รีเซต

โลกร้อนทำ “ลำไส้พัง” ภัยเงียบจากวิกฤตสภาพอากาศ

โลกร้อนทำ “ลำไส้พัง” ภัยเงียบจากวิกฤตสภาพอากาศ
TNN ช่อง16
21 พฤษภาคม 2568 ( 12:00 )
15

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราอาจคุ้นเคยกับคำเตือนว่าโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ หรือแม้กระทั่งภาวะซึมเศร้า แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ สภาพอากาศที่ร้อนจัดยังส่งผลต่อ “ลำไส้” ของเราอีกด้วย โดยนักวิทยาศาสตร์เริ่มพบหลักฐานชัดเจนว่าความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงคุณค่าทางอาหารที่ลดลง กำลังเปลี่ยนแปลงจุลินทรีย์ในลำไส้ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางเดินอาหารในระดับโลก

 

เมื่ออุณหภูมิสูงก็จะส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ เพราะร่างกายมนุษย์มีความสมดุลอย่างละเอียดอ่อน ทำงานได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิประมาณ 37°C เมื่ออุณหภูมิภายนอกสูงขึ้น ฮอร์โมนความเครียดอย่าง "คอร์ติซอล" จะหลั่งเพิ่มขึ้น และกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในระบบลำไส้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเวลาการย่อยอาหาร การอักเสบของเยื่อบุลำไส้ ไปจนถึงภาวะ "ลำไส้รั่ว" ซึ่งทำให้เชื้อโรคจากลำไส้เล็ดลอดเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันแปรปรวน อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังเพิ่มปริมาณออกซิเจนในลำไส้ ซึ่งส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ไม่เป็นประโยชน์เจริญเติบโตมากขึ้น ส่งผลให้ระบบนิเวศในลำไส้ (gut microbiome) เสียสมดุล หรือที่เรียกว่า "dysbiosis" ซึ่งสัมพันธ์กับโรคต่างๆ เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) และอาการลำไส้แปรปรวน (IBS)

ไม่ใช่แค่จุลินทรีย์ในลำไส้ที่เปลี่ยนไป แต่จุลินทรีย์ในดิน น้ำ และอากาศ ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน นักวิจัยพบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นกระตุ้นให้เชื้อโรคในสิ่งแวดล้อม เช่น E. coli, ลิสทีเรีย และชิเกลลา เจริญเติบโตมากขึ้น และเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางอาหาร ผิวหนัง หรือแม้กระทั่งฝุ่นในอากาศ


ในประเทศที่พึ่งพาการเกษตรหรือขาดระบบสุขาภิบาลที่ดี ประชาชนมักมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับดินและน้ำ ทำให้มีความเสี่ยงสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่การบริโภคน้ำปริมาณมากขึ้นในวันที่อากาศร้อน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคจากน้ำปนเปื้อนโดยไม่รู้ตัว


นอกจากนี้ ภัยพิบัติอย่างน้ำท่วมยังทำให้เชื้อโรคต่างๆ เช่น ไวรัสโรต้า หรือแบคทีเรียก่อโรคในน้ำ ดั่งที่เคยเกิดขึ้นในบังกลาเทศปี 2004 ซึ่งมีผู้ป่วยโรคท้องร่วงมากถึง 350,000 ราย จากน้ำท่วมใหญ่เพียงครั้งเดียว


หนึ่งในผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ "คุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่ลดลง" แม้พืชจะเติบโตเร็วขึ้นในอุณหภูมิสูง แต่คุณภาพของสารอาหาร เช่น สังกะสี ธาตุเหล็ก และโปรตีนในข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพด กลับลดลง อุณหภูมิที่สูงกว่า 30°C ยังลดปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ และทำให้พืชดูดซับสารพิษจากดินอย่างสารหนูมากขึ้นอีกด้วย

ในทะเล อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้สัตว์น้ำหายากและลดปริมาณโปรตีนในอาหารโดยเฉพาะในประเทศรายได้น้อย เมื่ออาหารมีความหลากหลายน้อยลง ระบบจุลินทรีย์ในลำไส้ก็จะขาดความหลากหลาย และสุขภาพลำไส้จะแย่ลงตามไปด้วย ซึ่งสะท้อนถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ความหิวแบบซ่อนเร้น” (hidden hunger) คือแม้กินอิ่มแต่กลับไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็น หรือภาวะที่ร่างกายขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย


สภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในร่างกายเราอย่างลึกซึ้ง และ "ลำไส้" คือจุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างโลกภายนอกกับระบบภูมิคุ้มกันภายใน ผลกระทบที่เคยดูห่างไกลอย่างการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในดินหรือสารอาหารในข้าว กำลังย้อนกลับมากระทบสุขภาพในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึง และอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้หากเราไม่หยุดภาวะโลกร้อนเสียแต่วันนี้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง