รีเซต

เวียดนามยันซื้อ F-16 Block 70/72 อเมริกา แทน Su-57 รัสเซีย ด้วยเหตุผลว่าไม่มีเรดาร์ AESA มาให้

เวียดนามยันซื้อ F-16 Block 70/72 อเมริกา แทน Su-57 รัสเซีย ด้วยเหตุผลว่าไม่มีเรดาร์ AESA มาให้
TNN ช่อง16
22 เมษายน 2568 ( 13:17 )
11

เวียดนามแถลงการณ์จัดซื้อเครื่องบินขับไล่พหุภารกิจยุคที่ 4.5 รุ่น F-16 Block 70/72 Super Viper ของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ พร้อมปฏิเสธการจัดซื้อ Su-57 เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 จากรัสเซียโดยให้เหตุผลทางเทคโนโลยีทางการทหารว่าเครื่องบินค่ายรัสเซียที่เสนอขายมานั้นไม่ได้ติดตั้งเรดาร์ที่ชื่อว่าเอซา (AESA)

เรดาร์ AESA คืออะไร

เรดาร์ AESA หรือ Active Electronically Scanned Array เป็นกลุ่มของเรดาร์ที่มีตัวรับและส่งสัญญาณวิทยุหลายตัวเรียงซ้อนกันเพื่อสร้างความสามารถในการปล่อยคลื่นวิทยุหลายความถี่พร้อม  ๆ กัน จึงมักเห็นผิวหน้าของเรดาร์ AESA เป็นรูปคล้ายรวงผึ้งหรือแผงตาข่าย

เมื่อเรดาร์ AESA สามารถปล่อยคลื่นวิทยุได้หลายความถี่พร้อม ๆ กัน ส่งผลให้เครื่องบินขับไล่สามารถติดตามวัตถุได้หลายอย่างพร้อม ๆ กัน เพราะแต่ละตัวรับ/ส่งสัญญาณก็จะล็อกเป้าหมายเฉพาะของตัวเอง 

ในขณะเดียวกัน เรดาร์ AESA ยังสามารถต่อต้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์และการรบกวนสัญญาณ (Jamming) ได้ดีขึ้น เนื่องจากหากโดนรบกวนที่ความถี่ใดความถี่หนึ่งก็ยังสามารถใช้คลื่นความถี่อื่นในระบบทำงานต่อไปได้

ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีเรดาร์ AESA จึงถือเป็นหนึ่งในระบบเรดาร์ที่ทันสมัยที่สุดในโลกบนเครื่องบินขับไล่ในปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบสำหรับเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยซึ่งสร้างมิติการรบที่ละเอียดและปลอดภัยมากขึ้น

เครื่องบินขับไล่ Su-57

Su-57 เป็นเครื่องบินขับไล่แบบ 2 เครื่องยนต์ ให้ความเร็วสูงสุด 2 มัค หรือประมาณ 2,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเร่งเครื่อง (Supercruise) 1.3 มัค หรือประมาณ 1,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะการบินสูงสุด 3,500 กิโลเมตร 

Su-57 มีจุดติดตั้งอาวุธ (Hardpoint) ทั้งหมด 12 จุด น้ำหนักรวม 7,500 กิโลกรัม รองรับการติดตั้งเรดาร์เบียลกา (Byelka radar) ซึ่งเป็นเรดาร์แบบ AESA ที่มีรัศมีตรวจจับเป้าหมายได้ไกลถึง 400 กิโลเมตร ตรวจจับ (Detect) ได้สูงสุด 60 เป้าหมาย และติดตาม (Track) เป้าหมายพร้อมกันสูงสุด 16 เป้าหมาย

เรดาร์ Byelka บนเครื่องบินขับไล่ Su-57 ที่มา: Wikicommons

เครื่องบินขับไล่ F-16 V

ในขณะที่ F-16 V Super Viper เป็นเครื่องบินขับไล่พหุภารกิจยุคที่ 4.5 แบบ 1 เครื่องยนต์ ความเร็วสูงสุด 2.05 มัค หรือประมาณ 2,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติภารกิจ (ไม่รวมถังเชื้อเพลิงเสริม) 1,700 กิโลเมตร 

F-16 V มีจุดติดตั้งอาวุธ (Hardpoint) ทั้งหมด 11 จุด น้ำหนักรวม 7,700 กิโลกรัม รองรับการติดตั้งเรดาร์ AN/APG-83 ซึ่งเป็นเรดาร์แบบ AESA ที่มีรัศมีตรวจจับเป้าหมายได้ไกลถึง 370 กิโลเมตร ติดตามเป้าหมายพร้อมกันสูงสุดมากกว่า 20 เป้าหมาย แต่ไม่ได้ระบุว่าสามารถตรวจจับสูงสุดได้กี่เป้าหมาย 

โดยโปรแกรม (Software) ในการทำงานของเรดาร์ AN/APG-83 ยังเป็นโครงสร้างเดียวกันกับโปรแกรมที่ใช้ในเรดาร์ AN/APG-81 เรดาร์บนเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ของสหรัฐฯ อย่าง F-35 Lightning II อีกด้วย

เรดาร์ AN/APG-83 (SABR) บนเครื่องบินขับไล่ F-16 ที่มา: Wikicommons


เหตุผลการจัดซื้อเครื่องบิน F-16 ของเวียดนาม

ทางกระทรวงกลาโหมของเวียดนามเปิดเผยว่าหนึ่งในเหตุผลที่เลือกจัดซื้อ F-16 V เนื่องจากมีการติดตั้งเรดาร์ AESA มาให้ ต่างจาก Su-57 ที่รัสเซียเสนอขายมานั้นไม่ได้มีระบบเรดาร์ AESA และชุดเรดาร์เสริม (Radar suites) มาด้วย

ด้านสื่อต่างประเทศ เช่น นิวส์วีค (Newsweek) และ โกลบอล ดีเฟนซ์ คอร์ป (Global Defence Corp) รายงานตรงกันว่า เวียดนามจะจัดซื้อ F-16 V เป็นอย่างน้อย 24 ลำ แต่ไม่ได้เป็นรายงานจากทางรัฐบาลเวียดนามอย่างเป็นทางการ รวมถึงยังไม่มีการเปิดเผยงบประมาณที่ใช้แต่อย่างใด

นอกเหนือจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทำให้เวียดนามได้รับผลกระทบแล้ว สื่อต่างประเทศยังเชื่อว่าอีกสาเหตุหนึ่งคือปัญหาการสนับสนุนชิ้นส่วนและการบำรุงรักษาจากรัสเซียให้เครื่องบินขับไล่ที่มีอยู่เดิม คือ ซุคฮอย ซู 30 (Sukhoi Su-30) และ Su-22 ซึ่งประจำการรวมกัน 65 ลำ 

ปัญหาดังกล่าวจึงคาดว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เวียดนามเลือกจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้สหรัฐฯ ได้เตรียมเสนอขายเครื่องบินลำเลียง C-130 ซึ่งเป็นเครื่องบินจากล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ผู้ผลิต F-16 ในอนาคตด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ หากเวียดนามจัดซื้อ F-16 V เข้าประจำการได้สำเร็จ ก็จะทำให้เวียดนามกลายเป็นชาติที่ 5 ในอาเซียนที่มี F-16 เข้าประจำการ ต่อจาก ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีข่าวจัดซื้อ F-16 V จำนวน 20 ลำ ก่อนหน้านี้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง