บทเรียนจาก 9/11 สู่ตึก สตง. “ฝุ่นพิษ” อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ บทเรียนจากเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ สู่เหตุการณ์ตึก สตง. ถล่มในไทย
เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 หรือที่รู้จักกันในชื่อ 9/11 ไม่เพียงเป็นโศกนาฏกรรมด้านความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นบทเรียนอันเจ็บปวดด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลยาวนานนับสิบปีหลังจากเหตุการณ์สิ้นสุดลง
จากข้อมูลของ World Trade Center Health Program ซึ่งเป็นโครงการติดตามและดูแลสุขภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นและควันพิษจากการถล่มของอาคาร มีมากกว่าผู้เสียชีวิตในวันเกิดเหตุถึงสองเท่า โดยในเดือนธันวาคม ปี 2023 มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 6,781 คนจากโรคระบบทางเดินหายใจและมะเร็ง ขณะที่ในเดือนกันยายน 2024 พบว่า นักดับเพลิง เจ้าหน้าที่ และทีมกู้ภัยอีกกว่า 360 คนเสียชีวิตจากโรคที่เชื่อมโยงกับการได้รับสารพิษ ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตในวันเกิดเหตุ 9/11 ถึง 343 คน
ในช่วงเกิดเหตุการณ์ หน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) และนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก ได้ออกมาให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าอากาศยังคงปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หลายฝ่าย รวมถึงเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกลับไม่มีการป้องกันที่เหมาะสม บางรายสวมเพียงหน้ากากแบบใช้แล้วทิ้ง ส่งผลให้เกิดการสะสมของสารพิษในร่างกาย
ผลการวิจัยของ US EPA ระบุว่า ฝุ่นจากการถล่มของตึกแฝดมีสารอันตรายปริมาณมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นแร่ใยหิน โลหะหนัก ตะกั่ว สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน รวมถึงฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่แทรกซึมเข้าสู่ปอดได้โดยตรง ฝุ่นเหล่านี้ประกอบด้วยแคลไซต์และยิปซัม ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักของวัสดุก่อสร้าง เช่น ซีเมนต์และแผ่นยิปซัม
โรคที่พบมากในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานกู้ภัยและผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ โรคภูมิคุ้มกัน โรค PTSD และโรคหายากอย่างซาร์คอยโดซิส ที่เกิดจากก้อนเนื้ออักเสบในร่างกาย ซึ่งพบในนักดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ในอัตราสูงผิดปกติ
ในประเทศไทย เหตุการณ์ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มกลายเป็นประเด็นด้านความปลอดภัยล่าสุดที่ควรได้รับการใส่ใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านสุขภาพของเจ้าหน้าที่กู้ภัยและผู้เข้าไปจัดการเศษซากอาคาร เนื่องจากวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในอาคาร เช่น แผ่นยิปซัม ซีเมนต์ และแคลไซต์ ล้วนมีความเสี่ยงที่จะปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก แร่ใยหิน โลหะหนัก และสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
ทีมกู้ภัย ทีมกำจัดซาก และผู้ที่เข้าใกล้พื้นที่ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างเคร่งครัด เช่น หน้ากากกันฝุ่น N95 หรือสูงกว่า ชุดป้องกันร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นโดยตรง โดยรัฐควรเร่งประเมินคุณภาพอากาศบริเวณจุดเกิดเหตุและจัดระบบเฝ้าระวังสุขภาพในระยะยาว
เหตุการณ์ 9/11 คือบทเรียนราคาแพงที่บอกเราว่า “ฝุ่น” ไม่ใช่เพียงสิ่งสกปรกในอากาศ แต่คือภัยคุกคามเงียบที่อาจตามหลอกหลอนชีวิตผู้คนได้นานหลายสิบปี