รีเซต

ประวัติศาสตร์รถยนต์ไฟฟ้า : A Brief History of Electric Car

ประวัติศาสตร์รถยนต์ไฟฟ้า : A Brief History of Electric Car
TNN ช่อง16
2 มกราคม 2567 ( 13:57 )
82

รถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle ค่อย ๆ ได้รับความนิยมไปทั่วโลก พร้อม ๆ กับที่ความพยายามของมนุษย์เราที่ร่วมมือกันรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน แต่รู้หรือไม่ว่ารถยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้เป็นนวัตกรรมที่เพิ่งมีมา 10 หรือ 20 ปี แต่มันมีประวัติมาอย่างยาวนานกว่านั้นมาก วันนี้ TNN Tech พามาเจาะประวัติศาสตร์รถยนต์ไฟฟ้ากัน


แนวคิดเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ เริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยนักนวัตกรรมจากฮังการี เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งในปี 1832 ได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบบหยาบ ๆ (Crude electric vehicle) คันแรกขึ้นมา ซึ่งหมายถึงมีรูปแบบการทำงานที่เรียบง่าย มีองค์ประกอบพื้นฐาน หากเทียบกับรถ EV ในปัจจุบัน แต่จนกระทั่งประมาณปี 1870 จึงมีรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถใช้งานได้จริงออกมา


ในสหรัฐฯ รถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถใช้งานได้จริงคันแรก เปิดตัวในปี 1890 โดยนักเคมีชาวสก็อตแลนด์ที่อาศัยอยู่ในรัฐไอโอวา ชื่อ วิลเลียม มอร์ริสัน (William Morrison) โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่เขาออกแบบนั้นเป็นแบบ 6 ที่นั่ง และวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 22.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมันได้ช่วยจุดประกายความสนใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว ในช่วงปี 1900 - 1912 รถยนต์ไฟฟ้าถือว่าได้รับความนิยมมาก โดยเทียบให้เห็นภาพคือรถยนต์บนถนน 3 คัน จะถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 1 คันเลยทีเดียว


และในช่วงที่รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมาก ๆ นี้ จึงมีนักประดิษฐ์หลายคนได้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค อย่างเช่น เฟอร์ดินานด์ ปอร์เช่ (Ferdinand Porsche) ผู้สร้างรถยนต์แบรนด์ปอร์เช่ ในปี 1898 ก็ได้สร้างรถยนต์ไฟฟ้าชื่อ P1 ขึ้นมา เช่นเดียวกับ โทมัส เอดิสัน หนึ่งในนักประดิษฐ์ที่มีผลงานมากที่สุดในโลก ก็มองว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ จึงพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ดีขึ้น แม้กระทั่งเฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งรถยนต์ฟอร์ด ก็ได้ร่วมมือกับเอดิสัน เพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด แต่ในปี 1908 ก็ได้เปิดตัวรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินชื่อโมเดล ที (Model T) ซึ่งราคาไม่แพง ทำให้มันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย (รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินราคา 650 ดอลลาร์สหรัฐ รถยนต์เปิดประทุนไฟฟ้าราคา 1,750 ดอลลาร์สหรัฐ) หลังจากนั้นในช่วงปี 1920s สหรัฐฯ มีถนนเชื่อมต่อเมืองที่ดีขึ้น รวมถึงมีการค้นพบน้ำมันดิบในรัฐเท็กซัส ทำให้น้ำมันเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายและราคาถูก สถานีบริการน้ำมันเริ่มผุดขึ้นทั่วประเทศ รถยนต์ไฟฟ้าจึงได้รับความนิยมน้อยลง จนกระทั่งภายในปี 1935 รถยนต์ไฟฟ้าก็หายไปจนหมด


ผ่านมาอีกกว่า 30 ปี ปลายศตวรรษที่ 1960s ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น รวมถึงปี 1973 มีการคว่ำบาตรน้ำมันจากอาหรับ ทำให้สหรัฐฯ ต้องเร่งหาน้ำมันในประเทศของตัวเอง และขณะเดียวกันก็ได้หันมามองด้านรถยนต์ไฟฟ้าอีกครั้ง โดยในปี 1976 สภาคองเกรสอนุญาตให้กระทรวงพลังงานสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด บริษัทอื่น ๆ ก็เริ่มมองหารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงทางเลือก รวมถึง รถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน เช่น เจนเนอรัล มอเตอร์ส พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ จัดแสดงในการประชุมสัมมนาครั้งแรกของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยการพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีมลพิษต่ำในปี 1973 แม้กระทั่ง NASA ก็ออกแบบรถแลนด์โรเวอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าคันแรกด้วยเช่นกัน 


แต่รถยนต์ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก เช่น สามารถวิ่งได้ประมาณ 72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งได้ไกลเพียงประมาณ 64 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 รอบ


จนกระทั่งปี 1990 สหรัฐฯ ออกร่างกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act Amendment) และปี 1992 ออกร่างกฎหมายนโยบายพลังงาน ซึ่งเกี่ยวกับระเบียบการปล่อยมลพิษในการขนส่ง นั่นจึงทำให้สหรัฐฯ เริ่มหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้าจริงจังอีกครั้ง


รถยนต์ที่เป็นที่รู้จักมากคันหนึ่งในช่วงเวลานี้คือ EV1 ของบริษัท GM ในปี 1996 โดยได้พัฒนาให้วิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 128 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 รอบ และสามารถเร่งความเร็วจาก 0 - 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายในเวลา 7 วินาที แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูง EV1 จึงไม่สามารถขายได้ และ GM จึงเลิกผลิตในปี 2001


ปี 1997 โตโยต้า พรีอุส (Toyota Prius) รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดเปิดตัวในญี่ปุ่น ก่อนจะเปิดตัวไปทั่วโลกในปี 2000 และมันก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้แบตเตอรี่นิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนจากการวิจัยของกระทรวงพลังงาน และพริอุส ก็ได้กลายเป็นรถไฮบริดที่ขายดีที่สุดทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันเบนซินที่เพิ่มสูงขึ้นและความกังวลเกี่ยวกับมลพิษคาร์บอนด้วย


ในปี 2006 มีสตาร์ตอัปเล็ก ๆ จากซิลิคอลวัลเลย์ชื่อ เทสลา มอเตอร์ (Tesla Motors) ประกาศว่าจะเริ่มผลิต รถสปอร์ตไฟฟ้าสุดหรูที่สามารถเดินทางได้มากกว่า 320 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และในปี 2010 ก็กู้เงินจากสำนักงานโครงการเงินกู้ของกระทรวงพลังงานจำนวน 465 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอเนียร์ (เทสลาสามารถจ่ายเงินกู้ก้อนนี้คืนได้ก่อนกำหนดถึง 9 ปี) นับจากนั้นเป็นต้นมา เทสลาก็ได้รับความนิยมและได้รับคำชื่นชมอย่างมาก ก่อนจะค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการยานยนต์ไฟฟ้าจนกระทั่งปัจจุบัน


ความสำเร็จของเทสลา กระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายรายเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง แต่ผู้ใช้ก็ยังคงประสบปัญหาของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าคือเรื่องที่ชาร์จไม่เพียงพอ จึงมีปัญหาในระหว่างการเดินทาง ทำให้ช่วงปี 2009 - 2014 กระทรวงพลังงานลงทุนมากกว่า 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จทั่วประเทศ โดยติดตั้งเครื่องชาร์จสำหรับทั้งที่อยู่อาศัย เชิงพาณิชย์ และพื้นที่สาธารณะมากกว่า 18,000 เครื่องทั่วประเทศ


ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเรื่องแบตเตอรี่ใหม่ ๆ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศรถไฟฟ้าก็เริ่มเข้ามามีบทบาทและสนับสนุนอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าโดยภาพรวมมากขึ้น ทำให้ตอนนี้อุตสาหกรรมนี้กำลังดำเนินไปอย่างคึกคัก และเป็นความหวังหนึ่งที่จะช่วยเรื่องพลังงานโลกได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น


ที่มาข้อมูล Energy.GOV, CarAndDriver

ที่มารูปภาพ Wikipedia, Wikimedia, Thaiauto, Federalreservehistory, Flickr, Electrifyamerica, Toyota

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง