รีเซต

จีนส่งยาน “ฉางเอ๋อ 6” ทำภารกิจที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์ด้านไกลกลับโลก

จีนส่งยาน “ฉางเอ๋อ 6” ทำภารกิจที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์ด้านไกลกลับโลก
TNN ช่อง16
4 พฤษภาคม 2567 ( 12:30 )
40

วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จในการส่งยาน "ฉางเอ๋อ 6" ขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวดลองมาร์ช 5 จากศูนย์อวกาศเหวินชาง บริเวณเกาะไห่หนานทางตอนใต้ของประเทศจีน ยานอวกาศลำนี้มีภารกิจสำคัญในการเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ด้านไกล พร้อมเก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์ส่งกลับมายังโลก 


เนื่องจากเป็นภารกิจการนำยานอวกาศลงจอดบริเวณดวงจันทร์ด้านไกล ซึ่งหันหลังให้กับโลกตลอดเวลาทำให้ต้องใช้ดาวเทียมเชื่อมต่อสัญญาณเชวี่ยเฉียว-2 โดยดาวเทียมดวงนี้ได้เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์รอยานฉางเอ๋อ 6 อยู่ก่อนหน้าแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา


ตามแผนการที่ถูกเปิดเผยหากยานฉางเอ๋อ 6 ลงจอดบนดวงจันทร์ด้านไกลได้สำเร็จ ยานจะนำหินดวงจันทร์น้ำหนัก 2 กิโลกรัมส่งกลับมายังโลก โดยมีทั้งรูปแบบการขูดหน้าดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ และการใช้อุปกรณ์เจาะลงไปใต้พื้นผิวดวงจันทร์ความลึกประมาณ 3 เมตร นอกจากยังทำให้จีนกลายเป็นชาติแรกของโลกที่นำหินดวงจันทร์ด้านไกลกลับมายังโลก


นอกจากการนำหินดวงจันทร์ส่งกลับมายังโลกยานฉางเอ๋อ 6 ยังติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์อื่น ๆ เช่น 

1. อุปกรณ์ DORN (Detection of Outgassing RadoN) ประเทศฝรั่งเศสเพื่อตรวจวัดการปล่อยแก๊สเรดอนออกมาจากเปลือกดวงจันทร์ และสัดส่วนของแก๊สชนิดนี้ในบรรยากาศชั้น exosphere ของดวงจันทร์

2. อุปกรณ์ NILS (Negative Ions at the Lunar Surface) ประเทศสวีเดนเพื่อตรวจวัดไอออนประจุลบที่ปล่อยออกมาจากพื้นผิวดวงจันทร์ และอันตรกิริยาระหว่างไอออนเหล่านี้กับลมสุริยะ 

3. อุปกรณ์ INRRI (INstrument for landing-Roving laser Retroreflector Investigations) ประเทศอิตาลี อุปกรณ์สะท้อนแสงเลเซอร์ย้อนกลับ เพื่อใช้วัดระยะห่างของยานด้วยแสงเลเซอร์

4. ดาวเทียมขนาดจิ๋ว ICUBE-Q ของปากีสถาน เพื่อตรวจหาร่องรอยของน้ำแข็งบนพื้นผิวดวงจันทร์


คาดว่าภารกิจยานฉางเอ๋อ 6 เป็นการทดสอบเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จีนเตรียมนำไปใช้งานในภารกิจสร้างสถานีสำรวจระยะยาว หรือสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (ILRS) บนพื้นผิวดวงจันทร์


ก่อนหน้านี้ในปี 2020 จีนประสบความสำเร็จในการทำภารกิจยานฉางเอ๋อ 5 ลงจอดบนดวงจันทร์ด้านใกล้และนำตัวอย่างหินดวงจันทร์กลับโลกได้สำเร็จ โดยใช้เวลาในการทำภารกิจทั้งหมด 22 วัน อย่างไรก็ตามบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินอวกาศจีน (CASC) รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ประเมินว่าภารกิจยานฉางเอ๋อ 6 มีความยากมากกว่า เพราะลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์ ทำให้ระยะเวลาภารกิจครั้งนี้อาจยืดออกไปเป็น 53 วัน หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ 


ที่มาของข้อมูล Space

ที่มาของรูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง