานควบคู่ไปกับการให้เงินช่วยเหลือ ซึ่งจะไม่เพียงประคับประคองให้แรงงานอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤต แต่จะทำให้แรงงานสามารถปรับตัวเข้ากับทักษะใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในยุคปกติใหม่ ผ่านการพิจารณาหลักสูตรให้เหมาะสมกับความต้องการของนายจ้าง และสามารถต่อยอดพื้นฐานทักษะของแรงงาน แล้วจึงจัดสรรสถาบันฝึกอบรมทั้งในห้องเรียนและออนไลน์ ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งการออกแบบมาตรการเหล่านี้จะต้องอาศัยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลการศึกษา การทำงาน และการได้รับสวัสดิการจากภาครัฐ

 

การจำแนกตัวเลขผลกระทบของโควิด 19 ที่มีต่อตลาดแรงงานไทย มีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง โดยหลายหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ใช้ข้อมูลเชิงลึกในรายละเอียด เพื่อออกแบบมาตรการการช่วยเหลือที่ทันกาล ครอบคลุม และตรงจุด ทั้งในมิติการคลัง การเงิน และการสร้างงานให้มีความเพียงพอรองรับผู้ได้รับผลกระทบ

 

โดยสรุปแล้ว ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานประกันสังคม สะท้อนว่าแรงงานได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 มาก โดยโครงสร้างตลาดแรงงานไทยที่ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานอาจทำให้ตัวเลขผู้ว่างงานและผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานปรับเพิ่มขึ้นไม่มากเท่ากับความรู้สึกของสังคม แต่ตัวเลขเสมือนว่างงานรวมถึงตัวเลขผู้ประกันตนที่ยังมีงานทำแต่ได้รับผลกระทบและใช้สิทธิ์เหตุสุดวิสัย แสดงให้เห็นผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งข้อมูลจากแบบสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรมีส่วนสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างของข้อมูลแรงงานนอกระบบประกันสังคมที่ประเทศยังมีไม่มากนัก ทั้งนี้ หากเราสามารถบูรณาการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการขึ้นทะเบียนทั้งในช่วงก่อนหน้าและในช่วงวิกฤตนี้ เช่น ข้อมูลบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยและข้อมูลเงินช่วยเหลือโครงการเราไม่ทิ้งกัน เป็นต้น จะช่วยให้สำนักงานสถิติแห่งชาติสามารถให้ความสำคัญกับการสำรวจเชิงลึกในส่วนที่ข้อมูลทางการยังไม่ครอบคลุม และจะเปิดโอกาสให้ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสามารถดำเนินการเชิงรุกด้วยการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด เช่นเดียวกับในหลายประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ได้รับผลกระทบเป็นฝ่ายขึ้นทะเบียน ซึ่งไม่เพียงทำให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็วและประหยัดต้นทุนในการบริหารจัดการ แต่จะเอื้อให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมมีความต่อเนื่องและทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

 

2.ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวและการบิน  

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่เดือน ม.ค. - ต.ค.2563 รวมทั้งสิ้น 6,692,775 คน เทียบกับปี 2019 ที่มียอด 32,582,548 คน ลดลงไปถึง -79.46 % เฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ลดลงไปถึง 86.64% สาเหตุหลักมาจากการปิดประเทศ ทำให้สายการบินต่าง ๆ ไม่สามารถขึ้นบินได้ตามปกติ และแม้ว่าในระยะหลังจะเริ่มมีการรับนักท่องเที่ยวพิเศษ เข้ามาประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขกักตัวใน ASQ (Alternative State Quarantine) สถานกักกันทางเลือกที่รัฐกำหนด แต่ยังมีจำนวนไม่มากเท่าไร และเมื่อมาเจอกับสถานการณ์โควิดจากตลาดกลางกุ้ง ทำให้การเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอีกครั้ง ต้องชะงักลงไป

 

เสนอ 4 มาตรการช่วยเหลือ

 

“มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (Thai Hotels Association : THA) ได้ให้มุมมองเอาไว้ว่า 4 เรื่องสำคัญ ที่ต้องดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว คือ 1.เรื่องมาตรการทางการเงิน ที่ควรจะมีกองทุนเปิดเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ 2.มาตรการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉพาะกลุ่มมากขึ้น 3.กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น และ 4.มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ และบุคลากรภาคท่องเที่ยวอื่น ๆ

 

คลิกอ่าน >>> เปิดแนวคิดกู้วิกฤตโรงแรมไทย เสี่ยงตกงานร่วมล้านคน

 

เสี่ยงตกงานร่วมล้านคน

นอกจากนี้ คุณมาริสา ยังมองว่า หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น โรงแรมจะอยู่ไม่ได้ โดยภาระรายจ่ายเงินเดือนจะเป็นภาระหลักของโรงแรม จึงจำเป็นต้องลดลง อาจจะชั่วคราว หลายโรงแรมต้องลดคนลดพนักงาน ที่ประเมินไว้ 990,000 คน ในธุรกิจท่องเที่ยวที่จะต้องลด ในอนาคตถ้ายังรับเข้ามาไม่ได้ ก็กระทบต่อธุรกิจโรงแรมมากขึ้น

 

 

3.ผลกระทบด้านการส่งออก

 

ยอดส่งออกหดตัว

 

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ได้สะท้อนมูลค่าส่งออก ในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่หดตัวถึง 22.5% ต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ผลักดันให้การส่งออก 5 เดือนแรกของปี 2563 หดตัว 3.7%

 

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงาน มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 4.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ 3.7 ปรับดีขึ้นมากจากที่หดตัวถึงร้อยละ 13.6 ในเดือนก่อน ตามการส่งออกในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่กลับมาขยายตัวได้ ขณะที่ยานยนต์และชิ้นส่วนหดตัวน้อยลง ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงตามการผลิตที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศ และมีผลของฐานต่ำในปีก่อนในหมวดการผลิตยานยนต์และปิโตรเลียม

 

 

ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน

สิ่งที่ทำให้เห็นชัดในผลกระทบต่อการส่งออก คือ เรื่องการหดตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งทั้งทางอากาศและทางทะเล ชะงักลงไปตามมาตรการล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศ อีกทั้งปัญหาล่าสุด คือ การเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ที่ไปตกค้างประเทศปลายทาง ซึ่งยังไม่สามารถนำสินค้าถ่ายลงจากตู้คอนเทนเนอร์ได้ จึงตกค้างอยู่ และเมื่อบางส่วนนำลงได้แล้ว เมื่อเรือเดินทะเลนำกลับมา ก็เกิดปัญหาการแย่งชิงตู้เปล่า ด้วยการเสนอราคาที่ดีกว่า ทำให้ตู้บางส่วนไม่กลับมาถึงประเทศไทย รวมกับกลับปัญหาค่าระวางเรือที่แพงขึ้นทำให้กลายเป็นปัญหาใหม่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนต่อวงการการส่งออกของไทย

 

4.ผลกระทบด้านการศึกษา  

 

สิ่งที่เห็นได้ชัด เมื่อเกิดผลกระทบโควิด-19 ต่อวงการการศึกษา คือ การเลื่อนการเปิดภาคเรียน ตลอดจนการสั่งปิดสถานศึกษา เพราะด้วยเหตุผลการเป็นจุดรวมตัวมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อเนื่องตามมา

 

 

จากการสำรวจข้อมูลของ โครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า กสศ.ได้ประมวลข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษเพื่อจัดสรรทุนเสมอภาค พบว่า ปี 2563 ภาคเรียนที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนนักเรียนที่สมัครคัดกรองทั้งสิ้น 1,831,250 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 1,558,397 คน หรือ 17.5%   สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน อีกด้านหนึ่งเป็นผลจากความทุ่มเทตั้งใจของคุณครูทั่วประเทศที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน คัดกรองนักเรียนเข้ามา

 

นักเรียนยากจนกระทบหนัก

 

ซึ่ง รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญาสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ตัวเลขนี้ชี้ชัดว่า โควิด-19 ทำให้เด็กและครัวเรือนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาความเหลี่อมล้ำทางการศึกษาจะทวีความรุนแรง มีแนวโน้มที่เด็กจะมีความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบมากขึ้น

 

คลิกอ่าน >>>โควิด-19 ซ้ำเติมเหลื่อมล้ำนักเรียนยากจนพุ่ง 3 แสนราย

 

ยิ่งหากพิจารณาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเฉลี่ยของนักเรียนในโรงเรียนรัฐของเด็กที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษในแต่ละช่วงอายุ เด็กแต่ละคนจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเดินทางไปโรงเรียนสูงที่สุด รองลงมาคือ ค่าธรรมเนียม ค่าเครื่องแบบ และค่าหนังสือ อุปกรณ์การเรียน และมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่สูงขึ้นเมื่อมีการเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น มากกว่า 3-4 เท่าของรายได้

 

ปิดเรียนนานความรู้หดหาย

นอกจากนี้ thaipublica.org รายงานว่า 1. ผลกระทบจากการปิดเรียนอันยาวนาน งานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปิด-ปิดโรงเรียนล่าช้า พบว่าการออกจากโรงเรียนประมาณ 6 สัปดาห์ อาจจะทำให้ความรู้ของเขาหายไปถึงครึ่งปีการศึกษา ซึ่งสภาวะการถดถอยของทุนมนุษย์ (human capital) อาจจะนำไปสู่การถดถอยของการเติบโตทางเศรษฐกิของประเทศได้ด้วย

 

2. การวิเคราะห์เรื่องความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา รวมถึงผลลัพธ์ของการเรียนรู้แบบออนไลน์ พบว่าการเรียนรู้ที่เป็นที่นิยมของสถานศึกษาในยุค COVID-19 คือการเรียนผ่านระบบออนไลน์ แต่ก็มีปัญหาในบางมิติ ในด้านของความเหลื่อมล้ำดิจิทัล (digital divide) ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ทักษะความรู้ของครูและผู้ปกครองในการช่วยสนับสนุน

 

และ 3. การให้เงินอุดหนุน ให้เงินอุดหนุนไปที่สถานศึกษา ศูนย์เด็กเล็ก และแนวทางการช่วยเหลืออื่นๆ จะเป็นสิ่งที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของปัญหาได้

 

5.ผลกระทบด้านสุขภาพ

 

เรื่องนี้เป็นปัญหาโดยตรงของการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อมวลมนุษยชาติ ในเรื่องสุขภาพวะ การระบาดครั้งนี้เป็นมหาวิกฤติ ล่าสุด (22 ธ.ค.) ยอดผู้ติดเชื้อ มากกว่า 77 ล้านคน ยอดเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1.7 ล้านคน มาตรการภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งการปรับตัวของผู้คน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนทั่วโลก

 

กิจกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่สามารถกระทำได้ในช่วงการระบาด โดยเฉพาะที่ใกล้ชิดกัน รวมกลุ่มกันจำนวนมาก เพราะมีความเป็นห่วงเรื่องการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 มากที่สุด แม้ล่าสุดจะมีข่าวดีจากผลการศึกษาการทดลองวัคซีน จากบริษัท Pfizer ที่พัฒนาวัคซีนร่วมกับบริษัทBioNTech ออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า วัคซีนนี้สุดท้ายจะมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคอย่างไรบ้าง ซึ่งโลกกำลังเฝ้ามองอยู่  อีกทั้งกระบวนการกระจายของวัคซีนให้แพร่หลายทั่วโลกจะดำเนินการได้อย่างไรบ้าง 

 

อย่างไรก็ดี  ในช่วงระหว่างรอวัคซีน มาตรการการป้องกันตนเองยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สวมหน้ากาก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง ลดความแออัด ยังคงเป็นเครื่องมือป้องกันการติดต่อได้ดีอยู่ในระดับหนึ่ง

 

แนวโน้มการระบาด ใน 4 ช่วง

 

นอกจากนี้ แนวโน้มที่จะเผชิญกับผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19 โดยแบ่งเป็นคลื่น 4 ลูก ดังนี้

 

 

คลื่นลูกที่ 1 คือ ช่วง 1-3 เดือนแรกที่เริ่มมีโรคระบาด และอาจยาวนานถึง 9 เดือน หากมีการกลับมาระบาดซ้ำ เป็นช่วงที่สร้างผลกระทบกับสุขภาพของคนและขีดความสามารถของโรงพยาบาล เพราะพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง ต้องใช้ทรัพยากรสาธารณสุขในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้น และอาจต้องเลื่อนนัดผู้ป่วยที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 ไปก่อน

 

คลื่นลูกที่ 2 คือ ช่วง 2-4 เดือนหลังเริ่มมีโรคระบาด เป็นช่วงที่ผู้ป่วยเร่งด่วนที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เช่น ผู้ป่วยผ่าตัดที่รอได้ ผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ ต้องได้รับการดูแลหลังจากชะลอการพบแพทย์ไปก่อนหน้านี้ และอาจกลับมาสู่หน่วยบริการแบบ “ล้นทะลัก (Influx)” คาดการณ์ว่าผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในกลุ่มนี้ หายไปจากโรงพยาบาลประมาณร้อยละ 20-50

 

คลื่นลูกที่ 3 คือ ช่วง 4-9 เดือนหลังเริ่มมีโรคระบาด เป็นช่วงที่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดัน เบาหวาน เอชไอวี/เอดส์ และโรคจิตเวชเรื้อรัง ซึ่งให้อยู่รักษาที่บ้านหรือรับยาผ่านไปรษณีย์ในช่วงก่อนหน้านี้ ต้องกลับมาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์หรือรับการรักษา

 

คลื่นลูกที่ 4 คือช่วง 1-3 ปี หลังมีโรคระบาด เกิดผลกระทบระยะยาวใน 3 ด้าน ได้แก่ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ (Economic injury) ซึ่งส่งผลลูกโซ่มายังผลกระทบด้านสุขภาพจิต เช่น คนมีความเครียด ซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ การให้บริการในภาวะวิกฤติมาอย่างยาวนานยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจมีภาวะเหนื่อยล้าและหมดไฟ โดยผลกระทบใน 3 ด้านมีความรุนแรงที่ “ขึ้นเร็ว” และ “ลงช้า”

 

อีกทั้ง จากการระบาดที่ยาวนาน ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงิน ทำให้ประชาชนเกิดปัญหาสุขภาพจิตใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ภาวะเครียด (Stress) 2.ภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟ (Burnout) 3.โรคซึมเศร้า (Depression) และ 4.การฆ่าตัวตาย (Suicide) ตามมาได้ โดยกรมสุขภาพจิต ได้ทำการสำรวจภาวะความเครียด พบว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาดประชาชนอาจเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นและอาจเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอีกด้วย

 

คลิกอ่าน >>> "โควิด-19" กระทบสุขภาพจิต 4 ด้าน สธ.-มหิดล พัฒนา "แชทบอท" ให้คำปรึกษาออนไลน์

 

ผลกระทบทั้ง 5 ด้านที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยได้เจอกันมาก่อน ปีแรกของการระบาดในปี 2020 สร้างการเรียนรู้ และเพิ่มความตระหนักให้กับทุกประเทศ ได้เรียนรู้ เพื่อวางแผนสู้ และ รับมือ กับสถานการณ์ทุกด้าน

 

ในปี 2021 มวลมนุษยชาติจะยังไม่สิ้นหวัง ยังคงร่วมกันยืนหยัด และหาทางเรียนรู้ ต่อสู้ เพื่อเอาชนะโรคร้าย และดำรงอยู่ร่วมกันให้ได้ต่อไป.

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง