รีเซต

เปิด 5 สถานการณ์สาเหตุ "เรือดำน้ำ" ที่อาจเผชิญ หลังหายดำดิ่งใต้ท้องทะเล

เปิด 5 สถานการณ์สาเหตุ "เรือดำน้ำ" ที่อาจเผชิญ หลังหายดำดิ่งใต้ท้องทะเล
TNN ช่อง16
21 มิถุนายน 2566 ( 20:01 )
186
เปิด 5 สถานการณ์สาเหตุ "เรือดำน้ำ" ที่อาจเผชิญ หลังหายดำดิ่งใต้ท้องทะเล

เปิด 5 สถานการณ์ เรือดำน้ำไททันอาจเผชิญขณะดำน้ำลึกกว่า 3,800 เมตร เพื่อลงไปชมเรือไททานิคที่จมอยู่ใต้ท้องทะเล 


เวลานี้ทั้งโลกเฝ้าลุ้นภารกิจค้นหาและช่วยเหลือเรือดำน้ำ "ไททัน" (Titan) ของบริษัท "โอเชียนเกต" (Oceangate)  ที่ขาดการติดต่อไป โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์เอริค ฟูซิล ผู้อำนวยการศูนย์การต่อเรือประจำมหาวิทยาลัยแอดิเลด ในออสเตรเลีย ประเมินสาเหตุความเป็นไปได้อยู่ 5 เหตุการณ์ คือ 


สถานการณ์ที่ 1 

พลังงานไฟฟ้าหมด เนื่องจากเรือดำน้ำไททันเคลื่อนที่โดยใช้พลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ และการสูญเสียพลังงานไฟฟ้า หมายถึงการสูญเสียการติดต่อสื่อสาร ขณะนี้ไม่สามารถรู้แน่ชัดได้ว่าทำไมพลังไฟฟ้าในแบตเตอรี่ของเรือดำน้ำไททันจึงหมด นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเรือดำน้ำขนาดเล็ก จึงมีแหล่งพลังงานสองแหล่ง ทั้งจากพลังงานไฟฟ้า และพลังงานจากแหล่งอื่น อย่างเช่นไฮดรอลิก เพื่อทำให้ระบบพลังไฟฟ้าปลอดภัย 

สถานการณ์ที่ 2 

เกิดการไฟไหม้ โดยหากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในเรือดำน้ำ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การเกิดไฟไหม้ ซึ่งจะทำให้ระบบการสื่อสารจากเรือดำน้ำเสียหายและทำให้เกิดควันพิษกับผู้โดยสารในเรือ 

สถานการณ์ที่ 3 

คือ เรือรั่ว หรือเกิดระเบิดจากภายใน ซึ่งเรือดำน้ำเผชิญกับแรงดันที่เพิ่มขึ้นขณะดำลงในระดับความลึกที่มากขึ้น และแม้แต่การเกิดรอยรั่วเล็กๆ ก็อาจก่อให้เกิดหายนะ ระเบิดจากภายในเรือได้

สถานการณ์ที่ 4 

เรือไททันอาจกลับขึ้นสู่ผิวน้ำแล้ว มีความเป็นไปได้ที่บางทีเรือไททันอาจกลับขึ้นสู่ผิวน้ำแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อกับเรือแม่ที่คอยสนับสนุนปฏิบัติการดำน้ำได้ จึงทำให้ทีมค้นหากำลังบินค้นหาในบริเวณที่ปล่อยเรือดำน้ำลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก

สถานการณ์ที่ 5 

คือ เรือไททันติดซากเรือไททานิค จากกระแสน้ำแรงใต้มหาสมุทร อาจผลักให้เรือดำน้ำเข้าไปใกล้ซากเรือไททานิคเกินไป ซึ่งอาจทำให้เรือดำน้ำติดอยู่กับซากเรือไททานิคได้ 


ทั้งนี้ เมื่อมาดูภารกิจการค้นหาและช่วยเหลือเรือไททัน ที่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเรือดำน้ำลำนี้และผู้โดยสารทั้ง 5 คน อยู่จุดใดใต้ท้องทะเล แต่วันนี้มีสัญญาณที่ดีหลังเครื่องบินลาดตระเวนล็อกฮีตพี 3 โอไรออนของแคนาดาใช้เครื่องโซนาร์ปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อค้นหาเรือดำน้ำไททัน ใต้ท้องทะเล 

จากนั้นได้ยินเสียงสะท้อนกลับมาเป็นเวลา 30 นาที ในลักษณะการทุบ และหลังจากที่เครื่องบินของแคนาดาได้ตรวจพบสัญญาณใต้น้ำครั้งแรก ทีมค้นหาได้ระดมเครื่องโซนาร์มาค้นหาในบริเวณดังกล่าว และสร้างความดีใจอย่างมาก เมื่อยังคงมีเสียงสะท้อนกลับมาเป็นเวลา 4 ชั่วโมง หลังจากได้ยินเสียงสะท้อนใต้น้ำครั้งแรก 

ด้านริค เมอร์คาร์ เจ้าของบริษัท อะควอททิค แอดเวนเจอร์ ออฟ ฟลอริดา ของสหรัฐฯ ระบุว่า มี 3 ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ในกรณีทีมกู้ภัยทราบพิกัดที่เรือจม 

ขั้นตอนแรก คือ ทีมค้นหาจะต้องทราบพิกัดหรือตำแหน่งที่เรือจม 

ขั้นตอนที่ 2 คือ ตรวจสอบให้ชัดเจนเรื่องสถานการณ์ล่าสุดของคนบนเรือ เช่น ทุกคนปลอดภัยดีหรือไม่ 

ขั้นตอนที่ 3 คือ เริ่มลงมือกู้เรือจากท้องทะเล ซึ่งเขาหวังว่าขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นในที่สุด แต่การกู้เรือทั้ง 3 ขั้นตอนเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะดำเนินการเสร็จทุกขั้นตอน

หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯและกองทัพอากาศแคนาดา กำลังส่งเครื่องบินและเรือจำนวนมากขึ้นเพื่อช่วยในการค้นหาเรือดำน้ำ ล่าสุดเรือวิจัย อตาลันเต้ Atalante ของฝรั่งเศส ได้เข้าร่วมในปฏิบัติการดังกล่าวด้วย หลังได้รับคำร้องขอให้สนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้ โดยเรือ Atalante อยู่ห่างจากตำแหน่งของซากเรือไททานิคภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง

รายงานข่าวระบุว่า บนเรือวิจัยของฝรั่งเศส ยังมีหุ่นยนต์อัตโนมัติ Victor 6000 ซึ่งสามารถลงไปใต้น้ำได้ลึกถึงตำแหน่งที่ซากเรือไททานิคจมอยู่ ทั้งนี้ คาดว่าเรือวิจัยจะไปถึงพื้นที่ปฏิบัติการช่วงเช้าวันที่ 22 มิ.ย.นี้ตามเวลาในไทย

ด้านนาวาเอกเจมี เฟรเดอริก แห่งหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ แถลงว่า ปฏิบัติการค้นหาจนถึงตอนนี้ครอบคลุมอาณาบริเวณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ยังไม่พบสัญญาณของเรือดำน้ำ "ไททัน" (Titan) ของบริษัท "โอเชียนเกต" (Oceangate) ที่สูญหายไปพร้อม 5 คนในเรือ ในระหว่างดำลงไปชมซากเรือไททานิกที่จมลงอยู่ก้นทะเลลึกที่ระดับ 3,800 เมตร นอกชายฝั่งแถบนิวอิงแลนด์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา




ภาพจาก reuters


ข่าวที่เกี่ยวข้อง