รีเซต

ขนส่งแบบใหม่สุดล้ำ ! เก็บสินค้าไว้บนอวกาศ พุ่งไปส่งใน 90 นาที !

ขนส่งแบบใหม่สุดล้ำ ! เก็บสินค้าไว้บนอวกาศ พุ่งไปส่งใน 90 นาที !
TNN ช่อง16
3 พฤษภาคม 2567 ( 11:52 )
33

เทคโนโลยีนี้อาจจะเป็นการขนส่งรูปแบบใหม่แห่งอนาคต ที่จะส่งสินค้าสำคัญ ๆ ไปยังเป้าหมายได้หลากหลายพื้นที่บนโลก ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 90 นาทีเท่านั้น เพราะระบบนี้จะเป็นการส่งสินค้ามาจากอวกาศ !



ระบบการขนส่งนี้เป็นการส่งสินค้าจากวงโคจร มีชื่อเรียกว่า เซียร์ร่า สเปซโกสต์ (Sierra Space Ghost) โดยเป็นแนวคิดจากบริษัทเทคโนโลยีด้านอวกาศสัญชาติสหรัฐฯ อย่าง เซียร์ร่า สเปซ (Sierra Sapce) โดยหลักการทำงานของระบบโกสต์จะเป็นการบรรทุกสิ่งของสำคัญ เช่น อุปกรณ์เอาตัวรอด เรือเป่าลม อาหาร หรืออาวุธ เก็บไว้บนภาชนะทรงกระบอกเรียกว่า ยูนิต (Unites) ซึ่งบริษัทยังไม่เปิดเผยขนาดและรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติม แต่ยูนิตที่ถูกบรรจุสิ่งของแล้ว จะถูกส่งขึ้นไปลอยอยู่บนวงโคจร ซึ่งบริษัทกล่าวว่าสามารถลอยอยู่บนวงโคจร เพื่อรอส่งสินค้าได้นานถึง 5 ปี 


เมื่อมีคำสั่งเพื่อให้มีการขนส่งสิ่งของลงมาบนโลก อันดับแรก มอเตอร์นอกวงโคจร จะชะลอความเร็วของยูนิตลง จนแรงโน้มถ่วงของโลกสามารถดึงยูนิตให้ตกลงมาบนโลกได้ ซึ่งตัวยูนิตก็จะมีแผงป้องกันความร้อน เพื่อไม่ให้ชั้นบรรยากาศเผาสินค้าจนมอดไหม้ เมื่อยูนิตเข้ามาภายในชั้นบรรยากาศโลก ปลอดภัยจากการเผาไหม้แล้ว แผงป้องกันความร้อนก็จะถูกสลัดทิ้ง และร่มก็จะกางออกเพื่อชะลอความเร็วในการตก ตัวยูนิตยังมีหางเสือ เพื่อควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่และกำหนดจุดลงจอด ซึ่งเซียร์ร่า สเปซ เผยว่าจุดลงจอดจะมีระยะห่างจากเป้าหมายไม่เกิน 100 เมตร



เซียร์ร่า สเปซกล่าวว่า ระบบการขนส่งโกสต์ จะทำให้ทหารในสนามรบ หรือในพื้นที่ห่างไกลได้รับเสบียงที่จำเป็นในช่วงเวลาที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งก็จะช่วยแก้ปัญหาการขนส่งในบริเวณที่การขนส่งภาคพื้นดินเข้าถึงได้ยาก และระบบนี้ยังไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ด้านการทหารเท่านั้น แต่ยังมีข้อได้เปรียบคือ ไม่ต้องอาศัยพื้นที่กว้างในการลงจอด จึงสามารถเข้าถึงบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด เช่น สามารถส่งของไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติในเบื้องต้นได้ 


เอริค เดห์เลอร์ (Erik Daehler) รองประธานฝ่ายบริการและภารกิจวงโคจร (Orbital Missions & Services) ของบริษัทเซียร์ร่า สเปซ เปิดเผยว่าระบบโกสต์ สามารถปรับขนาดเพื่อให้ตัวยูนิตมีน้ำหนักได้หลายขนาดตั้งแต่ 250 กิโลกรัม ถึง 750 กิโลกรัม และอาจสามารถขยายให้มีขนาดได้เท่าสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) 

 

ด้านต้นทุนของการผลิตแต่ละยูนิตนั้นไม่ได้เปิดเผยตัวเลขอย่างแน่ชัด แต่เดห์เลอร์บอกว่าแต่ละยูนิตมีต้นทุน “หลายสิบล้าน (tens of million)” ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้บริษัทกำลังพัฒนาวิธีการที่จะลดต้นทุนการผลิตของแต่ละยูนิตให้ไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (single-digit millions) หรือประมาณไม่เกิน 370 ล้านบาท


เซียร์ร่า สเปซเผยว่า ศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีแอคเซเลเตอร์ (Sierra Space Axelerator incubator) ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีแห่งใหม่ของบริษัท สามารถพัฒนาโมเดลต้นแบบของโกสต์ได้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 90 วันเท่านั้น และได้มีการนำยูนิต 7 ยูนิต ไปทดสอบด้วยการปล่อยจากเฮลิคอปเตอร์ที่ระดับความสูงสูงสุด 1,500 เมตร เพื่อศึกษาคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น แรงตกกระแทก ความเร็ว การทำงานของร่ม เป็นต้น



ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2024 ที่ผ่านมา เซียร์ร่า สเปซ ได้นำโมเดลต้นแบบของโกสต์ไปจัดแสดงที่งานประชุมสเปซ ซิมโพเซียม (Space Symposium) ประจำปีครั้งที่ 39 ที่เมืองโคโลราโดสปริงส์ รัฐโคโลราโด สหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตาม เซียร์ร่า สเปซ ยังไม่ประกาศวันที่คาดว่าระบบโกสต์จะสามารถนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไป แต่นับว่าเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก ๆ เลยทีเดียว





ที่มาข้อมูล Space, SierraSpace, AeroTime

ที่มารูปภาพ SierraSpace

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง