รีเซต

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี : เปิดแนวคิดกู้วิกฤตโรงแรมไทย เสี่ยงตกงานร่วมล้านคน

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี : เปิดแนวคิดกู้วิกฤตโรงแรมไทย เสี่ยงตกงานร่วมล้านคน
TrueID
14 กันยายน 2563 ( 08:40 )
3.3K

    เปิดใจ “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย ในวันที่พากลุ่มธุรกิจโรงแรมฟันฝ่าวิกฤติ ยอดคนที่ต้องเสี่ยงตกงานร่วมล้านคน

  • สัมภาษณ์พิเศษ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563
  • สถานการณ์โควิด-19 กระทบธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว
  • นโยบายในการช่วยเหลือธุรกิจโรงแรม

     สัมภาษณ์พิเศษ : มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (Thai Hotels Association : THA)  ในวันที่วิกฤติโควิด-19 ถาโถมเข้าใส่อุตสาหกรรมโรงแรม วันนี้ยังต้องรอว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยได้อีกครั้งเมื่อใด และการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมที่ไม่เพียงจะนำพาธุรกิจให้ไปต่อให้ได้ แต่ยังต้องจับมือพนักงานที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของอุตสาหกรรมโรงแรมให้รอดไปด้วยกันได้อย่างไร

 

ตำแหน่งใหม่กับงานท้าทาย

“มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 โดยก่อนหน้านี้กับงานในสมาคมโรงแรมไทย เธอคลุกคลีในหลายบทบาททั้งงานอุปนายกสมาคมโรงแรมไทย รวมทั้งตำแหน่งประธานด้านสิ่งแวดล้อมของทางสมาคมฯ ที่เธอเชื่อว่าธุรกิจที่ดีต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งธุรกิจโรงแรมยิ่งต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่ดีในการดำรงอยู่คู่กัน

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (Thai Hotels Association : THA)

 

ขณะเดียวกัน การก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกสมาคมโรงแรมไทย ในวาระปี 2563-2565 ที่ได้รับการเลือกตั้งพร้อมกับคณะกรรมการบริหารสมาคมโรงแรมไทย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่าน เป็นการเข้ามานำทิศทางของกลุ่มสมาคมโรงแรมไทย ภายใต้วิกฤตการณ์โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อการท่องเที่ยวครั้งใหญ่และหนักที่สุด trueid News มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ถอดรหัสแนวคิดในการเป็นตัวแทนกลุ่มโรงแรมไทยเพื่อจะประสานกับภาครัฐและส่วนอื่นๆเพื่อหาแนวทาง มาตรการ ในการช่วยเหลือ เยียวยา และเอาตัวรอดในวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้

 

สถานการณ์ตรงหน้าที่กำลังเผชิญครั้งนี้ เป็นอย่างไร

 

“ ต้องยอมรับว่าการขึ้นมารับตำแหน่งนายกสมาคมโรงแรมไทยในจังหวะนี้เป็นเรื่องที่ยากและถือว่าหนักพอสมควร เพราะทั้งการบริหารธุรกิจโรงแรมของตัวเอง และการดูแลกลุ่มธุรกิจผู้ประกอบการโรงแรมทั้งหมด ซึ่งเราต้องพูดแทนในนามสมาชิกท่ามกลางสภาวะวิกฤติในเวลานี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมากจริง ๆ

 

สถานการณ์ในตอนนี้  โรงแรมที่จะอยู่รอดไปได้ จะต้องมีความแกร่ง และต้องสร้างเรื่อง Brand Royalty และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า รวมทั้งการสร้างเป้าหมายร่วมกับพนักงานทั้งหมดที่ต้องดูแลด้วย เพราะจากนี้ไปสิ่งที่เผชิญจะเป็นการเผชิญวิกฤตร่วมกัน แน่นอนว่าบางโรงแรมอาจมีความจำเป็นจะต้องมีมาตรการในการควบคุมการบริหาร อาจจะเห็นว่าหลายแห่งมีทั้งลดคน หรือปรับลดค่าตอบแทน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการบริหารจัดการที่ต้องเกิดขึ้น

 

พนักงานก็เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องมีความหวังร่วมกัน ก้าวเดินไปด้วยกัน และพวกเขาก็ต้องแกร่งด้วยเช่นกัน เพราะการทำงานภายใต้อนาคตที่ไม่แน่นอน การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกระทำได้หรือไม่ยังต้องรอ เป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจโรงแรมจากนี้ไป

 

 

มาตรการผลักดันสู่ภาครัฐ

 

นายกสมาคมโรงแรมไทย ยังให้ความเห็นอีกว่า สถานการณ์จากนี้ไป ทางสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ได้เสนอมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ให้ทางภาครัฐได้พิจารณา ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยกำหนด 4 มาตรการหลักที่ต้องการความช่วยเหลือ ได้แก่

 

1. มาตรการสนับสนุนทางการเงิน

            โดยขอให้กระทรวงการคลัง ตั้งกองทุนเปิด เพื่อพัฒนา และฟื้นฟูกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยเข้าไปร่วมลงทุนในส่วนทุน ของแต่ละกิจการ ระยะเวลา 7 ปี และเปิดสิทธิรับซื้อคืนได้ในผลตอบแทน 1% ต่อปี ของกองทุนทั้งทีเอชเอ

 

            เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเงินกู้ ซอฟต์โลน เพื่อช่วยเหลือโรงแรมขนาดกลางและเล็ก โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาสนับสนุนเงินกู้ส่วนนี้ให้แก่ธุรกิจโรงแรม ผ่านธนาคารพาณิชย์ ในกรณีหนี้คงเหลือเดิมกับสถาบันการเงิน ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นคงคงที่ 2% พร้อมทั้งพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 2-3 ปี

 

ขอวงเงินสนับสนุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ โดยให้อนุมัติปล่อยสินเชื่อได้ถึง 20%จากวงเงินกู้เดิมกับสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ย 2% โดยปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2-3 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยตํ่าผ่อนชำระกับธนาคารพาณิชย์ หากลูกค้ามีหลักประกันไม่พอ ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้คํ้าประกัน 100%ให้ออกเป็นมาตรการสำหรับกรณีพักชำระหนี้เงินต้น พักชำระดอกเบี้ย หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระ ให้ถือว่า ไม่เข้าเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สำหรับธุรกิจโรงแรม ที่ขาดรายได้จากผลกระทบของโควิด-19

 

2.มาตรการเปิดประเทศเพื่อรับชาวต่างเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

            โดยมีมาตรการควบคุม โดยนอกเหนือจาก 11 กลุ่ม ที่ได้รับการยกเว้นให้เข้าไทยได้แล้ว ก็ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการเปิดรับชาวต่างชาติที่ประสงค์จะอาศัยอยู่ในไทยระยะยาว เช่น กลุ่มที่ได้รับลองสเตย์ วีซ่า หรือกลุ่มวีซ่าเกษียณ โดยพิจารณาให้วีซ่ากับนักเดินทางที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สามารถอยู่ในไทยได้1-2 ปี ซึ่งส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะเดินทางเข้าไทย พร้อมกันนี้รัฐสามารถให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย เมื่อต้องเดินทางเข้ามากักตัวโน โรงแรม Alternative State Quarantine (ASQ) ในช่วง 14 วันแรกอีกด้วย

 

รวมทั้งขอให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบจำกัดพิ้นที่ เช่น ภูเก็ต โมเดล และรับเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศหรือเมืองที่ได้มีการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ดี เช่น ไต้หวัน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และในพื้นที่บางส่วนของจีน เป็นต้น โดยการกักตัวแบบลักษณะจำกัดพื้นที่นี้รัฐต้องช่วยสร้างความเข้าใจและความมั่นใจจากประชาชน ทั้งยังเสนอขอให้นักธุรกิจและนักลงทุนที่ต้องการเดินทางเข้ามาประชุม หรือเจรจาธุรกิจระยะสั้นน้อยกว่า 14 วัน สามารถเดินทางเข้าไทยได้ ภายใต้การควบคุมของบริษัททัวร์ที่ได้รับการอบรมและรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยมีผู้ติดตามที่เป็นบุคคลากรทางการแพทย์ประกบด้วย โดยเข้าพักในโรงแรม ASQ และมีบริษัททัวร์ที่ผ่านการอบรมจากกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ

 

 

 3.มาตราการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

            โดยขอให้ปรับเงื่อนไขโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ให้มีความยืดหยุ่นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจองห้องพักเพิ่มขึน อาทิ เปลี่ยนจากจองล่วงหน้าภายใน 3 วันเป็น 1 วัน ให้ผู้จองสามารถเปลี่ยนจำนวนห้องและวันเข้าพักได้ ให้จองห้องพักภายในจังหวัดของตนได้ ไม่ต้องจองข้ามจังหวัด เพราะโรงแรมในกรุงเทพฯยังมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยน้อยกว่า 10% และยังมีความต้องการพักแบบ Staycation

 

อีกทั้งขอเสนอให้เพิ่มเงินสนับสนุนจาก 40% เป็น 50% ในวันเสาร์-อาทิตย์ และสนับสนุนค่าใช้จ่าย 60% ในวันธรรมดา และขอให้เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานในไทย พำนักในไทย (EXPAT) และชาวต่างชาติที่มีวีซ่าให้พำนักอยู่ในไทยระยะยาว สามารถจองห้องพักผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันได้ นอกจากนี้ยังขอให้บุคคลธรรมดานำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวไปหักภาษีรายได้ส่วนบุคคลได้ 2 เท่า ในวงเงิน 3 หมื่นบาทต่อปี สำหรับการใช้จ่ายในโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น

 

            การขอให้ภาครัฐสนับสนุนการจองโรงแรม 50% โดยให้โรงแรมเสนอขายแพคเกจในราคาคงที่ในรูปแบบของวอลเชอร์ โดยขายผ่าน อี-คอมเมอร์ซ แพลตฟอร์ม เช่นเมื่อผู้บริโภค จองผ่าน Shopee และเข้าพักแล้วให้โรงแรมนำขั้วของวอลเชอร์ ไปรับเงินคืนจากธนาคารพาณิชย์ที่กำหนด  เป็นต้น

 

4.ข้อเสนอเยียวยาผู้ประกอบการ และบุคลากรภาคท่องเที่ยวอื่นๆ

            ได้แก่ การขอยืดระยะเวลาการจ่ายเงินเยียวยาจากประกันสังคม และลดอัตราเงินสมทบ เนื่องจากยังมีโรงแรมปิดกิจการอยู่เป็นจำนวนมาก โรงแรมที่เปิดแล้วยังไม่สามารถเปิดกิจการได้เต็มรูปแบบ และการเดินทางเข้าประเทศ จากนักท่องเที่ยวยังคงปริมาณจำกัด เพื่อรักษาการจ้างงานจึงขอให้พนักงานโรงแรมได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนประกันสังคม ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน จาก 90 วัน เพิ่มอีก 90 วัน หรือตลอดระยะเวลาที่ประเทศไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวได้เต็มรูปแบบ และขอปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง เดิมฝ่ายละ5%เหลือฝ่ายละ 1% เป็นระยะเวลา 6 เดือน

 

            อีกทั้งยังขอขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าโดยไม่คิดดอกเบี้ย ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าตํ่าสุด และจ่ายตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง การขยายเวลาควรสอดคล้องกับวันที่รัฐบาลกำหนดให้มีการเปิดประเทศ เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง

 

            คุณมาริสา ยังบอกว่า “สถานการณ์ในวันนี้ลำพังภาครัฐคิดเพียงมาตรการสร้างรายได้อย่างเดียวคงไม่พอ โรงแรมที่จะอยู่รอดได้ต่อไปนั้น จะต้องเป็นโรงแรมที่แกร่ง ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ หากเริ่มไปในทิศทางดังกล่าวเชื่อว่าโรงแรมไทยจะมีศักยภาพอยู่ต่อได้”

 

 

เชื่อว่าโรงแรมไทยยังแข็งแกร่ง

           

            นายกสมาคมโรงแรมไทย สะท้อนองค์ประกอบการอยู่รอดของโรงแรมไทย ประกอบด้วย

           

  1. เงินทุน บริษัทใหญ่ที่มีสายป่านก็จะมีความสามารถในการเผชิญวิกฤติในช่วงนี้ไปได้
  2. ต้องสร้าง Brand Royalty ให้ลูกค้ารักและผูกพันกับโรงแรม เพื่อจะกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่องในอนาคต
  3. การทำการตลาดดิจิทัล เน้นใช้สื่อ Social Media เข้ามาเสริมกับการขายผ่าน OTA เพียงอย่างเดียว เพื่อสามารถขยายฐานลูกค้าและสร้างความสัมพันธ์รวมทั้งเก็บข้อมูลลูกค้าได้เอง
  4. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานที่มีอยู่พราะธุรกิจโรงแรมยังต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์ในการให้บริการ คนที่ยังอยู่ทำงานภายใต้สถานการณ์วิกฤติ จึงต้องรักษาสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน

 

ถ้ายังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา จะเป็นอย่างไร

 

            เชื่อว่าจะมีคนตกงานมากขึ้น เพราะโรงแรมจะอยู่ไม่ได้ โดยภาระรายจ่ายเงินเดือนจะเป็นภาระหลักของโรงแรม จึงจำเป็นต้องลดลง อาจจะชั่วคราว หลายโรงแรมต้องลดคนลดพนักงาน ที่ประเมินไว้ 990,000 คน ในธุรกิจท่องเที่ยวที่จะต้องลด ในอนาคตถ้ายังรับเข้ามาไม่ได้ ก็กระทบต่อธุรกิจโรงแรมมากขึ้น โรงแรมรับตอนนี้มี 11 กลุ่มที่เข้ามาได้ เช่น นักธุรกิจ ผู้มีถิ่นพำนัก หรือคนเข้ามารักษาตัว เมื่อถึงเวลาก็จะหมดไป แล้วเมื่อถึงเวลาจะทำอย่างไร แต่ก็ทราบว่าภาครัฐ พยายายมเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาให้ได้ภายใต้การควบคุมที่ได้มาตรฐาน

 

 

กรณี ภูเก็ตโมเดล ที่ยังไม่สำเร็จ

 

            โดยส่วนตัวเก็นว่าอาจจะต้องปิดคำว่า ภูเก็ตโมเดล ลงไป แล้วต้องมาคิดทบทวนกันใหม่ให้ง่ายกว่านี้  หากเรามองในปัจจุบัน จะเห็นว่า ASQ แต่ละทีก็รับชาวต่างชาติ ซึ่งก็ไม่ได้กำหนดตายตัวด้วยว่ามาจะรับเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง เพียงแต่หากเดินทางเข้ามาก็จะต้องถูกกักตัวและตรวจคัดกรองตามมาตรการจนครบ 14 วัน ก็ออกไปได้ วันนี้หากเปิดหน้าต่างอีกบาน เพียงแต่ระบุประเทศที่เสี่ยงต่ำเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางเข้ามาก่อน เปิดให้เป็นนักท่องเที่ยวที่พร้อมจะผ่านการกักตัวใน  ASQ หลายโรงแรมก็พร้อมรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อยู่แล้ว

 

            แต่สิ่งที่สำคัญที่เห็นว่า จำเป็นจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป คือ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อกับชุมชนใกล้เคียงในเรื่องที่โรงแรมจะใช้พื้นที่บางส่วนในการทำ ASQ เพราะทุกมาตรการจะดำเนินการได้นั้น จะต้องผ่านการตรวจมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข การทำให้ชุมชนเข้าใจไปพร้อมกัน เข้าใจในขั้นตอนความปลอดภัย เมื่อเริ่มมาตรการรับคนจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำเข้ามาก็จะไม่เกิดปัญหา ตัวอย่างในโรงแรมหลายแห่งที่ดำเนินการเป็น ASQ ก็ไม่มีการต่อต้านแต่อย่างใด แต่ในขณะที่บางพื้นที่ในต่างจังหวัดบางส่วนที่ยังขาดการสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่

 

>>> เปิดประสบการณ์ที่แรก กักตัวใน ASQ โรงแรมหรูสู้โควิด19

>>> รู้จัก ASQ กลางกรุง สถานที่กักตัวทางเลือก

 

 

            อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ยังไม่รู้ว่าอนาคตของการระบาดของโควิด-19 จะเป็นอย่างไร เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อ แต่ความจริงต้องยอมรับว่าเราจะต้องอยู่กับเชื้ออีกนาน ตอนนี้เป็นไปไม่ได้เราจะกำจัดไปจากโลก ต้องอยู่กับเขา ซึ่งเราต้องเรียนรู้ และสร้างความร่วมมือของประชาชนเพื่อจะร่วมกันผ่านมันไปให้ได้ และยอมรับกับสิ่งที่เกิด ถึงแม้ในอนาคตจะมีวัคซีนก็ยังไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหนกว่าที่วัคซีนจะสำเร็จ

 

การปรับตัวของโรงแรมในการทำธุรกิจผ่าน OTA ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

 

      เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ โรงแรมไม่ควรพึ่งการขายผ่านผ่านออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ หรือ Online Travel Agent (OTA) เพียงอย่างเดียว แต่ยอมรับที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมอยู่บนสงครามราคา หลายโรงแรมที่เกิดใหม่อาจจะทำมาเพื่อวัตถุประสงค์ขายผ่านOTA เพียงอย่างเดียว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามราคา ซ้ำยังไม่พอมีการไม่เคารพข้อตกลงของทาง OTA เอง ที่ยอมหั่นคอมมิชชั่นของตัวเอง หรือเอาราคาของ B2B มาขายแบบ B2C ซึ่งไม่เพียงทำลายตัวเอง ยังเป็นการสร้างผลกระทบต่อระบบการขายห้องพัก และเมื่อมาตัดราคาตัวเองจนทำให้ไม่มีกติการควบคุม ทุกอย่างก็ปรับราคากันเองได้ โรงแรมก็สามารถขายแข่งกับ OTA ได้ สามารถสร้างกายขายแบบลูกค้าองค์กร ลูกค้าเฉพาะกลุ่มตามที่โรงแรมมีความถนัด แนวทางการตลาดแบบนี้ จะช่วยให้โรงแรมมีหลายช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า

 

            สำหรับการทำการตลาดนั้น โรงแรมไม่ควรพึ่ง OTA อย่างเดียว ต้องมีการทำการตลาดกับลูกค้าตัวเองหรือลูกค้าที่เข้ามาครั้งแรกผ่านทาง OTA แต่ต่อไปจานั้นโรงแรมต้องเก็บข้อมูลลูกค้า สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเอง รวมทั้งโรงแรมต้องเข้ามาทำSocial Marketing เอง เป็นการสร้าง Reputation Management ให้เข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าให้ได้

 

            นอกจากนี้ เรื่องสำคัญต้องยอมรับว่าแม้ว่า OTA จะช่วยเรื่องการขายห้องพักได้ดี แต่โรงแรมก็ต้องเสียคอมมิชชั่นให้OTA แต่รายได้ของ OTA นั้นแต่เดิมก็ไม่เคยเสียภาษีเข้าประเทศเลย เรื่องนี้จึงต้องดูว่าแม้จะมีกฎหมาย“พ.ร.บ.ภาษีอีเพย์เมนต์”เข้ามาดูแล จะสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างไร

 

อนาคตร่วมกันของธุรกิจโรงแรมไทย

 

“การมาเป็นนายกสมาคม ด้วยประคับประคองธุรกิจด้วย ตอนนี้คิดแทนคนอื่นด้วย ความอยู่รอดส่วนหนึ่งอยู่ที่ Mind set พนักงานด้วย ในการที่จะเซอร์วิสภายใต้ความไม่แน่นอนของอนาคต เราต้องอยู่ด้วยความหวังไปด้วยกัน สู้ไปด้วยกัน เป็นเรื่องสำคัญเป็นรากฐานสำคัญในอนาคตที่จะผ่านไปด้วยกัน เพราะคนยังเป็นส่วนสำคัญ Hope Stronger แม้จะถูกกระทบเรื่องรายได้ แต่ก็ต้องสู้ด้วยกัน  ธุรกิจโรงแรมมีศักยภาพที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หากธุรกิจได้รับการเยียวยาให้ผ่านวิกฤติไปได้ ก็จะส่งผลดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ เมื่อท่องเที่ยวฟื้นตัว” นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวทิ้งท้าย.

 

 

 

ภาพจาก : Facebok : สมาคมโรงแรมไทยThe Sukosol Hotel, Bangkok

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

>>> รวมปิดกิจการ - ยื่นล้มละลาย ปี 2020 พิษโควิด-19

>>> 10 จังหวัดชายแดนไทยติดเมียนมาร์

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง