รีเซต

ถ่ายภาพยาน Vikram บนดวงจันทร์ โดยรถสำรวจ Pragyan ของอินเดีย

ถ่ายภาพยาน Vikram บนดวงจันทร์ โดยรถสำรวจ Pragyan ของอินเดีย
TNN ช่อง16
31 สิงหาคม 2566 ( 15:05 )
71
ถ่ายภาพยาน Vikram บนดวงจันทร์ โดยรถสำรวจ Pragyan ของอินเดีย

วันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) เปิดเผยภาพล่าสุดของภารกิจจันทรายาน-3 โดยเป็นภาพของยานลงจอดวิกรม (Vikram) ที่ถูกถ่ายโดยกล้องบนรถสำรวจปรัญญาณ (Pragyan rover) ที่มีฉากหลังเป็นพื้นผิวดวงจันทร์ที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่น


โดยรายละเอียดของภาพถ่ายแสดงให้เห็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 2 ตัว ที่ติดตั้งอยู่ใต้ท้องของยานลงจอดวิกรม (Vikram) คือ เครื่องมือสำหรับทดลองเทอร์โมฟิสิกส์พื้นผิวของจันทรา (ChaSTE) และเครื่องมือสำหรับตรวจสอบกิจกรรมแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ (ILSA)


ยานจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา โครงสร้างแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญด้วยกันประกอบไปด้วยโมดูลขับเคลื่อน (Propulsion module) มีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนยานเดินทางไปยังดวงจันทร์โดยไม่ลงจอดบนดวงจันทร์ ยานลงจอด (Lander) ชื่อว่าวิกรม (Vikram) มีหน้าที่ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ และรถสำรวจปรัญญาณ (Pragyan rover) ซึ่งถูกเก็บเอาไว้ภายในยานลงจอดวิกรม มีหน้าที่วิ่งสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ โดยรถสำรวจปรัญญาณได้เริ่มต้นวิ่งสำรวจตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา


ภารกิจแรก ๆ ของรถสำรวจปรัญญาณ (Pragyan rover) เป็นการเปิดใช้งานเครื่องตรวจสอบอุณหภูมิชื่อว่าซาเอสทีอี (ChaSTE) บนพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อทำการศึกษาอุณหภูมิบนพื้นผิวใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ นับเป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจและวัดอุณหภูมิพื้นผิวในบริเวณดังกล่าว


เครื่องตรวจสอบอุณหภูมิซาเอสทีอี (ChaSTE) ติดตั้งตัววัดซึ่งเจาะลึกลงไปใต้พื้นผิวดวงจันทร์ 4 นิ้ว หรือ 10 เซนติเมตร เพื่อทำความเข้าใจว่าอุณหภูมิของดินเปลี่ยนแปลงตามความลึกอย่างไร ผลการตรวจสอบอุณหภูมิพบว่าในขณะที่อุณหภูมิพื้นผิวมีสูงกว่า 140 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ  60 องศาเซลเซียส ชั้นใต้พื้นผิวลึกลงไปเพียง 3 นิ้ว หรือ 8 เซนติเมตร กลับมีอุณหภูมิเยือกแข็ง 14 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ ลบ 10 องศาเซลเซียส


พื้นผิวด้านนอกของดวงจันทร์มีอุณหภูมิร้อนอย่างไม่น่าเชื่อ ในช่วงที่หันหน้าเข้าหาแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งแตกต่างจากพื้นผิวบนโลกที่ได้รับการปกป้องด้วยบรรยากาศหนาทึบที่จะดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์และสร้างความสมดุลด้านอุณหภูมิให้กับพื้นผิวโลก ในขณะที่ดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศปกป้องแบบโลก


ผลการสำรวจในภารกิจ(Chandrayaan-3) ของอินเดีย สอดคล้องกับผลการศึกษาของนาซาที่คาดว่าอุณหภูมิพื้นผิวของบริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ หากได้รับแสงจากดวงอาทิตย์อาจมีอุณหภูมิสูงถึง 260 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 127 องศาเซลเซียส ในขณะช่วงที่ไม่โดนแสงจากดวงอาทิตย์อาจมีคุณหภูมิเยือกแข็ง -280 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ -173 องศาเซลเซียส ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับภารกิจนำยานอวกาศพร้อมมนุษย์ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ในอนาคต


ที่มาของข้อมูล Space.com
ที่มาของรูปภาพ ISRO


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง