รีเซต

"โควิด-19" กระทบสุขภาพจิต 4 ด้าน สธ.-มหิดล พัฒนา "แชทบอท" ให้คำปรึกษาออนไลน์

"โควิด-19" กระทบสุขภาพจิต 4 ด้าน สธ.-มหิดล พัฒนา "แชทบอท" ให้คำปรึกษาออนไลน์
มติชน
17 กรกฎาคม 2563 ( 16:32 )
881
1
“โควิด-19” กระทบสุขภาพจิต 4 ด้าน สธ.-มหิดล พัฒนา “แชทบอท” ให้คำปรึกษาออนไลน์แชทบอท

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่การระบาดในช่วงของคลื่นลูกที่ 4 (Combat 4th Wave of COVID-19: C4) ซึ่งจากการระบาดที่ยาวนานนั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงิน ทำให้ประชาชนเกิดปัญหาสุขภาพจิตใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ภาวะเครียด (Stress) 2.ภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟ (Burnout) 3.โรคซึมเศร้า (Depression) และ 4.การฆ่าตัวตาย (Suicide) ตามมาได้ โดยกรมสุขภาพจิต ได้ทำการสำรวจภาวะความเครียด พบว่า ประชาชนอาจเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นและอาจเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มที่สูงขึ้น

“กรมสุขภาพจิตจึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบออนไลน์ เพื่อการให้ความรู้และคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตสำหรับประชาชน โดยเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เอไอ (AI) ในการระบุกลุ่มเสี่ยงผ่านการวิเคราะห์จากเสียงพูด ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงปัญหาซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย ให้สามารถเข้าถึงบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ทันท่วงที และสำหรับผู้ที่มีภาวะเครียด ภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟ ก็สามารถเข้าถึงบริการให้การปรึกษาผ่านระบบตอบกลับอัตโนมัติแชทบอท(Chatbot)” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์ระดับชาติ ภาควิชาฯ จึงมีการบูรณาการด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการทางจิตเวช เพื่อผลิตแพทย์ จิตแพทย์ และบุคลากรทางด้านสุขภาพจิต และเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยการวิจัย และนวัตกรรมเพื่อเป็นต้นแบบหรือเป็นแนวทางในการพัฒนาความรู้ด้านสุขภาพจิตระดับประเทศ จึงได้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อการให้ความรู้และคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตสำหรับประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์ในการร่วมมือ ดังนี้ 1.พัฒนาเนื้อหาสาระทางวิชาการ รูปแบบ และขั้นตอนวิธีเพื่อการตอบคำถามและให้ข้อมูลความรู้ทางสุขภาพจิตแก่ประชาชนผ่านระบบออนไลน์อัตโนมัติ และกึ่งอัตโนมัติ 2.พัฒนาแนวทางในการตรวจวิเคราะห์หาปัญหาทางสุขภาพจิต จากข้อมูลที่ผู้ใช้ระบบออนไลน์ป้อนเข้าสู่ระบบ เพื่อให้สามารถตรวจพบผู้ที่ควรได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากบุคลากรทางการแพทย์

ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต สธ. ได้เปิดให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งเป็นการให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านการให้บริการทั้งหมด 12 คู่สาย โดยมีนักจิตวิทยาจำนวนประมาณ 30 คน ทำหน้าที่หมุนเวียนกันในการประเมินสภาวะทางจิตใจและช่วยเหลือเบื้องต้น ทั้งนี้ จากสถิติในปีที่ผ่านมา สายด่วนสุขภาพจิต 1323 มีความต้องการขอรับบริการจากประชาชน ปีละ 800,000 ราย แต่สามารถประเมินช่วยเหลือเบื้องต้นได้จริงเพียง 70,000 ราย และมีผู้ที่ปัญหาซึมเศร้าประมาณ 5,000 ราย ส่งผลให้ไม่สามารถให้บริการให้กับผู้ที่ติดต่อขอรับบริการได้ครบทุกราย

“จำเป็นต้องรีบเร่งในการจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่โทรเข้ามารับบริการ ดังนั้น การพัฒนาระบบคัดกรองด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการพัฒนาระบบตอบกลับอัตโนมัติแชทบอท (Chatbot) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสุขภาพจิตได้อย่างทันท่วงที” พญ.ดุษฎี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง