รีเซต

"คลัง" เร่งศึกษาข้อกฎหมาย ตั้งกองทุนวายุภักษ์ 3

"คลัง" เร่งศึกษาข้อกฎหมาย ตั้งกองทุนวายุภักษ์ 3
ทันหุ้น
26 มิถุนายน 2567 ( 14:03 )
14
"คลัง" เร่งศึกษาข้อกฎหมาย ตั้งกองทุนวายุภักษ์ 3

#ทันหุ้น - คลังเร่งศึกษาข้อกฎหมายตั้งกองทุนวายุภักษ์ 3 หวังกองทุนจะช่วยเติมเม็ดเงินเข้าตลาดทุนได้เร็ว ขณะที่ การปรับเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ภาษีในกองทุน Thai ESG จะกระทบรายได้รัฐราว 1.3 หมื่นล้าน แต่ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดทุนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ช่วยดัน Market Cap ให้สูงขึ้น

 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าแนวทางการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 3 เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดทุนในประเทศว่า แนวทางดังกล่าว จำเป็นต้องหารือในข้อกฎหมายของการจัดตั้งในลักษณะที่คล้ายกับกองทุนวายุภักษ์ขึ้นมา ซึ่งกระทรวงการคลังจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะต้องการให้มีเงินเติมในระบบตลาดทุนเพื่อให้เกิดการกระตุ้นและหมุนเวียน

 

“ตัวกองทุนรูปแบบที่เคยประสบความสำเร็จคือ วายุภักษ์ ดังนั้น เราอาจมีการพิจารณาตั้งกองทุนอีกสักกอง เป็นกองที่แยกต่างหาก แต่รูปแบบจะเป็นอย่างไร สัดส่วนจะเป็นอย่างไร ต้องมาดู”

 

สำหรับรูปแบบของกองทุนวายุภักษ์ในอดีต มีการแบ่งหน่วยลงทุนของกองทุนวายุภักษ์ เป็นสองประเภท คือ ประเภท ก. สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการลงทุน ซึ่งประภทนี้มีมูลค่ากองทุน 1.5 แสนล้านบาท และประเภท ข. เป็นการถือครองหน่วยลงทุนโดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท โดยในส่วนของหน่วยลงทุนประเภท ก.หรือ กองทุนที่ประชาชนลงทุนนั้น  จะกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำ และขั้นสูง ซึ่งเป็นการประกันผลตอบแทนให้กับประชาชน ขณะที่ กอง ข.ไม่มีการประกันผลตอบแทน โดยกองทุนประเภท ก. จะได้รับผลตอบแทนก่อน ประเภท ข. โดยผลตอบแทนของประชาชน จะต้องไม่ต่ำกว่า 3 %

 

"มาตรการกระตุ้นตลาดทุน ด้วยการเพิ่มสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวม Thai ESG โดยขยายให้ประชาชนสามารถซื้อหน่วยลงทุนแประเภทนี้ ที่สามารถนำค่าซื้อหน่วยลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้ จากปัจจุบัน ไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นไม่เกิน 3 แสนบาท และลดระยะเวลาถือครอง จาก 8 ปีนับจากวันที่ซื้อลงเหลือ 5 ปีนับจากวันที่ซื้อ ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีราว 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดทุนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยดัน Market Cap ให้สูงขึ้น"

 

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้รอเพียงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ คือ digital wallet ที่กำหนดจะให้สิทธิ์แก่ประชาชนในไตรมาสที่สี่ของปีนี้ แต่ในระหว่างนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ดังนั้น จากนี้ไปจนถึงก่อนสิ้นปีนี้ รัฐบาลยังจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา

 

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในส่วนอื่นยังจะมีมาอยู่ และจะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า ซึ่งมาตรการจะมีเป็นอย่างไร ยังไม่สามารถตอบได้ จนกว่า ครม.เศรษฐกิจจะอนุมัติเสียก่อน”

 

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยที่รายงานโดยสภาพัฒน์นั้น ในไตรมาสแรกของปี้นี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมสามารถขยายตัวได้ 1.5% ของจีดีพี ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้วที่ขยายตัว 1.7 %  คาดว่าทั้งปีนี้จะขยายตัว 2 –3% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 %

 

สำหรับการขยายตัวในแต่ละเซ็คเตอร์ของไตรมาสที่หนึ่งนั้นที่สำคัญ คือ การบริโภคของภาคเอกชน ในไตรมาสที่หนึ่ง ขยายตัว  6.9 %  ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว ที่ขยายตัว 7.4% การลงทุนรวมในไตรมาสที่หนึ่งขยายตัว ติดลบ 4.2%  เช่นเดียวกับไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว ก็ติดลบ 0.4 % ภาคการส่งออก ไตรมาสที่หนึ่ง ติดลบ 1 %  ขณะที่ ไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้วบวก 4.6 %  ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่หนึ่ง ติดลบ 3% เป็นการขยายตัวติดลบติดต่อกันเป็นไตรมาสที่หก

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง