วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ : คำถามจากแม่ที่ลูกชายสาบสูญไปกว่า 1 ปี "เมื่อไหร่เขาจะเลิกล้อมจับ อุ้มหายคนเห็นต่างทางการเมือง"
ย่างเข้าสู่วันที่ห้าหลังจากที่มีรายงานว่านายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยวัย 37 ปี หายตัวไปจากอพาร์ทเมนต์ในกรุงพนมเปญ ขณะที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ทางการไทยไม่ได้ใช้ความพยายามในการติดต่อประสานงานทางการกัมพูชาเรื่องนี้มากพอ
ไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังการลักพาตัว น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม บอกบีบีซีไทยว่า เชื่อว่า มีความเป็นไปได้เพียง 1% ที่น้องชายของแธอจะมีโอกาสรอดชีวิต
ไม่ต่างจาก กัญญา ธีรวุฒิ สตรีวัย 64 ปี ที่ยังมีความหวังว่าลูกชายของเธอ สยาม ธีรวุฒิ นักเคลื่อนไหวที่ลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่อายุ 29 ปี หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ยังมีชีวิตอยู่
- มารีญา ร่วมตามหา เอ็นจีโอล่ารายชื่อเรียกร้องประยุทธ์-ฮุน เซนชี้แจงกรณีหายตัว
- วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ : พี่สาวเล่านาทีน้องชายหายตัวไปในกัมพูชา เผย ตร.ไทยไปเยี่ยมแม่ที่อุบลฯ เมื่อเดือน พ.ค.
- วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ : สนง.ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนฯ ของยูเอ็น ตรวจสอบกรณีลักพาตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา
"ขอให้มีความหวัง และตั้งสติสู้" คือ ประโยคที่กัญญาฝากไปให้แม่ของวันเฉลิมที่อายุใกล้เคียงกับเธอ ส่วน สยามและวันเฉลิมก็อายุใกล้เคียงกันด้วย
"เจ็บปวดทุกครั้งเมื่อได้ยินข่าวการอุ้มหาย เรื่องของแม่ก็อุ้มหายไปปีหนึ่งแล้ว ทำไมเรื่องการอุ้มหายคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองถึงไม่เลิกเสียที" กัญญา พูดออกมาด้วยอารมณ์และปนกับความสงสัย
"เจ้าสาวหมาป่า"
สยาม เป็นผู้ต้องหาหมายจับคดีอาญามาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หลังร่วมแสดงละคร "เจ้าสาวหมาป่า" ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อปี 2556
หลังใช้ชีวิตหลบหนีในประเทศเพื่อนจัดรายการข่าวสารทางยูทิวบ์วิจารณ์รัฐบาล คณะรัฐประหาร และสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่หลายปี จนกระทั่ง 9 พ.ค. 2562 เพื่อนผู้ลี้ภัยทางการเมืองกระจายข่าวเมื่อ ว่า สยาม หรือ "ไอซ์" ของพ่อแม่ และพวกอีก 2 คน ถูกตำรวจเวียดนามจับส่งให้ทางการไทยแล้ว
หนึ่งวันหลังมีข่าวออกมา กัญญาติดต่อกับตำรวจ และหน่วยงานของรัฐนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อติดตามหาลูกชาย ที่มีอีกชื่อว่า "สหายข้าวเหนียวมะม่วง"
"ข่าวปลอม"
10 พฤษภาคม 2562 คือ วันแรกที่ ครอบครัวธีรวุฒิ เข้าขอข้อมูลเรื่องการจับกุมสยามกับทางกองปราบปรามในฐานะที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนผู้ขอออกหมายจับ เพื่อตรวจสอบว่ามีการจับกุมตัวสยามกลับมาไทยหรือไม่
อีก 3 วัน ต่อมา ครอบครัวของสยามไปติดต่อสถานทูตเวียดนามในไทย เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีการจับกุมตัวเขา พร้อมตั้งคำถามว่า ถูกจับข้อหาอะไร อยู่ในการดูแลของเวียดนามหรือไม่ หรือ ถูกส่งกลับมาไทย
ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี ยังไม่มีคำตอบจากทั้ง 2 ประเทศ ให้ครอบครัวธีรวุฒิ แม้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเคยบอกกัญญาว่า จะทราบผลว่าลูกเป็นตายร้ายดีอย่างไรภายในเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่มีข่าวว่าเขาหายตัวไปในเวียดนาม
"บอกว่าไม่รู้จริง ๆ ทีแรกก็บอกว่าข่าวปลอมบ้างหละ แต่ความจริงคือ คนของเราหายไปจริง ๆ" เธอเล่าถึงช่วงที่ติดตามถามข่าวคราวจากตำรวจสันติบาล
กัญญา ย้อนกลับไปถึงคำพูดสุดท้ายที่สยามเธอพูดก่อนที่จะติดต่อไปไม่ได้ว่า "ผมอาจจะหายไปและติดต่อไม่ได้นานหน่อยราว 3 เดือน" ทว่าผ่านไปกว่า 1 ปี สยามยังไม่ติดต่อกลับมา
"10 ปี ก็จะรอ"
ทุกวันนี้ ในวัยที่เลยผ่านเลขหก กัญญายังหาเลี้ยงชีพด้วยการรับติดตั้ง-ซ่อมแอร์ในจังหวัดสมุทรสาครกิจการซึ่งครั้งหนึ่งลูกชายเธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง
เมื่อกัญญาได้รับทราบข่าวเกี่ยวกับการหายตัวไปของวันเฉลิม ที่หนีออกนอกประเทศเพราะ ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. เมื่อปี 2557 และหมายจับคดีผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อปี 2561 เท่านั้น เธอถามด้วยความประหลาดใจว่า
"ถ้าเป็นฐานความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องทำกันขนาดนี้หรือเปล่า ต้องอุ้มหายกันเลย ทำไมคนที่อุ้มถึงมีพฤติกรรมเยี่ยงโจร ไม่มีความคิด ไม่มีมันสมอง คิดไม่เป็น เห็นแก่เงินสินจ้างรางวัลเท่านั้นหรือ"
ในฐานะผู้ประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เธออยากส่งข้อความถึงครอบครัวของวันเฉลิมโดยเฉพาะแม่ของเขาในวัย 63 ปี ว่า
"ต้องสู้ ต้องค้นหา ต้องทนสู้ อย่าเพิ่งไปโศกเศร้าเสียใจ จนเสียกำลังใจ ตั้งใจสู้ อย่าเครียดจนเสียสติ ไม่งั้นจะสู้กับคนพวกนี้ไม่ได้"
การบริหารอารมณ์และจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญกับการใช้ชีวิตของหญิงในวัย 64 ปีผู้นี้ที่ยังเฝ้ารอการกลับมาของลูกชาย เธอบอกว่า "เราต้องเข้มเข็ง ถ้าเราคิดมากมาย ก็จะทำให้ชีวิตเป็นลบ แม่ก็ทำงานของแม่ ชีวิตต้องทำงาน ถ้าเราหยุดแล้วคิดแต่เขา ก็จะไม่เป็นประโยชน์ของตัวเอง สิบปีก็จะรอ"
เธอยอมรับว่าคิดถึงลูกชายทุกวัน แต่สิ่งที่เธอทำได้เพื่อชดเชยความรู้สึกดังกล่าวก็มีเพียงสองสิ่งทำคือ ร้องเพลง "จ้า" ของวงไฟเย็น ซึ่งลูกชายเป็นผู้ขับร้อง บางวันเธอก็เอาเสื้อลายสก๊อตลายตารางสีฟ้าสลับแดงและขาวตัวโปรดที่ทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า 3 ตัว
"เมื่อคืนวาน พ่อเขาก็ฝันว่าได้เจอไอซ์ (ชื่อเล่นของสยาม) เขาดูตัวอ้วนขาว ดูไม่เดือดร้อน ไม่มีความทุกข์ ก็ทำให้ความห่วงต่อเขาน้อยลง ในใจคิดว่า เข้ายังมีชีวิตอยู่ แต่ตอนนี้ติดต่อเขาไม่ได้" เธอเล่าให้ฟัง
จากประสบการณ์ในอดีต แม่ของสยามบอกว่า เธอเกรงว่าข่าวการหายตัวไปของวันเฉลิมจะฮือฮาไปเพียง 2-3 วันแล้วเงียบไปเหมือนกรณีการหายตัวไปของ ลุงสนามหลวง และสุรชัย แซ่ด่าน
"อย่างไรก็ตาม เรื่องของวันเฉลิมได้ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยและกัมพูชาเสียหายไปแล้ว" เธอกล่าว
หัวอกภรรยา
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้ตกเป็นเหยื่อหลังสามีของเธอถูกบังคับสูญหายในไทย มองว่าการทำงานของรัฐบาลในเรื่องนี้ค่อนข้างล่าช้า
"ถึงตอนนี้เราแทบไม่รู้อะไรเลย ยังไม่เคยมีคำแถลงจากรัฐบาลมาเลยว่าเป็นอย่างไร รัฐเองจะต้องแสดงความจริงใจในการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะนายวันเฉลิมมีหมายจับของคสช. อยู่" อังคณากล่าว
และแนะนำว่า ในเรื่องการอุ้มหาย ทางการต้องตามหาและสืบสวนสอบสวนในทันที เพราะทุก ๆ เวลานาทีล้วนมีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของเหยื่อ เมื่อกลายเป็นประเด็นที่เป็นที่รู้จักแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เร่งหาตัวก่อนว่าใครเป็นคนทำ
เธอยกตัวอย่างไปยังกรณีสุรชัย แซ่ด่านที่ยังสูญหาย ในขณะที่เพื่อนอีกสองคนที่มีรายงานว่าอยู่ด้วยกันถูกฆ่าแบบโหดเหี้ยมและพบเป็นศพในลำน้ำโขง จนถึงวันนี้ครอบครัวยังไม่รู้ว่าคนทีเสียชีวิตถูกใครเป็นคนฆาตกรรม และยังไม่มีการติดตาม
- ชะตากรรมของผู้ "หมิ่นเบื้องสูง" จะเป็นอย่างไรหลังการหายตัวไปของ 8 สหายร่วมอุดมการณ์
- ย้อนรอยผู้ลี้ภัย ใครถูก "อุ้มหาย" บ้างหลังรัฐประหาร 2557
ส่วนกรณีของนายวันเฉลิม อังคณาบอกว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ญาติพี่น้องคงเดินทางไม่สะดวกที่จะเข้ามาทำคดี แต่มีผู้พบเห็นในเหตุการณ์ หลักฐานเป็นคลิปวิดีโอ ทางการจะต้องให้ความสำคัญในการสืบสวนสอบสวนอย่างรวดเร็วด้วยความบริสุทธิ์ใจ
เธอยกตัวอย่างกรณีทนายสมชายผู้เป็นสามีที่หายตัวไปเมื่อ 15 ปีก่อนว่า เมื่อครอบครัวทราบข่าวแล้วแจ้งความ ก็มีระเบียบปฏิบัติให้แจ้งความภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง ก็ทำให้ตำรวจสามารถทำงานสืบสวนในทางลับได้เพราะเชื่อว่าผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และต่อมาภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจได้ทั้งหมด 5 นาย
"แม้ว่าตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าวันเฉลิมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยหรือไม่ อย่างไรก็ตามอย่างน้อยเขาก็เป็นพลเมืองของไทย อย่างน้อยก็_ต้องสอบถามกับทางการกัมพูชา" เธออธิบาย
ความรู้สึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ยังรอด
ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ผู้ลี้ภัยในเกาหลีใต้จากความผิด ม. 112 หลังแชร์บทความพระราชประวัติ ร.10 ของบีบีซีไทยลงเฟซบุ๊กขณะอยู่ต่างประเทศ โพสต์แสดงความเห็นต่อการสูญหายของวันเฉลิมว่า "เป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมาก"
"มันเป็นความจริงที่ผู้ลี้ภัยไทยลี้ภัยแล้วก็ยังไม่พ้นภัยเพราะอำนาจมืด...เผด็จการไทยมันแผ่ไปทั่ว โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านที่สิทธิมนุษยชนก็ยังเข้าไม่ถึง ชีวิตนักกิจกรรมไร้ค่ายิ่งกว่าผักปลา โดนอุ้มฆ่า อุ้มหายเป็นว่าเล่น ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไร"
ตอนนี้ได้ยินข่าวแบบนี้เราโกรธทุกครั้ง ใครยังทนอยู่ในสังคมเถื่อนๆแบบนี้ได้นี่เกินเยียวยาในความโง่แล้ว ถ้าเป็นญาติ เป็นเพื่อน เป็นคนรู้จักเราแล้วโดดไปร่วม #BlackLivesMatter แต่ยังเฉยกับที่ผู้ลี้ภัยไทยโดนอุ้มฆ่าเป็นว่าเล่นก็อย่าบอกว่ารู้จักเรา (ที่ก็เป็นผู้ลี้ภัย) เลย น่ารังเกียจ ขอให้พี่ต้ายังปลอดภัย