MIT คิดค้นเซนเซอร์ ช่วยกระชับหน้ากากอนามัยกับใบหน้า
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 (Covid 19) ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกต้องหันมาสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดต่อของไวรัสโควิด 19 ผ่านอากาศ ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสของหน้ากากอนามัยขึ้นอยู่กับความพอดีของหน้ากาก กล่าวก็คือ ยิ่งหน้ากากอนามัยแนบสัมผัสกับใบหน้าของผู้สวมใส่ได้พอดีมากเท่าไหร่ ช่องโหว่ที่เชื้อไวรัส จะเล็ดลอดเข้าไปก็ยิ่งน้อยเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตหน้ากากอนามัยที่พอดีกับทุกคนวางขายในท้องตลาด
ซีมาส์ก (cMaSK)
ทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที (MIT) จึงได้คิดค้นเซนเซอร์สำหรับติดด้านในของหน้ากากอนามัยที่ชื่อว่า “ซีมาส์ก (cMaSK)” เพื่อปรับความขนาดของหน้ากากอนามัยให้พอดีกับใบหน้าของผู้สวมใส่ โดยเซนเซอร์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเส้นโพลีเมอร์ยืด ๆ ที่ฝังเซนเซอร์ไว้ภายใน ซึ่งเซนเซอร์จำนวน 17 ตัว เป็นเซนเซอร์วัดขนาดที่สามารถใช้ระบุได้ว่าหน้ากากอนามัยสัมผัสกับผิวหนังในแต่ละตำแหน่งหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีเซนเซอร์อื่น ๆ สำหรับวัดอุณหภูมิ, ความชื้น และความกดอากาศ ซึ่งสามารถตรวจจับกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้สวมใส่ได้ เช่น การพูด และการไอ เป็นต้น
ประสิทธิภาพของซีมาส์ก (cMaSK)
โดยทีมนักวิจัยได้ทดสอบการทำงานของซีมาส์กกับกลุ่มตัวอย่างที่ประกอบไปด้วย ผู้ชาย 5 คน และผู้หญิง 5 คน เพื่อติดตามอ่านข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์ ทำให้พบว่าประสิทธิภาพการทำงานของซีมาส์กในเพศหญิงน้อยกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทีมนักวิจัยคาดว่ามาจากรูปร่างและขนาดของใบหน้าที่เล็กกว่าเพศชาย โดยสามารถแก้ได้ด้วยการใช้ซีมาส์กกับหน้ากากอนามัยที่มีขนาดเล็กกว่า
สำหรับงานวิจัยในครั้งนี้ ทีมนักวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยผลิตหน้ากากอนามัยที่สามารถปรับเข้ากับรูปร่างและขนาดของใบหน้าที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละคนสำหรับวางขายในท้องตลาด
ข้อมูลและภาพจาก news.mit.edu