รีเซต

โควิด-19 : ธนาคารโลกชี้มาตรการสู้โควิด-19 กระทบสุขภาวะคนไทย

โควิด-19 : ธนาคารโลกชี้มาตรการสู้โควิด-19 กระทบสุขภาวะคนไทย
ข่าวสด
20 พฤษภาคม 2563 ( 11:33 )
76
โควิด-19 : ธนาคารโลกชี้มาตรการสู้โควิด-19 กระทบสุขภาวะคนไทย

โควิด-19 : ธนาคารโลกชี้มาตรการสู้โควิด-19 กระทบสุขภาวะคนไทย - BBCไทย

ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกออกมาเตือนเมื่อไม่นานมานี้ว่า เชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 อาจอยู่กับมนุษย์ตลอดไป หากเป็นเช่นนั้นจริง จะส่งผลต่อบริการสาธารณสุขอย่างไร

ดร.สุทยุต โอสรประสพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก บอกบีบีซีไทยว่าขณะนี้ระบบสาธารณสุขของไทยยังสามารถรับมือกับจำนวน ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ และยังไม่ถึงกับต้องเลือกรักษาผู้ป่วยอย่างที่บางประเทศในยุโรปทำ แต่ถึงอย่างนั้นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา บริการทางสาธารณสุขบางอย่างไม่สามารถทำได้เต็มที่ เหมือนเดิม

ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลกอธิบายว่าสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล แต่เป็นที่ชัดเจนว่าการรักษาที่ไม่ฉุกเฉินและไม่ใช่โรคโควิด-19 รวมทั้งการผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วน ต้องเลื่อนหรือถูกยกเลิกไป นอกจากนี้โรงพยาบาลหลายแห่งได้ลดการรับนัดคนไข้เป็นจำนวนมาก บางแห่งถึงครึ่งหนึ่ง อาคารที่เคยใช้รักษาผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินในโรงพยาบาลบางแห่งปิดไปด้วยเหตุผล เรื่องของการรักษาระยะห่างทางสังคม และเพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรคโควิด-19 ในวอร์ดที่ไม่ได้ดูแลผู้ป่วยโรคนี้

AFP

ตั้งแต่เดือนมีนาคม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติทางหัตถการและการผ่าตัดให้ทำได้เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ส่วนกรณีที่เร่งด่วนแต่ไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตและกรณีที่ไม่เร่งด่วน ให้พิจารณางดการผ่าตัด เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ลดลง ในเดือนพฤษภาคม ทางกรมได้ออกประกาศให้โรงพยาบาลต่าง ๆ เริ่มให้บริการและผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉินที่สมควร ด้วยความระมัดระวัง

ดร.สุทยุต อธิบายว่าการเลื่อนการผ่าตัดไม่ฉุกเฉินออกไปไม่ใช่เพียงเพราะกำลังคนและงบประมาณ ที่ต้องโยกไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลอื่นซึ่งรวมถึงการเพิ่มระยะห่าง ทางสังคม ความกังวลของคนไข้ที่ไม่ต้องการไปโรงพยาบาลเพราะเกรงจะติดเชื้อโรคโควิด-19 จึงมีสิ่งที่น่ากังวลตามมาคือผลเสียร้ายแรงที่อาจเกิดกับบริการด้านส่งเสริมและป้องกัน ซึ่งเป็นมาตรการด้านสาธารณสุขในระบบดูแลสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้ผลที่สุด

เขายกตัวอย่างให้เห็นว่าหากการให้วัคซีน การตรวจคัดกรองโรคที่ไม่ติดต่อ รวมทั้งการดูแลสุขภาพแม่และเด็กกับบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องลดปริมาณลง ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้ต้องไปพบแพทย์บ่อยขึ้นและเพิ่มค่าใช่จ่ายในการรักษา

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงเหล่านี้จะลดลงได้หากดำเนินนโยบายที่เหมาะสมและป้องกันสถานการณ์นี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ในเวลาเดียวกัน มีความเป็นไปได้ที่มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตจากการที่คนไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ปัญหาเรื่องการกินที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ในระหว่างที่มีการล็อกดาวน์ยังอาจทำให้เกิดโรคอ้วน น้ำหนักตัวเกิน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ ได้

การระบาดกับปัญหาปากท้อง

กลุ่มคนยากจนดูจะเป็นเหยื่อในทุกสถานการณ์ และคนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ดร.สุทยุต อธิบายว่ากลุ่มคนยากจนและคนที่มีสถานะเปราะบางต้องเผชิญความยากลำบากในชีวิตอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง การไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรง และยากจนลง ดังนั้นการสูญเสียรายได้จึงจะส่งผลต่อทั้งความเป็นอยู่และการใช้จ่ายซึ่งรวมถึงด้านสุขภาพด้วย

EPA

ธนาคารโลกประเมินว่าผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัว โดยอัตราเติบโตจะอยู่ในช่วง -3.0% ถึง -5.0% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.9% ขณะที่อัตราว่างงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วอยู่ที่ 2.82% จากที่เคยอยู่ที่ 1.67% ในช่วงต้นปี

ธนาคารโลกยังได้วิเคราะห์ความยากจนและอัตราความยากจนของคนไทย พบว่าการเติบโตของรายได้ครัวเรือนและการบริโภคที่หยุดชะงักลงทั่วประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ความก้าวหน้าในการลดความยากจนของประเทศไทยถดถอยลง พร้อมกับจำนวนประชากรยากจนที่เพิ่มขึ้น และอัตราความยากจนในอีกสองปีข้างหน้าจะสูงกว่า เมื่อปี 2558

ทั้งนี้ในช่วงปี 2558- 2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 9.8 อีกทั้งจำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4,850,000 คนเป็นมากกว่า 6,700,000 คน

สหประชาชาติย้ำให้ดูแลปัญหาสุขภาพจิต

ผ่านไปแล้วเกือบ 5 เดือน ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากโรคโควิด-19 สูง เกิน 3 แสนคน และผู้ติดเชื้อมากกว่า 4.3 ล้านคน

จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะยังคงเพิ่มอยู่ต่อเนื่องจนกว่าโลกจะมีทางออกในการจัดการโรคนี้อย่างได้ผล ในเวลาเดียวกันคนทั่วโลกจะยังคงเจ็บป่วยจากโรคอื่น ๆ และมีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต สิ่งนี้ได้รับการตอกย้ำจากองค์การสหประชาชาติที่เตือนให้ประเทศที่ไม่ได้ลงทุนดูแลสุขภาพจิตของคนในประเทศเพียงพอ ต้องหันมาใส่ใจเป็นพิเศษ

AFP

เรื่องจำนวนคนฆ่าตัวตายเพราะเครียดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันที่เมืองไทยถึงวิธีการรวบรวมตัวเลขที่นักวิชาการร่วมกันทำเพื่อสะท้อน ให้รัฐได้เห็นปัญหาที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มองว่า "ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดไปจากความคาดหมาย" และ "ยังไม่ถึงจุดที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง" ที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นไปเป็น 8.3 แสนต่อประชากร

กรมสุขภาพจิตบอกเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ว่า กำลังเปรียบเทียบฐานข้อมูลตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจหากมีการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวตามที่กรมระบุว่าจะนำเสนออย่างเร็วที่สุดภายใน 2 สัปดาห์

ผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้ผู้ใหญ่ฆ่าตัวตาย และปัญหาการเงินของครอบครัวก็คือต้นเหตุแห่งความกังวลมากที่สุดของเด็กและเยาวชนไทยกว่า 8 ใน 10 คน องค์การยูนิเซฟสำรวจความเห็นคนอายุ 15-19 ปี เกือบ 7,000 คน พวกเขาบอกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เพราะธุรกิจต่าง ๆ ปิดตัวและถูกเลิกจ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง