จุดเตาแก๊ส เสี่ยงมะเร็งได้ แถมเด็กเสี่ยงกว่า 2 เท่า ! ในบ้านหรือคอนโดที่ระบายอากาศไม่ดี

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าการยืนข้าง ๆ หรือการใช้ชีวิตในบ้านขนาดเล็กที่ประกอบอาหารด้วย "เตาแก๊ส" อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งมากกว่าคนปกติ และเด็กที่ยืนข้างเตาแก๊สหรือแม้แต่อยู่ใกล้ก็อาจมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 2 เท่า
จุดเตาแก๊สแล้วได้สารก่อมะเร็งได้อย่างไร
โดยปกติแล้ว การจุดเตาแก๊สเพื่อประกอบอาหารจะมีการปล่อยแก๊สที่เรียกว่า "เบนซีน" (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งประเภทหนึ่ง (ที่ไม่ใช่น้ำมันเชื้อเพลิง เพียงแค่มีชื่อพ้องกัน) แต่ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งนั้นไม่ได้สูงมากนัก
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยได้เก็บข้อมูลอัตราการปล่อยเบนซีนจากเตาแก๊สในบ้านเรือนกว่า 87 หลัง และวิเคราะห์การเคลื่อนตัวของแก๊สในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมกับจำลองการแพร่กระจายตัวของแก๊สเบนซีนด้วยคอมพิวเตอร์ที่กำหนดเงื่อนไขทางเคมีและปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
โดยในการวิจัยเพื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริงที่สอดคล้อง ได้เลือกทดลองในบ้านหรือห้องพักที่มีขนาดเล็ก โดยมีห้องนั่งเล่นติดกับห้องครัว และถัดจากห้องครัวจะเป็นห้องนอน 2 ห้อง โดยเก็บข้อมูล 3 ระยะ คือก่อนเปิดเตาแก๊ส ระหว่างเปิดเตาแก๊ส และหลังปิดเตา ซึ่งทั้งหมดมีสภาพการระบายอากาศที่ไม่ดี เก็บควัน กลิ่น หรือสารละอองในอากาศได้นานกว่าบ้านที่มีระบบระบายอากาศดี
ผลลัพธ์สารก่อมะเร็งจากเตาแก๊สในบ้าน
ผลปรากฎว่า ปริมาณความเข้มข้นแก๊สเบนซีนเป็นสัดส่วนในอากาศ (part per billion: ppb) ที่วัดได้ในแต่ละห้องนั้นช่วงเวลาที่เปิดเตาแก๊ส สูงกว่าที่โมเดลจำลองไว้ เช่น ห้องครัวมีค่าประมาณ 1.2 ppb แต่โมเดลคำนวนไว้ที่ประมาณ 0.6 ppb ส่วนในห้องนั่งเล่นนั้นมีค่าเกือบ 1 ppb สูงกว่าโมเดลที่จำลองไว้ที่มากว่า 0.6 ppb และยังมีในห้องนอนที่ระดับ 0.8 - 1 ppb ก่อนค่อย ๆ ลดลงจนเหลือประมาณ 0.4 ppb เมื่อผ่านไปประมาณ 5 ชั่วโมง
ข้อมูลนี้นักวิจัยสรุปเป็นโอกาสเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งที่ช่วงประมาณ 1 - 6 ต่อ 1 ล้าน ในผู้ใหญ่ และจากข้อมูลเดียวกันนั้นพบว่าโอกาสเกิดโรคมะเร็งในเด็กอยู่ที่ช่วงประมาณ 1 - 12 ต่อ 1 ล้าน
หรือหมายความว่า ทุก 1 ล้านคน จะมีโอกาสที่ผู้ใหญ่ซึ่งใช้ชีวิตในบ้านเรือนขนาดเล็กและเปิดเตาแก๊สใช้งานนั้นจะเกิดโรคมะเร็งสูงสุด 6 คน และในเด็กสูงสุดถึง 12 คน เนื่องจากในเด็กนั้นจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า และมีอัตราการหายใจที่เร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสได้รับสารก่อมะเร็งอย่างเบนซีนได้มากกว่า
แม้งานวิจัยชี้ความเสี่ยงมะเร็งจากเตาแก๊ส แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนก
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นเพียงการประเมินช่วงความเสี่ยงที่อาจเป็นไปได้เท่านั้น ซึ่งอัตราการเกิดมะเร็งจากการใช้เตาแก๊สที่แท้จริงนั้นไม่อาจทราบได้ และยังไม่รวมปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสารที่ได้รับ เช่น ขนาดของตัวบ้านหรือคอนโดมีเนียม สภาพอากาศ มีการใช้เครื่องดูดควันภายในบ้านหรือไม่ ตลอดจนความถี่ในการใช้เตาแก๊สด้วยเช่นกัน
เป้าหมายของงานวิจัยต้องการสร้างการตระหนักรู้ต่อปัจจัยเสี่ยงอย่างเตาแก๊สที่พลเมืองสหรัฐฯ และคนทั่วโลกควรทราบไว้ เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เช่น การปรับปรุงระบบระบายอากาศภายในบ้าน หรือปรับเปลี่ยนวิธีการประกอบอาหารต่อไป โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการด้านสารอันตราย (Journal of Hazardous Materials) ของเอลส์เวียร์ (Elsevier) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา