เปิดประสบการณ์ที่แรก กักตัวใน ASQ โรงแรมหรูสู้โควิด19
สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid-19 ในประเทศไทย ล่าสุด (28 ก.ค.2563) มีการรายงานการจัดอันดับโดย The Global COVID-19 Index (GCI) พบว่า “ประเทศไทย” ถูกจัดอันดับ ให้เป็น อันดับ 1 ของประเทศที่สามารถฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ดีที่สุดของโลก
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่นักท่องเที่ยว หรือ ชาวต่างชาติในหลายประเทศ อยากเดินทางเข้ามาประเทศไทย รวมทั้ง “คนไทยในต่างประเทศ” ต่างยื่นเรื่องแสดงความประสงค์ขอเดินทางกลับเข้าประเทศท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ในทั่วโลกที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติ
คลิกอ่าน >>> กระทรวงสาธารณสุขเข้มมาตรการแนวปฏิบัติในสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (ASQ)
ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) หรือ ศบค. ได้กำหนดมาตรการคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย โดยกำหนดเงื่อนไขจะต้องกักตัวสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน ในสถานที่ที่รัฐจัดให้ พร้อมตรวจด้วยวิธี RT-PCR เพื่อหาว่าติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีผลตรวจเป็นบวก หรือ ติดเชื้อโควิด19 จะมีการส่งตัวเข้าระบบการรักษาทันที วิธีดังกล่าว ทำให้การสกัด “เชื้อนำเข้า” ได้ผล จนสถานการณ์ในประเทศปลอดเชื้อมาเป็นระยะเวลานานกว่า 65 วัน (นับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.)
ประเภทสถานที่กักตัวสังเกตอาการ จำแนกออกเป็น
สถานกักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quarantine)
เป็นสถานที่กักตัวในส่วนกลางที่ รัฐ กำหนด โดยหน่วยงานที่ร่วมกันกำหนดพื้นที่ ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงกลาโหม และ กระทรวงมหาดไทย ทั้ง 3 หน่วยงานนี้ จะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้ โรงแรม หรือ สถานที่ใดๆ ใช้เป็น State Quarantine เพื่อรองรับ บุคคล ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ต้องเข้ากักตัวสังเกตอาการ
สถานกักตัวในพื้นที่ที่จังหวัดกำหนด (Local State Quarantine)
เป็นสถานที่กักตัวที่รัฐกำหนดในส่วนภูมิภาค หรือ ตามจังหวัดที่มีด่านคนเข้าเมืองทางบก หรือ ทางอากาศ สำคัญ ซึ่งทางจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาจัดตั้งและดำเนินการ ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับ State Quarantine
สถานกักตัวเพื่อสังเกตอาการตนเอง (Home Quarantine)
เป็นสถานที่กักตัวสังเกตอาการของบุคคลที่มีโอกาสเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ หรือ เดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดภายในประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงที่มีการระบาด เป็นการแยกกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน เพื่อสังเกตอาการ โดยจะแยกที่พัก และไม่อยู่รวมกับคนอื่นภายในบ้านเพื่อป้องกันหากมีอาการป่วยหรือติดเชื้อปรากฏในภายหลัง
สถานกักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine)
Alternative State Quarantine (ASQ) หรือ สถานที่กักตัวทางเลือก เป็นกระบวนการของการกักกันโรค ณ โรงแรมที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลโดยผู้กักตัวต้องจ่ายเงินเอง โรงแรมหลายแห่งได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเปิดตัวแพ็คเกจห้องพักเพื่อรองรับคนที่จะเดินทางมาจากต่างประเทศและป้องกันการแพร่ระบาดซ้ำของโควิด- 19 ทำให้ผู้ที่กักตัวมั่นใจได้ว่าจะได้รับความปลอดภัยและความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
เมื่อมีคนไทยในต่างประเทศ หรือ ชาวต่างประเทศ ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทย และจะต้องเข้ากักตัวเป็นเวลา 14 วัน ณ ปัจจุบัน มีโรงแรมกว่า 29 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการเป็น Alternative State Quarantine ซึ่งไม่เพียงให้บริการห้องพัก ยังรวมถึงบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด19 ในช่วงการเข้าพักกักตัวสังเกตอาการ
trueID NEWS ได้นำ ประสบการณ์ การเข้ากักตัวใน Alternative State Quarantine ของผู้ที่ต้องกักตัวรายหนึ่งมาถ่ายทอด เพื่อให้เห็นถึง ความแตกต่างของ Alternative State Quarantine จะได้รับบริการพิเศษอะไรจากการกักตัวทั่วไปบ้าง
ทำไมถึงเลือก ASQ
- ต้องการห้องพักที่นอนคนเดียว
- เก็บเสียงได้ดี เพราะจะต้องนั่งทำงาน , นั่งประชุมงานกับทางบริษัทในอเมริกา ตอนตี 3 (เวลาไทย)
- สัญญาณอินเตอร์เน็ต Wifi มีความแรงและสเถียร
- มีบรรยากาศที่พักไม่อึดอัด หรือ มีจุดชมวิว ที่ผ่อนคลาย
- มีอาหารบริการที่หลากหลาย
- มีการบริการจากเจ้าหน้าที่ที่ดี
นี่เป็น เหตุผล ของ “พนักงานสาว” ผู้ที่ต้องเข้ากักตัวใน ASQ เธอย้ำว่า
“จะต้องทำงานไปด้วยในช่วงกักตัว อีกอย่างที่กังวล คือ สถานกักตัวของรัฐ เค้าอาจจะจัดให้นอน 2 คนต่อห้อง แม้หลังๆจะมีโรงแรมในโครงการรัฐเพิ่มอีก มีห้องเพียงพอมากขึ้น อาจจะจัดได้ห้องละคน แต่ก็ยังไม่อยากเสี่ยงกับประสบการณ์ผู้ที่จะมาร่วมห้องที่ไม่รู้จัก และถ้าไม่ได้ห่วงเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต ก็ไม่ได้ติดที่จะไปอยู่ในสถานกักตัวที่รัฐกำหนดให้อยู่แล้ว เรื่องอาหารไม่กังวล เพราะอยู่ง่ายกินง่าย แต่จนสุดท้ายคิดหลายรอบ จึงตัดสินใจเลือกจองใน ASQ”
พนักงานรายนี้ เธอยังให้ข้อมูลว่า เรื่องแพ็คเกจราคาค่าที่พักใน ASQ นั้น มีตั้งแต่ 30,000 กว่าบาท จนราคาถึง 1 แสนบาท ในช่วงกักตัว 14 วัน แต่เมื่อเลือกดูบริการต่างๆที่ทางโรงแรมมีให้ บวกกับทั่งตั้งและบรรยากาศของโรงแรมแล้ว เธอจึงตัดสินใจเลือกโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีบรรยกาศ “วิวแม่น้ำ” เอาไว้ให้ผ่อนคลายยามต้องอยู่คนเดียวถึงสองสัปดาห์
ทำไมถึงเลือกโรงแรมนี้
พอตัดสินใจว่าจะจอง ASQ ก็มีแต่คนบอกว่า ให้อยู่แบบ 6 หมื่นบาทขึ้น เพราะในแพ็คเกจแบบ 3 หมื่นบาทอาจไม่ดีเท่าไหร่ ห้องอาจจะเก่า อับ ไม่สวยเหมือนในรูป และเน็ตไม่แรง แถมโรงแรมอาจไม่บริการช่วยเหลือมากเท่าไร เมื่อได้รับคำแนะนำจากเพื่อนในเมืองไทย จึงตัดสินใจเลือกโรงแรมแห่งนี้ ในราคาแพ็คเกจ 6 หมื่นบาทขึ้นไป สิ่งที่สนใจ คือ
- วิวติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีวิวให้ดู
- น่าจะรู้สึกเหมือน stayvacation
- ห้องมีระเบียงส่วนตัว เปิดประตูรับลมเช้าๆก็ได้ ไม่ต้องอยู่ห้องแอร์ตลอดเวลา
- เป็นโรงแรมที่มีชื่อเสียงดีพอสมควร น่าจะไว้ใจได้ว่าเค้าจะดูแเต็มที่
“เมื่อลองอีเมล์มาจอง ก็พบว่ามีห้อง riverfront แบบที่อยากได้พอดี เลยจัดเลย” พนักงานสาว รายนี้ย้ำให้เห็นถึงวันที่ตัดสินใจจอง
ASQ มีบริการอะไรบ้าง
โดยทั่วไปเธอบอกว่า มีบริการเหมือนโรงแรมอื่นๆ ในส่วนที่เป็นห้องพัก แต่ที่มีความแตกต่าง คือ
- ตรวจหาเชื้อโควิดฟรี 2 รอบ
- พยาบาลมาวัดไข้ วันละ 2 ครั้ง
- สามารถออกไปเดินเล่นตรงริมแม่น้ำได้ ในส่วนที่จัดไว้ให้เฉพาะ วันละ 2 ชั่วโมง แต่ต้องโทร.แจ้งให้ทางโรงแรมทราบก่อนว่าจะลงไปช่วงเวลาใด เพื่อจัดคิว และควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการ
- ในช่วงวันท้ายๆที่กักตัว สามารถใช้บริการสระว่ายน้ำ และ ฟิตเนส ออกกำลังกายได้
เข้าพักในฐานะผู้กักตัวแล้วเป็นอย่างไร
เมื่อวันที่เข้าพัก พบว่า ทุกอย่าง “ตรงปก” ห้องพัก วิว บรรยากาศ เหมือนกับในรูปที่ทางโรงแรมนำเสนอ ขนาดห้องกำลังดี ได้ออมานั่งชิวริมระเบียงจริงๆ อย่างที่คิดไว้ ได้กลิ่นฝน น้ำเต็มแม่น้ำ สวยมาก
อาหารแต่ละวันใน ASQ เป็นอย่างไร
ฟรี 3 มื้อรวมในแพ็คเกจ โดยแต่ละวันจะมีเมนูมาให้เลือก สั่งก่อนล่วงหน้า 1 วัน มีครบทั้งอาหารไทย จีน ฝรั่ง รสชาติอาหารกลางๆ คือ ไม่ได้แซ่บเวอร์ แต่ก็อร่อยใช้ได้ กินหมดทุกมื้อ ทั้งนี้ อาหารจะเสริฟมาในกล่องพลาสติก ช้อนส้อมเป็นพลาสติก กินเสร็จแล้วทิ้งวางไว้หน้าห้อง จะมีเจ้าหน้าที่มาเก็บ แม้ว่าจะไม่ลดโลกร้อน แต่ลดความเสี่ยงของคนที่จะต้องมาเก็บบ้างจานชามลงไปได้
หากไม่อยากกินอาหารโรงแรมมีทางเลือกอย่างไร
วันแรกๆต้องกินไปก่อร อีก 2-3 วันหลังจากทราบผลการตรวจเชื้อโควิด19 แล้วถ้าผลออกมาเป็นลบจะให้ทางบ้านเอาอะไรมาส่งก็ได้ หรือจะสั่งแกร๊ปก็ได้ ณ จุดนี้โหลกไลน์แมน แกร๊ปฟู้ดส์ และทุกอย่างรอพร้อม #protip แต่ที่สำคัญต้องถามโรงแรมที่เราพักก่อนจองโรงแรมด้วยว่า เขาอนุญาตให้สั่งอาหารจากข้างนอกได้หรือไม่
สรุปเน็ทแรงไหมที่นี่
So far, so good! จะลองทำงาน ประชุมออนไลน์ แล้วจะมาเล่าให้ฟัง เซ็ทอัพโต๊ะทำงานเรียบร้อย คุณพ่อเอาจอมอร์นิเตอร์มาให้พร้อมด้วยขนมอีกมากมาย
พนักงานรายนี้ ยังเล่าให้ฟังถึงการเตรียมตัวก่อนเดินทางกลับประเทศไทยว่า เริ่มต้นจากการวางแผนว่าจะเดินทางกลับด้วยการติดต่อ สถานทูตไทย พร้อมระบุวันที่ประสงค์จะเดินทางกลับ จากนั้นทางสถานทูตจะส่งกำหนดตารางบินของแต่ละไฟลท์ของแต่ละช่วงเวลามาให่้ ถ้ายังไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องดำเนินการอะไร แต่ถ้าพร้อมว่าจะกลับช่วงเวลาไหน ก็เริ่มติดต่อจองตั๋วเครื่องบิน
( #จองคลาสไหนดี : ไฟลท์ที่นั่งมา มี eco , premium eco, biz จากข้อมูลที่ได้มา eco ถ้าคนเต็มที่นั่งอาจจะติดกัน เลยคิดขยับราคาไป premium eco แต่เมื่อเทียบกับ biz แล้ว เลยตัดสินใจไปชั้นบิสเนส ราคาดีมาก 2.5k เทียบกับpremium eco 1.8k )
เธอยังบอกถึงบรรยากาศบนเครื่องบินว่า ตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกบินในชั้นบิสเนส เพราะมีอยู่แค่ 4 คน ถือว่าเป็นการลดความเสี่ยงระหว่างเดินทาง ห้องน้ำก็ใช้แยกคนละห้องเลย แต่ก็แอบเงียบเหงาวังเวงไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ไฟลท์ที่มาบินจากซานฟรานมาไทย เลยโล่งๆ ในชั้น eco ก็ทราบว่า นั่งแถวเว้นแถว เหมือนกัน
( #พกอะไรขึ้นเครื่องบ้าง : 1.หน้ากากหลายอัน เปลี่ยนตลอดเรื่อยๆ 2.clorox wipes แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อโรค เอาไว้เช็ดทุกอย่างที่สัมผัส รวมทั้งเวลาเข้าห้องน้ำก็เอาไปเช็ดทุกผิวสัมผัส 3.แว่น goggles (แว่นตานิรภัย) ไม่ได้เอามา เลยใส่แว่นดำแทน แต่เห็นหลายคนเตรียมมา 4.วิตามินซี กินไปตั้งแต่ก่อนบิน ผลไม้หรือวิตามินซีสำเร็จรูปก็ได้ 5.entertainment kits สายการบินอาจมีไม่ถูกใจ เลยโหลดจากเน็ตฟลิกซ์เตรียมไว้ไปเองอุ่นใจกว่า 6.นอนเยอะๆจะได้ไม่เหนื่อยมาก ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ รักษาสุขภาพก่อนบิน)
จากประสบการณ์ของ “พนักงานสาวจากบริษัทข้ามชาติ” รายนี้ ที่เธอบินมาไกลจากสหรัฐอเมริกา กลับมาประเทศไทย และเลือกที่จะเข้าพักใน ASQ สะท้อนให้เห็นโอกาสในการขยายบริการ ASQ และยังเป็นโอกาสทางธุรกิจของโรงแรมท่ามกลางสถานการณ์โควิด19 กำลังระบาดอยู่ทั่วโลก
เสียงสะท้อน มุมมองจากนักวิชาการต่อ ASQ
ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายวิชาการด้านการท่องเที่ยวได้ตั้งข้อสังเกตถึงโอกาสในการขยายตลาดไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยว หรือ กลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว อยากจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดย ผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) มองว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ในประเทศไทยดีขึ้น จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีการควบคุมได้อย่างดี นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง อาทิ นักท่องเที่ยวทั่วไปที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีวีซ่า 3 ดือน และนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้เกษียณอายุ ที่มี longstay วีซ่า 1 ปี กลุ่มเหล่านี้อาจจะยอมรับในการเข้า Alternative State Quarantee:ASQ 14 วัน หากผ่านการกักตัวสังเกตอาการแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้จะกลายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงกลับเข้าสู่ตลาดท่องเที่ยวอีกครั้ง เมื่อรวมกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ถือวีซ่าปกติ (3 เดือน) ที่ยอมเข้า ASQ ยิ่งกระตุ้นการท่องเที่ยวได้อีกครั้ง |
“ยังไม่แน่ใจว่า ภาครัฐเองจะมีนโยบายขับเคลื่อนเรื่องการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อย่างไร จึงอยากให้กำหนดมาตรการให้เกิดความชัดเจนว่า จะมีกำลังในการเปิดรับได้จำนวนอย่างไร ถ้าเข้ามาทีละ 200 คนจะต้องเตรียมโรงแรมจับคู่กับสถานบริการทางการแพทย์อย่างไร หรือหากจะเปิดรับเป็น 10,000 คน จะต้องเตรียมความพร้อมทั้งระบบอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนต้องผ่านมาตรการ fit to fly ก่อนบินเข้าไทยอยู่แล้ว เพียงแต่การรองรับ การจับคู่กันของโรงแรมและโรงพยาบาลในรูปแบบ Full Broad จะมีความพร้อมในระดับใด” คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มธบ. ตั้งข้อสังเกต
ASQ ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ผศ.ดร.มณฑกานติ ยังกล่าวอีกว่า การดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้กลับเข้ามาภายใต้เงื่อนไขผ่านการกักตัว 14 วัน Alternative State Quarantine : ASQ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวได้อีกครั้ง จึงหวังว่าภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งภาครัฐ จะมีมาตรการบางอย่างเพื่อผลักดันนโยบายท่องเที่ยวให้กลับมาสร้างรายได้ให้ได้อีกครั้ง
จากประสบการณ์ของผู้ที่อยากกลับเข้าประเทศไทยอีกครั้ง ที่ยอมเข้ารับการกักตัวใน ASQ. ไปจนถึงมุมมองที่อาจจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้ความสำเร็จทางด้านสาธารณสุข ให้กลายมาเป็นจุดแข็ง และ จุดขาย ทางการท่องเที่ยวได้อีกครั้ง
จึงเป็น โอกาส ที่ภาครัฐ และ ภาคการท่องเที่ยว ต้องร่วมกันสร้าง "พลัง" และ "ความหวัง" ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้เห็นว่า เรายังคงเป็น "ที่ 1" ในด้านการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รู้จัก ASQ คืออะไร และ รายชื่อโรงแรมที่ผ่านการประเมิน ASQ กลางกรุง และต่างจังหวัด อ่านที่นี่